นายอำเภอเมืองปทุมธานี ไหว้ขอโทษลูกสาวและครอบครัว ที่ จนท.ห้องบัตรให้พาพ่อป่วยติดเตียงมาทำบัตรประชาชน จนต้องขอกู้ภัยหามขึ้นอำเภอ ทำเสร็จ กลับไปเสียชีวิตที่บ้านในวันถัดมา บอกขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย จนท.ที่บกพร่องก็ต้องมีการลงโทษ

วันที่ 29 มิ.ย.66 สืบเนื่องจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Prangtong Jaiboon โพสต์เรื่องพ่อป่วยติดเตียง แล้วบัตรประชาชนหมดอายุ แต่ทางอำเภอบอกว่าให้แบกคุณพ่อไป โดยระบุว่า บัตรประชานคุณพ่อหมดอายุ แต่คุณพ่อติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และอาการไม่ดีมาตลอด ถามแล้วถามอีกว่ามีวิธีอื่นไหมคะ ที่จะไม่ต้องแบก ผู้ป่วยมา มันทุลักทุเลมากนะคะ เพราะคุณพ่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ย้ำแล้วนะคะ ว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย มีเอกสารมอบอำนาจมาได้ไหมคะ ให้คุณพ่อปั๊มนิ้วมือมา หรือมี จนท.ทางอำเภอไปตรวจสอบที่บ้าน ทางอำเภอในจังหวัดปทุมธานี ยืนยันว่าต้องแบกผู้ป่วยมา จะติดเตียง อาการหนัก ใส่รถเข็น รถนอน เดินไม่ได้ ใส่สายมากมาย หรือเครื่องช่วยหายใจ ก็ต้องมาทำบัตรที่อำเภอ ต้องมาให้รถพยาบาลไปแบกมา บัตรคนพิการ ถ้าหมดอายุก็ต้องมาทำใหม่ แบกไปที่ ศาลากลางจังหวัดเหมือนกัน หลายๆ คนก็ต้องแบกไปทำ สรุปแบกคุณพ่อมาทำบัตร ปชช.ใหม่ วันที่ 7 มิ.ย. 2566 คุณพ่อเสียชีวิต วันที่ 8 มิ.ย. 2566 มาแค่ถ่ายรูป จบ ที่เหลือใช้ข้อมูลเดิมถามว่า ทำไมต้องทำ คุณพ่อยังต้องใช้เบิกจ่ายตรงและรับสิทธิ์จากทาง รพ.ที่คุณพ่อรับยาต่างๆ รักษาอยู่ (เบิกหลวงเพราะพี่ชายเป็นทหาร) อะไรคือ ระบบราชการไทย แล้วบัตร ปชช.ใหม่ของพ่อจะใช้ตอนไหนดี ในเมื่อวันนี้พ่อไม่อยู่แล้ว ถามว่าจะต้องแบกกันไปอีกกี่เคส และต้องเสียชีวิตอีกกี่คน น่าหดหู่ใจสิ้นดี”

ต่อมา นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเมืองปทุมธานี ได้ลงพื้นที่ไปที่บ้านของผู้ที่โพสต์ และได้พบกับ นางสาวปรางทอง ใจบุญ ลูกสาวของ นายสมหมาย ใจบุญ อายุ 66 ปี ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 หลังจากที่ลูกสาวต้องนำพ่อที่ป่วยติดเตียงไปทำบัตรประชาชนที่ที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี และกลับมาที่บ้านได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้เสียชีวิตลง ซึ่ง นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเมืองปทุมธานี ได้ยกมือไหว้ขอโทษทางลูกสาวและภรรยาผู้เสียชีวิต กับเรื่องที่เกิดขึ้น และจะนำไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานบกพร่องเรื่องนี้ก็ต้องมีมาตรการลงโทษ 

...

นายธรรมนูญ กล่าวว่า จะได้ทำหนังสือชี้แจ้งกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำบัตรประชาชนและไม่ได้มีการกล่าวอ้างเรื่องที่ดินแต่อย่างใด จะสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด วันหนึ่งมีประชาชนมาติดต่อกันเยอะมาก ตนมาอยู่ที่อำเภอเมืองปทุมธานีได้ 5 เดือนก็พยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ รวมทั้งสถานที่ด้วย ส่วนเรื่องบัตรคิวให้รับถึงเวลา 17.00 น. และให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเป็นความเสียหายระดับประเทศ 

“ในการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านแต่ละเดือน เราได้กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตลอด เรื่องผู้ป่วยติดเตียงเวลาทำบัตรประชาชน ทางอำเภอก็ต้องเข้าไปทำให้เขา อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน”

ด้าน นางสาวปรางทอง ใจบุญ บุตรสาวผู้เสียชีวิต ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ตนพาแม่ไปทำบัตรประชาชนที่อำเภอเมืองปทุมธานี และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าพ่อตนเองป่วยติดเตียงจะทำบัตรประชาชนต้องทำอย่างไรบ้าง ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าต้องแบกมา ซึ่งตนย้ำไปว่าพ่อป่วยติดเตียงนะ เขาก็บอกว่ายังไงก็ต้องเอาพ่อมาที่อำเภอทุกเคส ทุกกรณี  ไม่ว่าจะป่วย หรือนั่งรถเข็นก็ต้องมา ตนจึงติดต่อรถกู้ภัยพาพ่อไปทำบัตรประชาชน ซึ่งไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นก็พาพ่อกลับมาที่บ้าน พอเวลาเช้ามืดอีกวันพ่อก็เสียชีวิต ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เพราะพ่อต้องใช้บัตรประชาชนในการเสียบบัตรเพื่อเบิกค่ารักษา และอยากให้เคสพ่อเป็นเคสสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นอีก.