สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี แนะเกษตรกรศึกษาสภาพดินก่อนเพาะปลูก พร้อมใช้สารอินทรีย์แทนสารเคมีช่วยลดต้นทุน ชูทุเรียนปราจีนฯ ตัวอย่างความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 65 นายวิชัย ทองขาว ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้มีการจำแนกดินในประเทศไทยไว้ทั้งหมด จำนวน 62 กลุ่มชุดดิน และมีชุดดินกว่า 300 ชุดดิน ซึ่งแต่ละชุดดิน เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน ทำให้มีลักษณะ และสมบัติของดินที่แตกต่างกันด้วย ทั้งสภาพพื้นที่ที่พบ ลักษณะโครงสร้างของดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดังนั้นเกษตรกรควรรู้จักชุดดินของตนเองก่อน เพื่อจะได้เข้าใจ และจัดการชุดดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น ดินในแปลงทุเรียนของหมอดิน พิกุล สมเชื้อ บ้านสวนพิกุล ทุเรียนปราจีนบุรี ต.ไม้เค็ด อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจากการค้นหาข้อมูลโดยใช้ Application Agri-map online พบว่า อยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 40 ชุดดินปักธงชัย มีลักษณะเป็นดินร่วนและเป็นดินลึก เหมาะสมกับการปลูกไม้ผลต่างๆ ได้ดี ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี ได้มีการเข้าไปแนะนำให้พี่น้องเกษตรกร ใช้สารอินทรีย์เพื่อทดแทนสารเคมีทางแปลงเกษตร มาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปูนโดโลไมท์ปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือการใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ซึ่งเป็นเรื่องของการลดต้นทุนทั้งสิ้น ยิ่งเฉพาะช่วงนี้ที่ปุ๋ยเคมีมีการปรับราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว หากเกษตรกรนำตรงนี้ไปใช้ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างแน่นอน
...
"สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาพัฒนาและส่งเสริมให้ นางสาวพิกุลทอง สมเชื้อ ได้รับองค์ความรู้จากการเป็นหมอดินอาสา และนำแนวทางการไปปฏิบัติใช้ ร่วมถึงถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ นำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง อันนำไปสู่ความสำเร็จ ส่งผลให้แปลงทุเรียนมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไป เป็นการยกระดับ สร้างงาน สร้างอาชีพ อย่างมั่นคง" นายวิชัย กล่าว
นางสาวพิกุล สมเชื้อ เล่าว่า เริ่มปลูกทุเรียนมานานกว่า 8 ปี เทคนิคอันดับแรก คือ การดูแลเรื่องดิน ถ้าดินไม่ดี ต้นทุเรียนจะไม่สามารถเจริญเติบโตงอกงามให้ผลผลิตที่ดีได้ ซึ่งวิธีการบำรุงส่วนต่างๆ ของสวนทุเรียน คือ การหลีกเลี่ยงใช้สารเคมี เน้นการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยมูลสัตว์ในท้องถิ่นโดยใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น น้ำหมักปลาน้ำจืด, น้ำหมักผักผลไม้, สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1, พด.2, พด.3, พด.7, และโดโลไมท์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรีเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ สนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกร ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงสภาพดิน ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้น และสิ่งสำคัญ คือ ความปลอดภัยของตัวเกษตรกร ความพึงพอใจ และความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้ “แปลงทุเรียน บ้านสวนพิกุล” ได้ผลผลิตชั้นเยี่ยม รสชาติดี ตลอดฤดูกาล.