ชาวบ้าน ต.น้ำพุ ราชบุรี ยกหมู่บ้าน แจ้งความเอาผิดโรงงานกากอุตสาหกรรม หลังได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้อาคารเก็บสารเคมี หวั่นไม่ได้รับการดูแล ขณะที่ จนท.ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมชี้แจง ระบุระดับมลพิษรอบโรงงานไม่เกินมาตรฐาน

วันที่ 21 มิ.ย. ชาวบ้านจากหมู่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวนเกือบ 100 คน ทยอยเดินทางมาที่สภ.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.พสิษฐ์ สายชนม์ศักดิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.จอมบึง ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานกากอุตสาหกรรม ในข้อหาความผิดที่ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารเก็บสารเคมี ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สุขภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมได้ ซึ่งคาดว่าจะมีชาวบ้านมาแจ้งความเพิ่มขึ้นอีก

นายณริศ ศรศรีวิวัฒน์ ทนายความ เปิดเผยว่าวันนี้ ชาวบ้านมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับโรงงานกากอุตสาหกรรม หลังจากได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ สาเหตุมาจากเขม่าควันไฟที่ลอยมาจากเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งหลังจากนี้ ชาวบ้านจะดำเนินการเข้าแจ้งความเพิ่มอีก

ต่อมา เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดราชบุรี นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อม นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 นายอนุตร ปางพุฒิพงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี, นายอภิรักษ์ อ่ำสุริยะ รักษาการอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงกรณีเหตุเกิดเพลิงไหม้ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ตั้งอยู่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโรงงานประเภทรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา

...

โดยวันเกิดเหตุ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีเหตุเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ พร้อมร่วมสั่งการหน่วยงานในพื้นที่ปฏิบัติการดับเพลิง สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 03.10 น. วันที่ 17 มิ.ย. แต่เกิดประทุอีกครั้งเมื่อ 09.30 น. และสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในเวลาไม่นาน โดยที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โกดังเก็บกักกากอุตสาหกรรม ประเภทกากน้ำมัน และกากสี ประมาณ 6,000 ถัง ถังละ 200 ลิตร ถูกไฟไหม้ไปประมาณ 1,000 ถัง ทั้งนี้ เมื่อตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจสอบแล้วเสร็จ จะดำเนินการนำกากของเสียทั้งหมด 34,000 ถัง ที่เหลืออยู่ภายในโรงงานไปกำจัด ยังสถานที่ใหม่ที่ได้มาตรฐานภายใน 15 วัน และให้ประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมสังเกตการณ์การขนย้ายด้วย

ส่วนคุณภาพของอากาศ ได้มีการตรวจวัดตั้งแต่หลังจากเกิดเพลิงไหม้ จนถึงวันนี้ (21 มิ.ย. 65) ทั้งบริเวณรอบโรงงานและหมู่บ้านโดยรอบ พบว่าทุกค่าไม่เกินมาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ด้านการดูแลรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานฯ ในครั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมกับโรงพยาบาลราชบุรี จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาผู้ที่ปฏิบัติงานดับเพลิงและประชาชน พร้อมลงไปคัดกรองสุขภาพประชาชน เพื่อเข้ารับการรักษา

ในเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ มีความกังวลเรื่องสารเคมีที่ถูกไฟไหม้ และสารเคมีที่ใช้ในการดับเพลิง ว่าจะตกค้างในแหล่งน้ำหรือในชั้นดิน เกรงว่าในระยะยาวอาจจะได้รับผลกระทบ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมเร่งเยียวยาประชาชนในพื้นที่ด้วย และตัวแทนประชาชนได้อ้างว่า ที่ผ่านมาแม้โรงงานแห่งนี้ อยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงโรงงานตามคำสั่งศาล แต่พบว่ามีคนงานเดินเข้าออกเหมือนกับว่ายังมีการดำเนินกิจการอยู่ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแบบซ้ำซากแบบเดิมอีก