เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ ให้กำลังใจ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังในอดีต หลังอาการป่วยทรุดหนัก ต้องให้ยากระตุ้นหัวใจอย่างแรง หมอแนะนำ ไม่ควรปั๊มหัวใจ เพราะกระดูกเปราะหมดแล้ว เผยป่วยมานาน ญาติทำใจ

เวลา 11.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม นายเอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ หรือไทด์ นักแสดงชื่อดัง ได้เดินทางมาที่ตึกอายุรกรรมชาย ชั้น 3 โรงพยาบาลสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อมาเยี่ยมและให้กำลังใจ นายเฉลียว ไกอ่ำ อายุ 68 ปี หรือ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ นักร้องลูกทุ่งเจ้าของบทเพลงแห่ขันหมาก หิ้วกระเป๋า หลังทราบข่าวว่ามีอาการป่วย

ไทด์ เอกพันธ์ ได้เข้าเยี่ยมอาการของ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ แล้วเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเช้าคุณแอน ผู้จัดการส่วนตัวซึ่งดูแลคุณอาแสงสุรีย์มาประมาณ 13 ปี ได้ส่งสัญญาณมาบอกว่า หมอโทรไปแจ้งว่าคุณอาแย่ หายใจเองไม่ได้ และบอกให้รีบมาเพราะไม่เกิน 11.00 น. คนไข้ไม่น่ามีชีพจรแล้ว ซึ่งตนตกใจจึงรีบมาดูอาการ และจากการเข้าเยี่ยมพบว่าคุณหมอให้ยาแรงกระตุ้นหัวใจ คุณอา(แสงสุรีย์) ก็เริ่มรู้สึกตัว ถามจำได้ไหมก็พยักหน้า และจากการพูดคุยกับคุณหมอ บอกว่าถ้าเกิดคุณอาไม่ไหวแล้วจริงๆ ยาที่กระตุ้นไปนี่มันพีกจนสุดแล้ว คุณอาเขาจะไป ทางญาติจะยอมไหมที่เขาจะต้องปั๊มหัวใจ หรือไม่ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจให้เขาขึ้นมา ซึ่งตนดูแล้วมันไม่มีประโยชน์ เพราะหมอบอกว่ากระดูกพรุน กระดูกเปราะแล้ว ถ้าเกิดมีการปั๊มหัวใจ อายุมากกระดูกอาจจะหักได้ และอีกอย่างการกระตุ้นหัวใจขึ้นมา หัวใจก็แค่เต้น แต่ความรู้สึกไม่มี ไม่มีความรู้สึกแล้ว จึงบอกคุณหมอว่าอย่าทำเลย อย่างนั้นปล่อยให้คุณอาไปดีกว่า อย่าทรมาน ซึ่งคุณอาจะไปตอนไหนให้ไปไม่ต้องปั๊มขึ้นมา และได้คุยกับคุณแอน ผู้จัดการส่วนตัว ที่จะขอย้ายคุณอาไปโรงพยาบาลภูมิพล อาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือและไม่แออัด คุณหมอก็ให้คำแนะนำว่า ถ้าย้ายไปเขาก็ไม่รับรองเรื่องความปลอดภัย ซึ่งลองดูอาการที่นี่ก่อน ลองให้ยากระตุ้นไปเรื่อยๆ และถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็สามารถย้ายไปได้ แต่ขอให้ทางโรงพยาบาลรับรองว่ามีห้องรองรับให้พร้อมก่อนก็สามารถย้ายไปได้เลย

...

“อาการของคุณอาแสงสุรีย์ เบื้องต้นน้ำตาลต่ำมาก และความดันตก รวมทั้งเกล็ดเลือดต่ำ ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง หายใจด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหัวใจ ซึ่งเป็นแบบนี้มานานแล้ว โดยจะช่วยดูแลและให้กำลังใจคุณอาอย่างถึงที่สุด” ไทด์ เอกพันธ์ กล่าว

สำหรับประวัติ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ เกิดวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2496 ที่บ้านเลขที่ 156 หมู่ 13 ตำบลกำปัง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา จากฐานะที่ยากจน และพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาจบการศึกษาแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านจาน ต.คำบัว อ.โนนไทย แสงสุรีย์ เป็นคนที่ชอบการร้องเพลงลูกทุ่งอย่างมาก และก็ได้เข้าสู่เวทีการประกวดในเขตจังหวัดบ้านเกิดมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ป.2 และประกวดเรื่อยมา ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้างเป็นธรรมดา

หลังจบการศึกษา เมื่อประมาณอายุ 15 ปี แสงสุรีย์ หิ้วกระเป๋าเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ และน้าสาวได้ฝากฝังให้เขาได้เข้าทำงานที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ แถวสุขุมวิท ในตำแหน่งล้างจาน 3 ปี หลังจากนั้นก็ขยับขึ้นมาทำในตำแหน่งพ่อครัวอาหารฝรั่ง และเขาทำหน้าที่นี้อยู่นานถึง 10 ปี

ระหว่างนั้นเขาก็ตระเวนประกวดร้องเพลงตามเวทีเล็กๆ ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้าง มาวันหนึ่ง แสงสุรีย์ ได้เข้าประกวดการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ขยะสังคม" ที่มี สรพงษ์ ชาตรี แสดงนำ และมี สายัณห์ สัญญา เป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งคราวนี้ แสงสุรีย์ ได้รับชัยชนะ และเพื่อนที่มาร่วมประกวดด้วยกันได้พาเขาไปพบ ครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ ครูเพลงตาพิการ เพื่อให้ปั้นแสงสุรีย์เป็นนักร้อง

เมื่อพบกัน ครูสัมฤทธิ์ บอกว่า ถ้าอยากจะเป็นนักร้อง ก็จะขายเพลงให้เพลงละ 600 บาท ซึ่งแสงสุรีย์ก็ตกลงซื้อทันที 2 เพลง จากนั้นครูสัมฤทธิ์ก็กลับไปแต่งเพลงมาให้เขา 2 เพลง ก่อนจะพาลูกศิษย์คนใหม่ไปเข้าห้องอัดเสียง โดยไปขอแทรกคิวเวลาห้องอัด 2 ชั่วโมง เพื่อผลิตผลงานที่จะพลิกชีวิตของกุ๊กที่รักการร้องเพลงลูกทุ่ง

2 เพลงที่ว่านั้นก็คือ แห่ขันหมาก และ น่าอร่อย โดยใจความตอนหนึ่งของเพลง แห่ขันหมาก มีอยู่ว่า "ส่วน แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ไม่มีรถขี่" ก็เท่ากับว่า ครูสัมฤทธิ์ ตั้งชื่อให้กับลูกศิษย์คนใหม่ไปพร้อมกับเพลงๆ นี้เลยทีเดียว

หลัง 2 เพลงของแสงสุรีย์ถูกนำออกเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ก็ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของเหล่าบรรดาแฟนเพลง จึงมีนายทุนเสนอทำวงดนตรีแสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ให้เพื่อทำการเดินสาย ครูสัมฤทธิ์จึงแต่งเพลงให้แสงสุรีย์อีก 4 เพลง สำหรับใช้ในการแสดงที่หน้าเวที และแสงสุรีย์ก็ออกเดินสายในฐานะหัวหน้าวง โดยที่เขามีเพลงอยู่แค่ 6 เพลงเท่านั้น ซึ่งเพลงที่ตามมาทีหลังอีก 4 เพลง ต่างก็ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลงอย่างมากเช่นกัน จากนั้นจึงค่อยๆ ทยอยผลิตผลงานเพลงตามมาสมทบอีกมาก แต่โดยหลักแล้วผลงานเพลงของแสงสุรีย์ยังคงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยครูสัมฤทธิ์

ในการแสดงครั้งหนึ่ง วงแสงสุรีย์สามารถเก็บค่าผ่านประตูได้เป็นหลักล้านบาท แม้จะเก็บแค่คนละ 20 บาท ขณะที่ผู้ชมก็มารอกันตั้งแต่บ่าย 3 โมง ขณะที่วงดนตรีเปิดการแสดงในช่วงเย็น วงแสงสุรีย์ออกเดินสายระหว่างปี 2521-2524 ก่อนจะปิดวงไป เมื่อความนิยมเริ่มลดน้อยถอยลง (อ้างอิง วิกิพีเดีย).