“คณะกรรมการมรดกโลก” จะมีการจัดประชุมครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 พุ่งเป้าไปในวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 จะมีการพิจารณาข้อเสนอของ “รัฐบาลไทย” ขอขึ้นทะเบียน... “ผืนป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
โดยเมื่อ ค.ศ.2020 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้นำเสนอข้อกังวลต่อคณะกรรมการมรดกโลก ใน 3 ประเด็นดังนี้ 1.เกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การบังคับสูญหาย (enforced disappearance)
สังคมไทยได้รับรู้และติดตามกรณี นายบิลลี่ (พอละจี) รักจงเจริญ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิชุมชนบ้านบางกลอยโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วยการบังคับอพยพใน พ.ศ.2539-2554 มีการเผาบ้าน ยุ้งข้าว ยึดทรัพย์สิน ซึ่ง นายโคอี้ มีมิ วัย 107 ปี ปู่ของนายบิลลี่ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง...บิลลี่ได้หายสาบสูญไปในพื้นที่อุทยานฯ เมื่อต้นปี 2557
ซึ่ง...ยังไม่มีความคืบหน้าในกระบวนการยุติธรรมต่อคดีนี้ คดีนี้จึงก่อให้เกิดรอยร้าวความขัดแย้งระหว่างชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นับแต่นั้นเป็นต้นมา
...
2.เกี่ยวกับความเป็นอยู่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งถูกกำจัดที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมทำการเกษตรแบบดั้งเดิม...ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางอาหาร
3.ด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน IUCN ได้ย้ำว่าคณะกรรมการมรดกโลกได้ขอร้องให้รัฐภาคีคือรัฐบาลไทยตอบข้อกังวลเกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเต็มที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายของ UNESCO ในการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองตามแนวทางของ UNDRIP...
นั่นก็คือ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ค.ศ.2007 ซึ่งระบุว่ารัฐต้องให้การยอมรับและคุ้มครองทางกฎหมายต่อที่ดินเขตแดน และทรัพยากรซึ่งชุมชนเคยอยู่อาศัยมาก่อนและให้ความเคารพต่อประเพณีวัฒนธรรมและระบบการถือครองที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง
IUCN จึงแนะนำให้รัฐบาลไทยเลื่อนเวลานำเสนอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เพื่อทำภารกิจการประเมินใหม่ ให้สามารถปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่น...หารือกับผู้รายงานพิเศษสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) เพื่อแก้ไขข้อกังวลที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมา
เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” นักพัฒนาซึ่งทำงานด้านชาติพันธุ์และร่วมต่อสู้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ย้ำว่า เงื่อนปมปัญหาข้างต้นนี้ตรงกับข้อเสนอของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต่อนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
เสนอให้รัฐบาล...ชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะได้รับการแก้ไข
ที่ผ่านมา กสม.ได้ตรวจสอบการร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ระบุว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 ถึงกรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ดำเนินการผลักดัน รื้อถอนและเผาทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม
คนเหล่านี้อาศัยอยู่ซึ่งในพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ห่างไกลบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เรียบง่าย รักษาป่าบริเวณนั้นจนมีสภาพความอุดมสมบูรณ์
...
ซึ่ง...ต่อมาได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524
แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯกลับดำเนินการขับไล่และจับกุมชาวบ้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2539-2554 เหตุการณ์ที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือข่าวใหญ่ที่เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ลำ
บันทึกไว้ว่าหัวหน้าอุทยานฯในขณะนั้น อ้างเหตุผลในการผลักดันและเผาทำลายบ้านเรือนยุ้งฉางชาวกะเหรี่ยงว่า “เพื่อป้องกันชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาบุกรุกทำลายป่า”
ทั้งที่ปรากฏหลักฐานที่ยืนยันว่า “ชาวกะเหรี่ยง” เหล่านี้ซึ่งมี “ปู่โคอี้” เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นราษฎรไทย คือการได้รับเหรียญชาวเขาจากหน่วยราชการเมื่อ พ.ศ.2512 ถึง 2513 และหัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินเท้าไปสำรวจเมื่อ พ.ศ.2526 ถึง 2528
กระทั่งต่อมา...มีการสำรวจทะเบียนราษฎรชาวเขา (ท.ร.ช.ข.) เมื่อ พ.ศ.2531
...
เมื่อ พ.ศ.2535 นายหน่อสะลูกชายปู่โคอี้ได้เข้าให้ความช่วยเหลือ ตชด. 4 นายที่เข้าไปปฏิบัติการชายแดนไทยพม่า แต่ถูกโจมตีจนพลัดหลงในป่า ทำให้ ตชด. 4 ราย ออกจากป่าอย่างปลอดภัย กสม.พิจารณาจากรายงานเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงมีสิทธิ์อนุรักษ์ มีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
ในที่ดินพิพาทตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ เนื่องจากได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ.2524
เห็นสมควรกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ หนึ่ง...ให้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นการเข้าผลักดันหรือถอนและเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านให้แล้วเสร็จ
ให้ยุติการดำเนินการจับกุมข่มขู่คุกคาม ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและผ่อนผันให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้กลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมได้ทันที จนกว่าการแก้ไขปัญหา และให้สำรวจการถือครองที่ดินของชาวกะเหรี่ยง ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541
สอง...ให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สาม...ให้กรมการปกครอง โดยนายอำเภอแก่งกระจาน จัดทำโครงการเลื่อนที่เร่งรัดสำรวจและให้สัญชาติไทยแก่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ แต่หน่วยงานยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
...
26 ก.ค.2564 นี้ ไม่ว่าผลการพิจารณาคณะกรรมการมรดกโลกจะเห็นชอบการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานหรือไม่ รัฐบาลไทยก็ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอยด้วยมิติทางภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม ความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ธรรมชาติ การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน มิใช่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ล่าสุด “ชาวบ้านบางกลอย” ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ระบุว่า ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ขอให้คณะกรรมการแจ้งให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาสามข้อนี้ให้สำเร็จ...ข้อแรกขอให้ชาวบ้านได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดังเดิมที่เรียกว่าบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ถัดมา...ขอให้ยกเลิกการฟ้องคดีชาวบ้าน 28 รายในข้อหาบุกรุกทำลายป่า
และ...ให้จัดการพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ประสงค์จะอยู่ที่บางกลอยล่าง
“กลุ่มป่าแก่งกระจาน” จะได้ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” หรือไม่นั้น เป็นเรื่องไม่สำคัญเท่ากับการตอบคำถามให้ได้ว่า “รัฐบาลไทย” ได้ดูแลพี่น้อง “กลุ่มชาติพันธุ์” ที่ร่วมก่อร่างสร้างบ้านแปงเมืองนี้อย่างไร
“การที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเกิดและตั้งรกรากอยู่ในป่ามาตั้งแต่ครั้งบรรพชน และรักษาวิถีวัฒนธรรมมายาวนานจนสามารถดูแลผืนป่ามาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทยและรัฐบาลควรช่วยกันสนับสนุนมิใช่หรือ” ครูแดงกล่าวทิ้งท้าย.