กรณีศึกษาจาก เหตุเพลิงไหม้ โรงงานสารเคมี หรือโรงงานโฟม หมิงตี้ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กรมผังเมือง และ กรมอุตสาหกรรม จะต้องเร่งสำรวจและแก้ไขไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกและกลายเป็นปัญหาทับซ้อนทางสังคม จะทำอย่างไร ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนกับ พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม แยกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนทั้ง เรื่องที่โรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาก่อนชุมชนและชุมชนมีอยู่ก่อนโรงงานอุตสาหกรรม จะมาอ้างกฎหมายเป็นไม้บรรทัดโดยไม่คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์คงไม่ถูกต้องนัก
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่พยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ปตท. โดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในเครือทั้งหมด เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องของ ความมั่นคง ความปลอดภัย อนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยที่มีบริษัทในเครือที่มีความเชี่ยวชาญด้านสารเคมี ด้านวิศวกรรม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก โดยเฉพาะด้าน Oil & Gas สามารถเข้าไปช่วยเหลือและระงับเหตุได้ตรงจุดที่สุด
เนื่องจากด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทั้งในส่วนของ ปตท.และชุมชนใกล้เคียงเอง ไม่ว่าจะเป็นที่มาบตาพุดหรือที่ชลบุรี จะเน้นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่ รวมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่จะช่วยเข้าไประงับเหตุเป็นปกติอยู่แล้วจึงมีประสบการณ์ตรงนี้
ความพร้อมทั้งด้านสายงานระบบท่อส่งก๊าซ ที่ ปตท.โออาร์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนโฟมดับเพลิงรวมถึงรถดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ไออาร์พีซี มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดับเพลิง กู้ภัย และระงับเหตุฉุกเฉิน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หัวฉีดดับเพลิงแบบ Fix Monitor หุ่นยนต์ดับเพลิงและโฟมดับเพลิง
...
โรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท.พร้อมให้การช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง จ.ระยอง
มีทีมงานเฉพาะกิจพิเศษ กลุ่ม ปตท.41 คน ที่นำโดย ณัฐธัญ ละอองทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารภาวะเหตุฉุกเฉิน ลุยดับเพลิงกัน 20 ชั่วโมง สามารถที่จะเข้าควบคุมเพลิงได้อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือการบริหารจัดการหลังเพลิงสงบ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือสารเคมีที่ตกค้างอันจะทำให้เกิดมลภาวะกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่อยู่นอกบ่อและสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในบ่อ จะต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ผ้าห่ม กล่องพลังใจ ไปจนถึงหน้ากากป้องกันสารพิษ ที่การระงับเหตุเพลิงไหม้โดยทั่วไปแล้ว จะไม่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและคำนึงถึงผลกระทบด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดกับชุมชน
น่าจะเป็นโมเดลของความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th