แม่ค้าขายขนมอาลัวพิมพ์พระเครื่องออนไลน์ จนโดนสำนักพุทธฯ ตำหนิว่าไม่เหมาะ ส่วนพระมหาไพรวัลย์มองว่าไม่ใช่การลบหลู่ พร้อมถามกลับสำนักพุทธฯ ทีเรื่องอื่นทำไมไม่กล้าแตะต้อง
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ห้องแถวไม้ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เลขที่ 45 หมู่ 1 เทศบาลตำบลบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นที่ตั้งของร้านทำขนมอาลัวชื่อร้าน “มาดามชุบ” มีนาง คณิศร อมรภากรณ์ คุณแม่ตั้งท้อง ได้ 7 เดือน เป็นเจ้าของไอเดียเลิศ ทำขนมอาลัว พิมพ์พระเครื่อง พิมพ์ต่างๆ เช่นพิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์พระนางพญา พิมพ์พระขุนแผน มีสีสันสวยงาม กลิ่นหอมอบด้วยควันเทียน
นางคณิศรเล่าว่า ตนเป็นครูสอนทำขนม ตอนแรกทำขนมลูกชุบมาก่อน ทำมาแล้วประมาณ 4 ปี รับสอนทำขนมทางออนไลน์ด้วย ต่อมาหันมาทำขนมอาลัวมี 12 รส มี รสทุเรียน กาแฟ โอวัลติน รสดั้งเดิม ฤดูไหนที่มีผลไม้ออกมาก็จะทำเป็นขนมอาลัว
ส่วนความคิดที่ทำขนมอาลัวพิมพ์พระเครื่องชนิดต่างๆ นั้น เห็นคนอื่นเขาทำมานานแล้วมีพิมพ์ขายเป็นเลสซิ่ง จึงคิดทำขนมอาลัวขึ้นอีกทั้งสอนผู้ที่มาเรียนทำขนมอาลัว พิมพ์แกะง่าย ไม่มีขายตามท้องตลาด ทีแรกทำกันเล่นๆ ในหมู่ผู้รักหมา และแมว จนเพื่อนเอามาโพสต์ ก็มีคนสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นขนมที่เก็บไว้ได้นาน มีคนชมมากกว่าคนด่า ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น
ขณะที่นั่งคุยกันมีชาวบ้านเช่ารถจยย.รับจ้างมาจาก อ.เมืองสมุทรสงคราม ลูกสาวโทรมาให้หาซื้อขนมอาลัวพิมพ์พระเครื่อง แต่ต้องผิดหวังกลับไปเพราะทำตามสั่งออเดอร์เท่านั้น
...
ทั้งนี้ หลังจากภาพขนมอาลัวพิมพ์พระเครื่องถูกนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก กระทั่งเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2564 นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาระบุว่า การทำอาลัวพระเครื่องเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยเตรียมทำหนังสือชี้แจงร้านขนมดังกล่าวว่า ทำไม่ได้และไม่สมควรทำ เพราะรูปพระเครื่องถือเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการบูชา
ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์พระมหาไพรวัลย์ ขณะไปงานศพของครอบครัวหนึ่งที่จังหวัดเพชรบุรีกับหมอปลา โดยพระมหาไพรวัลย์ตอบว่า “ในมุมมองส่วนตัวไม่มองเป็นเรื่องการลบหลู่อยู่แล้ว เพราะอาตมาเชื่อในเจตนาของคนที่ทำ เขาไม่ได้จงเกลียดจงชังอะไรกับศาสนาพุทธหรอก เพียงแต่ว่า เขามองว่า การเอาแบบพิมพ์ของพระเครื่อง มาทำเป็นรูปแบบขนมมันเป็นการครีเอต มันเป็นไอเดียของเขาที่เขาคิดว่าเขาจะทำแล้วมันสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายของเขาได้ในช่วงที่มันเป็นโควิดอะไรอย่างนี้”
“คือจริงๆ เราต้องยอมรับหรือเปล่าว่า พระเครื่องเหล่านี้มันก็ไม่ได้มีอยู่ในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่คนในยุคหลังก็มาทำกันขึ้นมาเอง แล้วก็เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นพระพิมพ์นั้นพิมพ์นี้ ไปเป็นนางพญาบ้าง ไปเป็นขุนแผนบ้าง แล้วคนไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหายเลย อาตมาไม่เห็นใครเดือดร้อนเลย เอาพระพุทธเจ้าไปทำเป็นพวกพุทธคุณ เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ แล้วเรื่องอย่างนี้เหมาะสมหรือเปล่า อาตมาอยากถาม ไม่มีใครเดือดร้อน แต่พอมีคนเอามาทำเป็นขนม คนเดือดร้อน บอกว่าไม่เหมาะสม อาตมาว่าไม่ถูก คือถ้าคุณจะเดือดรอ้น ไม่มีปัญหาเลย คุณจะมองว่าไม่เหมาะสมไม่มีปัญหา แต่ช่วยตั้งคำถามอะไรที่มันใหญ่กว่านี้ได้ไหม ใหญ่กว่าแค่เรื่องที่ว่าคนเอามาทำเป็นขนมเนี่ย คนเอาพระพุทธเจ้าไปทำเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์ ในฐานะที่คุณเป็นคนพุทธ คุณเคยออกมาปกป้องหรือเปล่า”
“อย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินี่ ออกมาดิ้นเรื่องนี้ กระทรวงวัฒนธรรมออกมา โวยออกมาว่ากันใหญ่เลย แต่ก่อนหน้านี้ คนพุทธไปไหว้เด็กผีในวัด ไปจุดประทัดกัน บนบานกัน ไม่เห็นคุณออกมากล้าพูดเลย บางวัดเห็นมีพระพิฆเนศใหญ่โตกว่าหลังคาโบสถ์อีก อันนี้เป็นเรื่องเหมาะสมหรือเปล่า คุณกล้าหรือเปล่า คุณก็ไม่กล้าพูด พอแม่ค้าคนหนึ่งจะทำขนมขึ้นมาคุณกลับเดือดร้อน นี่อาตมาอยากจะถาม”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า อันที่จริงคนทำเขามองเป็นเรื่องมงคลด้วยซ้ำไป พระมหาไพรวัลย์ตอบว่า “มันก็กินได้ สมัยก่อนคนยังอมพระเลย เวลาเอาลูกไปเกณฑ์ทหารยังอมพระกันได้เลย อมพระร่งพระรอดอะไรกัน เพื่อจะได้ไม่ติดทหาร หรือว่าบางคนหนักกว่านั้นอีก เอาพระไปแช่ในขันน้ำมนต์ แล้วไปทำพิธีกันเพื่อไปเสกน้ำมนต์ ให้มันขลัง ให้มันศักดิ์สิทธิ์แล้วเอามากิน เอามาดื่มกัน เพื่อจะรักษาโรค ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนเลย อาตมามองว่า มันเป็นสิ่งที่หนักหนากว่านี้มาก”
“การลบหลู่ศาสนาคือการลบหลู่คำสอนของพระพุทธเจ้า คุณไปดัดแปลงคำสอนของท่าน ทำพุทธศาสตร์ให้เป็นไสยศาสตร์ อันนั้นแหละคือการลบหลู่ปรามาส แต่คนพุทธไม่เดือดร้อน เพราะคนพุทธชอบ เอาพระพุทธเจ้าไปทำเรื่องไสยศาสตร์ มันกราบไหว้บูชากันใหญ่เลย มันชอบ แต่พอทำมาเป็นไอเดียขนม โอ๊ย ออกมาดิ้นกันใหญ่เลย โอ๊ย รับไม่ได้ ปรามาสศาสนา นี่อาตมาอยากรู้ว่าทำไมมันกินพระเครื่องขนมเข้าไปแล้วมันจะไอ้นี่หรือยังไง ศาสนามันจะหายไปพร้อมกับพระเครื่องเหล่านั้นหรืออย่างไร”
...