กองปราบฯร่วม อย.และ สมอ. ทลายโกดังผลิตถุงมือยางทาง การแพทย์เถื่อน ย่านปทุมธานี มูลค่า 300 ล้าน รวบแรงงานเถื่อน 12 คน ขณะตั้งหน้าตั้งตาบรรจุถุงมือไม่ได้มาตรฐานลงกล่องสวมยี่ห้อต่างๆ เตรียมส่งขายต่างประเทศ ผบก.ป.ระบุ หากพบไม่ได้คุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม เลขา อย.เผย เป็นรายเดิมที่เคยจับกุมไปก่อนหน้า ชี้การส่งถุงมือยางเถื่อนขายต่างประเทศ เป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงประเทศไทย เตรียมขยายผลจับกุมนายทุนเบื้องหลัง
ทลายโกดังแหล่งบรรจุถุงมือยางทางการแพทย์ เถื่อนส่งขายต่างประเทศ เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.2 บก.ป. พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุรเชษฐ์ เดชะพันธ์ รอง ผกก.3 บก.ป. พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และนายธัชชัย หนูสวัสดิ์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแถลงผลการทลายแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือยางทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานส่งต่อขายต่างประเทศ ในโกดังย่าน จ.ปทุมธานี
พล.ต.ต.สุวัฒน์เปิดเผยว่า รับแจ้งว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานที่โรงงานผลิตถุงมือแห่งหนึ่ง ย่านจังหวัดปทุมธานี ได้นำกำลังตำรวจ กก.2 และ 3 บก.ป. ประสาน อย. และ สมอ.เข้าตรวจค้นโรงงาน เลขที่ 92/13 หมู่ที่ 5 ถนนลำลูกกา ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 25 ธ.ค. ลักษณะเป็นโรงงานเถื่อน มีแรงงานต่างด้าว 12 คน แบ่งเป็นชาวจีน 1 คน และชาวกัมพูชา 11 คน กำลังช่วยกันบรรจุถุงมือไม่ได้มาตรฐานลงกล่องยี่ห้อต่างๆเพื่อรอส่งไปขายต่างประเทศกว่า 9,200 กล่อง พร้อมถุงมือที่รอบรรจุและกล่องเปล่าอีกเป็นจำนวนมาก ยึดของกลางไว้ทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท พร้อมเก็บตัวอย่างถุงมือส่งตรวจ
...
ผบก.ป.กล่าวต่อว่า เบื้องต้นแจ้งความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ข้อหา ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิต นำเข้าเครื่องมือแพทย์และฐานผลิตขายเครื่องมือแพทย์ปลอมและไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 อีกด้วย ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ ไม่ได้คุณภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
พล.ต.ต.สุวัฒน์ยังกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการที่ขาดคุณธรรมฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าหรือผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพในกลุ่มป้องกันโรคโควิดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้มาจำหน่าย อาจทำให้พี่น้องประชาชนได้รับอันตราย สําหรับการจับกุมในครั้งนี้ สืบทราบว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ลักลอบนำเข้าถุงมือยางบรรจุกระสอบแล้วนำมาแบ่งบรรจุใส่กล่องโดยสวมยี่ห้อต่างๆ โดยไม่ได้ขออนุญาต ลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะร่วมกันขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการและดำเนินคดีจนถึงที่สุด
ขณะที่ ภญ.สุภัทรากล่าวเสริมว่า ถุงมือทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์สําหรับใช้ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างผู้ป่วยและผู้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรค และใช้สำหรับจับหรือสัมผัสกับวัสดุทางการแพทย์ที่อาจปนเปื้อน ฉะนั้นผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตกับ อย.ก่อน รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีมาตร-ฐานตามที่กฎหมายกำหนด จากการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้พบว่าเป็นรายเดิมที่ อย.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน และแถลงข่าวผลการจับกุมไปก่อนหน้านี้ ถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทย จะสืบสวนต่อไปว่า มีการปลอมแปลงเอกสารทางราชการเกี่ยวกับการได้รับอนุญาตหรือได้รับใบรับรองการส่งออกหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ขอเตือนผู้ที่กำลังหาสินค้าพวกถุงมือทางการแพทย์เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศว่า ขณะนี้มีขบวนการหลอกลวงมากมาย ขอแนะนำให้ตรวจสอบการได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือสายด่วน อย. 1556 ก่อน มิฉะนั้นอาจจะเสียเงินโดยได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ อาจโดนปฏิเสธสินค้าได้
วันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ โฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สภาฯ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล และถุงมือยาง หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบใหม่ ตามที่ประชาชนจำนวนมากแสดงความเป็นห่วง เบื้องต้นพบว่ายังเป็นปกติ รัฐบาลดูแลได้เป็นอย่างดี สินค้าเหล่านี้ยังมีจำหน่ายในประเทศเพียงพอ กมธ.พาณิชย์ขอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ควบคุมปริมาณและราคาสินค้าทั้ง 3 อย่าง นำประสบการณ์จากการแพร่ระบาดในรอบแรก ทั้งการเฝ้าติดตามลงโทษอย่างเฉียบขาดกับผู้กักตุน และขายเกินราคา มาใช้สำหรับบริหารจัดการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาขาดแคลนสินค้า หรือการขายเกินราคาควบคุม ร้องเรียนผ่านกรมการค้าภายใน หรือ กมธ.พาณิชย์ได้ หากพบสัญญาณผิดปกติเมื่อใดจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงทันที