นักวิจัยพบ 2 สัตว์ป่าหายาก “งูหางแฮ่ม-กบสังขละ” โผล่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี หลังไม่เห็นตัวมานานกว่า 20 ปี จนคิดว่าสูญพันธุ์ ล่าสุดจับฝังไมโครชิปติดตามพฤติกรรมงู 11 ตัว หวั่นคนจับให้นักสะสมของแปลก นักวิจัยชี้ ไม่เห็นมา 20 ปีกว่า นึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
ข่าวน่ายินดีมีการพบสัตว์ป่าหายากในผืนป่าตะวันตกในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ว่า อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้ค้นพบสัตว์ป่าหายากที่ไม่เคยพบในป่าธรรมชาติมาแล้วกว่า 20 ปี นั่นคือกบสังขละ และงูหางแฮ่ม หรืองูหางแฮ่มกาญจน์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มงูเขียวหางไหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพราะเดิมทีนักชีววิทยาคิดว่าสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยกบสังขละเป็นกบขนาดกลาง ความยาวจากหัวถึงก้นราว 5 เซนติเมตร หน้ายาวแหลม แผ่นหูสีน้ำตาลเข้มปรากฏชัดเจน ปลายนิ้วเรียว มือไม่มีพังผืด หลังสีน้ำตาลเทา มีลายและสีดำ บนหลังมีเส้นสีครีมถึงสีส้มจากปลายจมูกผ่านเหนือตาไปตามเหนือสีข้างถึงก้น มีแถบสีดำจากจมูกพาดตาและแผ่นหูยาวไปตามใต้แนวสันลำตัว สีข้างและท้องสีขาวครีมแต้มลายสีน้ำตาลเข้ม ขาหลังมีลายพาดสีน้ำตาลเข้ม ริมฝีปากสีครีมสลับน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีขาวจนถึงมุมปาก
...
หัวหน้าอุทยานฯเขาแหลมกล่าวอีกว่า สำหรับ งูหางแฮ่ม กรมอุทยานแห่งชาติฯตั้งทีมขึ้นมาเพื่อ ศึกษาวิจัยสัตว์ชนิดนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมโดยเฉพาะ พบว่างูหางแฮ่ม หรืองูหางแฮ่ม–กาญจน์ เป็นงูพิษเขี้ยวหน้าขนาดกลางในกลุ่มงูเขียวหางไหม้ (Pit Viper) จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic) ที่มีรายงานการพบเฉพาะในพื้นที่เขาหินปูน จ.กาญจนบุรี เท่านั้น มีรายงานการพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี เป็นที่มาของชื่อสามัญที่นิยมใช้เรียกกันว่า “Kanburi Pit Viper” พวกมันจะอาศัยอยู่ตามเขาหินปูนในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ความยาวลำตัวตั้งแต่ปลายจมูกถึงปลายหางเฉลี่ย 40 เซนติเมตร มีพฤติกรรมดักซุ่มโจมตีเหยื่อ โดยการขดตัวอยู่นิ่งๆ แล้วรอให้เหยื่อเข้ามาใกล้แล้วจึงจับกินเป็นอาหาร ออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน อาหารส่วนใหญ่ของงูหางแฮ่มกาญจน์ ได้แก่ ตุ๊กแกป่าไทรโยค ตุ๊กแกป่าคอขวั้น ตุ๊กแกป่าลายจุด จิ้งจกดินลายจุด จิ้งจกดินหางสีส้ม จิ้งจกหิน เมืองกาญจน์ กบ เขียด หรืออึ่งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
นายเทวินทร์กล่าวอีกว่า งูหางแฮ่มออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 5-10 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของแม่งู ช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูกาลที่ออกลูกยังไม่มีการศึกษาและมีข้อมูลที่แน่ชัด สำหรับข้อมูลพื้นฐานของงูหางแฮ่มกาญจน์ในด้านอื่นๆนั้นยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ส่วนปัจจัยคุกคามที่สำคัญของงูหางแฮ่มกาญจน์ ได้แก่ พื้นที่อาศัยถูกทำลายเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เขาหินปูนถูกระเบิดเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การจุดไฟเผาป่า อีกทั้งยังมีการจับออกมาขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงหายากในกลุ่มคนชอบสะสมหรือเลี้ยงสัตว์แปลก มีการส่งขายไปทั่วโลก มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงมาก โดยขณะนี้กลุ่มนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติฯได้ฝังไมโครชิปเพื่อติดตามพฤติกรรม การใช้ชีวิต การเคลื่อนที่ และการอยู่อาศัย สำหรับงูหางแฮ่มไปแล้ว 11 ตัว ถือเป็นความสำเร็จเรื่องการดูแลทรัพยากร และการพยายามจะดูแลอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งสัตว์ป่าอีกอย่างหนึ่ง