รายงานจากบางสะพาน เผยวิธีแก้ปัญหาโค้งอันตราย จุดเกิดอุบัติเหตสูงสุดของถนนเพชรเกษม ช่วงจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลองหลายวิธี แต่ได้ผลที่สุดคือ ขูดถนน ไม่น่าเชื่อ อุบัติเหตุลดลงแทบเหลือ 0
หากย้อนกลับไปในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม 2561-เดือนตุลาคม 2561 บริเวณโค้งบางสะพาน บนถนนเพชรเกษม หลัก กม.ที่ 385 ฝั่งขาล่องใต้ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางลงไปสู่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีปริมาณรถสัญจรขึ้นล่องกว่าวันละ 30,000 คัน และสูงขึ้นเป็นสองเท่า ในช่วงวันหยุดยาว

ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงกว่า 20 ครั้ง ในจุดๆเดียว ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 18 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเสี่ยงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุดบนถนนเพชรเกษมตลอดความยาวกว่า 220 กิโลเมตรในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
...
ในเรื่องนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสหัส ด้วงชู นายช่างโยธาชำนาญงาน หัวหน้าหมวดทางหลวงบางสะพาน ถึงที่มาที่ไปของปัญหาในจุดบริเวณดังกล่าวกับแนวทางการแก้ไขที่เกิดขึ้น

ถาม - ความรุนแรง และสถิติอุบัติเหตุบริเวณโค้งบางสะพาน ถนนเพชรเกษม ขาล่องใต้ หลัก กม.385 ในรอบปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
นายสหัส - ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาได้มีการประสานข้อมูลกับเครือข่ายกู้ชีพเทศบาลร่อนทองและทีมด้าน Roadsafety ในพื้นที่ เพื่อเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุในจุดดังกล่าวพบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 61-ตุลาคม 61 มีอุบัติเหตุในจุดดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งหมด 20 ครั้ง ในรอบ 3-4 เดือน มีผู้บาดเจ็บ 18 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 รายในจุดดังกล่าว
ถาม - ทางหมวดทางหลวงบางสะพานได้มีการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมและลักษณะการเกิดเหตุ ว่าปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุในจุดดังกล่าวมาจากสาเหตุใด

นายสหัส - จริงๆ เราทราบปัญหาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 61 ซึ่งเราก็ได้เข้ามาช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในจุดดังกล่าว พบว่าสาเหตุหลักๆ เลยคือ เรื่องของความเร็ว ซึ่งเดิมเราก็มีป้ายเตือนทางโค้ง จำกัดความเร็วอยู่ที่ 60 แต่จากการเข้าตรวจสอบและสอบถามผู้ประสบเหตุพบว่า เกือบทั้งหมดวิ่งมาด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100-120 กม./ชม. สูงกว่าความเร็วที่จำกัดไว้ถึงสองเท่า และอีกปัจจัยที่พบคือ ในเรื่องของสภาพพื้นผิวถนนในช่วงที่เกิดเหตุจะเป็นช่วงที่ฝนตกลงมาใหม่ๆ ทำให้ถนนมีความลื่นมากกว่าปกติ เมื่อทั้งสองปัจจัยมารวมกันจึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในจุดดังกล่าว
ถาม - เมื่อทราบถึงสาเหตุต้นตอของปัญหาทางหน่วยงานในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของถนนมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง
นายสหัส - เมื่อเราทราบปัญหาที่เกิดขึ้นทางหมวดทางหลวงบางสะพานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน โดยในเบื้องต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 เราก็ได้มีการติดป้ายเตือนโค้งอันตรายเพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่อยู่ 4 ป้าย ช่วงก่อนถึงทางโค้ง ได้ติดเพิ่มเป็น 10 ป้าย แต่ดูเหมือนว่าสถิติไม่ได้ลดลงเลย ยังคงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...
"ผมเลยตัดสินใจลองใช้วิธีแบบดั้งเดิม ที่นายช่างทางหลวงรุ่นเก่าๆ นิยมทำกัน นั่นคือ การขูดไสพื้นผิวถนนให้เป็นร่อง โดยขอความร่วมมือจากผู้รับเหมานำรถกัด Recycling เข้ามาดำเนินการกัดเซาะพื้นผิวถนนให้เป็นร่องบางๆ ลึกประมาณ 3 มิลลิเมตร ตลอดแนวถนนช่วงโค้ง เพื่อเพิ่มการยึดเกาะถนนกับยางของรถที่วิ่งผ่าน ซึ่งวิธีการแม้จะไม่มีหลักวิชาการมารองรับ แต่มองเห็นข้อดี ซึ่งนอกจากจะส่งผลในเรื่องของการยึดเกาะพื้นผิวถนนแล้วยังช่วยในเรื่องของจิตวิทยาในการปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ซึ่งสังเกตง่ายๆ โดยปกติเมื่อผู้ขับขี่ขับมาตามถนนปกติ หากไม่มีสิ่งกีดขวางหรือพื้นผิวถนนที่ผิดปกติ ขาก็ยังคงเหยียบอยู่ที่คันเร่งตลอดเวลา แต่หากขับมาเจอสภาพพื้นถนนที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิม ก็จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าชะงัก ถอนคันเร่งโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ความเร็วลดลงโดยอัตโนมัติ ทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าโค้ง ซึ่งผมมองว่าวิธีการดังกล่าวเป็น ”วิธีการที่ลงทุนต่ำแต่ได้ผลทันที” ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ ผู้ใช้รถใช้ถนน “ลดเร็ว ลดเจ็บ ลดตาย”
ถาม - ภายหลังจากการขูดไสพื้นผิวถนน ผลจากวิธีการดังกล่าวส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมอุบัติเหตุในจุดนี้
นายสหัส - ทางหมวดทางหลวงบางสะพานได้ดำเนินการขูดไสพื้นผิวถนนเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 61 โดยภายหลังจากการดำเนินการดังกล่าว แทบเรียกได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นลดลงเป็นศูนย์ก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่มีการปรับปรุงมาจนกระทั่งถึงต้นเดือนสิงหาคม 62 เป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในจุดดังกล่าวเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ถือว่าลดลงไปได้เกือบ 100% โดยนอกจากวิธีการขูดไสพื้นผิวถนนแล้ว ทางกรมทางหลวงยังได้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการทาสี Anti-skid และทำเครื่องหมายจราจรจำกัดความเร็วบนพื้นผิวถนน ในบริเวณก่อนถึงโค้งดังกล่าว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรล่องไปยัง 14 จังหวัดในภาคใต้
...
ถาม - เมื่อโค้งบางสะพานโมเดลประสบผลสำเร็จในการลดอุบัติเหตุ ได้มีการต่อยอดหรือขยายวิธีการนี้ไปยังจุดเสี่ยงอื่นๆ หรือไม่

นายสหัส - ได้มีการขยายวิธีการขูดไสพื้นผิวถนนไปยังโค้งอ่างทอง ในพื้นที่ อ.ทับสะแก และโค้งเขาโพธิ์ ในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย ซึ่งเป็นจุดที่แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น และภายหลังจากทั้งสองจุดดำเนินการขูดไสพื้นผิวถนนตามแบบโค้งบางสะพาน ก็มีรายงานตัวเลขสถิติจากน้องๆกู้ภัยในพื้นที่ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทั้งสองจุดได้ลดลงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกจุดประสบผลสำเร็จในการลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดอยากจะฝากไปยังผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านให้เคารพกฎจราจร หมั่นสังเกตป้ายเตือน ป้ายจราจร และปฏิบัติตาม ก็จะเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางให้กับตัวท่านเองและผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วย.
...