ชอบแบมือขออาหาร! 'ชัยชาญ' คาดคนล่า 'หมีขอ' ไปปรุงยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยสมรรถภาพทางเพศ พร้อมเปิดที่มาชื่อหมีขอ สัตว์หน้าหมีที่ไม่ใช่หมี นิสัยเชื่องไม่ดุร้าย เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์...

ยังคงเป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจ หลังจาก 'เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค' รวบปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันกับ 2 อส. และทีมงานรวม 12 คน พร้อมปืนไรเฟิลติดกล้องล่าสัตว์หวงห้าม ใช้รถออฟโรด 6 คัน ตะลุยเข้าไปในอุทยานฯ หลังกลับออกมาตรวจพบซากหมีขอที่ตัดแยกเป็น 4 ขา แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดยังให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ล่า...

ทางด้าน นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา อดีตเลขาธิการสมาคมป้องกันทารุณกรรมสัตว์ เผยกับทีม ข่าวเจาะประเด็น ว่าการที่คนเหล่านั้นเข้าป่าล่า 'หมีขอ' เชื่อว่าอาจจะนำชิ้นไปปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ เนื่องจากเป็นความเชื่อของบุคคลว่า หากผู้ชายได้กินจะช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศได้

ใกล้สูญพันธุ์! รู้จัก 'หมีขอ' สัตว์สุดเชื่อง คนใจร้ายเชือด ปรุงยาโด๊ป

"ตั้งแต่ทำงานมายังไม่เคยได้ยินเรื่อง การล่าหมีขอ เพราะมันล่าไม่ยาก ไม่เหมือนการล่าพวก เสือดำ ช้าง หรือ กระทิง ที่จะล่ายากกว่า เป็นที่โปรดปรานของพวกนักล่า จริงๆ หมีขอ ไม่ควรเป็นสัตว์ที่จะถูกล่าเพราะมันเชื่อง ไม่ดุร้าย แล้วก็ใกล้จะสูญพันธุ์แล้วในไทย" นายชัยชาญ กล่าว

...

ทั้งนี้ ทีมข่าวเจาะประเด็น จะพาไปรู้จัก 'หมีขอ' สัตว์หน้าหมีที่ไม่ใช่หมี ซึ่งมีอีกชื่อว่า 'หมีกระรอก' เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แม้จะมีหน้าตาคล้ายหมีแต่เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น โดยมีลักษณะหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก ขนตามลำตัวค่อนข้างยาวสีดำและหยาบ สีขนบริเวณหัวอาจมีสีเทา หูกลมบริเวณขอบหูมีสีขาว หางที่ยาวสามารถใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับ 'หมีขอ' เป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน อาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในบางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประกอบไปด้วยแม่และลูก ในเวลากลางวันจะอาศัยโพรงไม้เป็นที่หลับนอน กินอาหารจำพวกผลไม้และสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ทั้งแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน

ใกล้สูญพันธุ์! รู้จัก 'หมีขอ' สัตว์สุดเชื่อง คนใจร้ายเชือด ปรุงยาโด๊ป

ส่วนที่มาของคำว่า 'หมีขอ' มาจากการที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับหมี ประกอบกับมีพฤติกรรมเมื่อพบปะมนุษย์ แม้แต่จะเป็นหมีขอที่เป็นสัตว์ป่าแท้ๆ ก็มักจะไม่เกรงกลัว แต่จะมีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น และจะยื่นขาหน้าไปเหมือนแบมือขอของ คล้ายสุนัขที่ถูกฝึกมาแล้ว เมื่อมีใครยื่นอะไรให้ก็จะคว้าแล้ววิ่งหายไปในพงไม้ ส่วนชื่อ 'หมีกระรอก' ก็มาจากขนหางที่เป็นพวงฟูเหมือนกระรอก ในปัจจุบัน 'หมีขอ' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535.