ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแถลงโครงการติดหลอดไฟแอลอีดี 5 ล้านดวง ประดับอุโมงค์ไฟของ กทม. มีข้อพิรุธหลายจุดอย่างชัดเจน พบผู้เกี่ยวข้อง 9 ราย 1 ในนั้นมีชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. รวมอยู่ด้วย เตรียมส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ หากพบความผิด ตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ต้องโดนโทษหนัก ด้านโฆษกส่วนตัวผู้ว่าฯ กทม.ติง การตรวจสอบบางเรื่องยังไม่สิ้นสุด ฝ่ายถูกกล่าวหาตกเป็นจำเลยไปแล้ว ยันผู้ว่าฯ กทม.ไม่มีความกังวล พร้อมชี้แจงเรื่องทั้งหมด

ชี้อุโมงค์ประดับไฟ กทม.มีข้อพิรุธหลายจุด ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 3 พ.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. แถลงผลการตรวจสอบโครงการติดหลอดไฟแอลอีดี 5 ล้านดวง ประดับอุโมงค์ไฟ งบประมาณ 39.5 ล้านบาทของ กทม. ว่า สตง.พิจารณาในประเด็นว่ามีพฤติกรรมฮั้วราคาหรือสมยอมกัน นำมาซึ่งความเสียหาย พบข้อพิรุธหลายจุด ตั้งแต่การใช้งบฯฉุกเฉิน ตามข้อเท็จจริงงบฯฉุกเฉินต้องใช้ในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แม้การใช้งบฯดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ก็ตาม และการที่บริษัทเข้าประกวดราคาและชนะการประมูล ต่างไม่มีประสบการณ์ประดับไฟ เพราะเพิ่งจดทะเบียนในช่วงที่ผู้ว่าฯ กทม.ออกนโยบายประดับอุโมงค์ไฟ แสดงว่าไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม อีกทั้งบางบริษัทก็เป็นเครือข่ายเดียวกัน

นายพิศิษฐ์กล่าวต่ออีกว่า จากข้อพิรุธต่างๆ จึงมีมติเอกฉันท์ว่าพฤติการณ์ครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีการทุจริต มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. นายธวัชชัย จันทร์งาม ผอ.กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรมฯ กทม. น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ กทม.อีกคนรอการตรวจสอบ และคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์อีก 5 คน จากนี้จะส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อภายในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งจะส่งเรื่องให้ปลัด กทม. สอบสวนทางวินัยต่อ ส่วนเอกชนที่เกี่ยวข้อง สตง.ต้องส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา เพราะมีข้อสังเกตว่า ราคาการนำเข้าหลอดไฟทั้งหมดอยู่ที่ 29 ล้านบาท ต้องสอบสวนว่ามีส่วนต่างขนาดไหนจากที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ สตง.พยายามเรียกผู้ว่าฯ กทม.เข้าชี้แจงถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ว่าฯ กทม.ติดภารกิจ ต้องนำคำให้สัมภาษณ์มารวมไว้ในสำนวน ส่วนกรณีนายอมร กิจเชวงกุล และนายจุมพล สำเภาพล รอง ผู้ว่าฯ กทม. เข้าชี้แจงกับ สตง. ระบุว่าเป็นการทำตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.

...

นายพิศิษฐ์ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบพบบริษัทที่ชนะการประกวดราคา เตรียมสิ่งของก่อนที่จะทราบผลการประมูลเป็นข้อพิรุธชัดเจน ส่วนข้าราชการที่มีความผิดต้องส่งเรื่องให้ปลัด กทม. สอบวินัยโทษสูงสุดจะเป็นการปลดออก และหากทั้ง 9 คนมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โทษจำคุก 5 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ยืนยันว่า สตง. ทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีอยู่โดยไม่มีอคติ ส่วนผู้ว่าฯ กทม.จะลาออกหรือไม่ ไม่สามารถแนะนำได้เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หาก ป.ป.ช.สอบสวนจนถึงขั้นชี้มูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

“ส่วนกรณีจะส่งให้นายกฯพิจารณาใช้ ม.44 หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ว่าจะให้เสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในข่ายกระทำอันไม่พึงไว้วางใจหรือไม่ หากมีสัญญาณมา ผมก็พร้อมเสนอไปตามหน้าที่ ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายก็ต้องดำเนินการตามช่องทางปกติไปก่อน” นายพิศิษฐ์กล่าว

อีกด้าน นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. ในฐานะโฆษกส่วนตัวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.รับทราบเรื่องการชี้มูลความผิดของ สตง.แล้ว ไม่มีความกังวลใดๆ หลังจากนี้จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.ตามขั้นตอน มองว่าประเด็นที่ สตง.ชี้มูลนั้นยังดูกว้างๆ ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะเกี่ยวข้องก็เพียงเรื่องนโยบาย ยังไม่ทราบว่า สตง.มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร มีข้อสังเกตว่า สตง.ดำเนินการตรวจสอบหลายเรื่อง และสังคมก็เคลือบแคลงสงสัยทำไมไม่แถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องนี้กลับออกมาให้ข่าวตลอด พฤติการณ์การตรวจสอบ สตง.ควรให้ข้อมูลสื่อมวลชนอย่างเหมาะสม เพราะบางเรื่องยังไม่ถึงที่สุดของกระบวนการตรวจสอบ ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็กลายเป็นผู้ทุจริตไปแล้ว