คสช.สั่งชะลอเลือกตั้งกรรมการสภาทนายความฯ ใช้มาตรฐานเดียวกับ อปท.ทั่วประเทศ เกรงมีการพูดหาเสียงทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยให้ กก.ชุดเดิมทำหน้าที่ไปก่อน ทนายความวอนทบทวน ยันเลือกตั้งไม่เกี่ยวการเมือง...

ที่สภาทนายความ วันที่ 18 มี.ค. กรณีสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อแทนที่ชุดของ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ที่จะพ้นตำแหน่งหลังนั่งเก้าอี้นายกสภาทนายความมาตั้งแต่ปี 2556 และจัดให้มีการลงคะแนนจากทนายความทั่วประเทศ 7 หมื่นคนเศษ ที่มี นายเดชอุดม เป็นผู้สมัครหมายเลข 1 กับทีมงานเบอร์ 1 ถึง 22 และ นายถวัลย์ รุยาภร ได้เบอร์ 2 กับทีมงานเบอร์ 23 ถึง 44 กำหนดลงคะแนนวันที่ 24 เม.ย. 59 ที่ศาลแพ่ง และศาลจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ คณะทำงานเลือกตั้ง ได้มีหนังสือหารือไปยัง คสช. เกี่ยวกับรายละเอียดวิธีการจัดการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการ คสช. มีหนังสือแจ้งมาว่า ให้สภาทนายความชะลอการเลือกตั้งออกไป และให้คณะกรรมการที่จะพ้นตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยอาศัยอำนาจตา มาตรา 22 พ.ร.บ.ทนายความ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการดำเนินกิจกรรมที่ขัดหรือแย้งกับประกาศ คสช. ที่ใช้บังคับกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นเดียวกับการเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมช่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ผู้สมัครเบอร์ 1 ซึ่งกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามคณะทำงานจัดการเลือกตั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามคณะทำงานจัดการเลือกตั้ง ก็ทราบว่าได้รับหนังสือแล้วแต่อยู่ระหว่างแจ้งให้ผู้สมัครทราบ และยังไม่มีคำสั่งว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งต่อไปหรือไม่ ยอมรับว่า คงต้องมีการชะลอการเลือกตั้งนายกฯ และกรรมการสภานายความ ออกไปก่อน เนื่องจาก ทราบว่า มีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงนามโดย พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 16 มี.ค. 2559 ให้สภาทนายความชะลอการเลือกตั้งนายกฯ และกรรมการสภาทนายความ ออกไปก่อน โดยอ้างติดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 /2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง

...

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยอมรับว่า ทางคสช.อาจเข้าใจผิดได้ เพราะการหาเสียงเลือกตั้งของสภาทนายความ ดูไปอาจมีความคล้ายคลึงกับการหาเสียงของ ส.ส. เพราะมีการติดภาพ ติดเบอร์ผู้สมัคร ไปทั่วประเทศ มีการพูดหาเสียง คล้ายกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่จะอย่างไร ก็คงต้องชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน โดยไม่มีกำหนด อาจยาวไปถึงช่วงปลายปี 2560 ก็เป็นไปได้ คือ ต้องรอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านไปก่อน 

ทางด้าน ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์คำแหง ผู้สมัครหมายเลข 24 ทีมนายถวัลย์ ซึ่งเคยเป็นอดีตอุปนายกสภาทนายฯ ความเผยว่า เท่าที่ทราบ หนังสือจาก คสช. เป็นหนังสือแจ้งมา ยังไม่เห็นตัวคำสั่ง และทาง ผ.อ.เลือกตั้งยังไม่ได้แจ้งผู้สมัคร จึงต้องรอฟังคำสั่งต่อไป

"การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากผู้บริหารชุดใหม่ ทนายความต้องการให้ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ขอให้ คสช. ทบทวนคำสั่งด้วย" ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าว

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งกรรมการสภาทนายความ แม้เป็นสภาวิชาชีพแต่ทนายความเวลาพูดหาเสียงก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดเกี่ยวกับกฎหมายการบริหารชาติบ้านเมืองและรัฐธรรมนูญ เพราะทนายความเป็นผู้นำสังคมด้านกฎหมาย การพูดก็คงอดไม่ได้ที่จะพาดพิงไปบ้าง เมื่อ คสช. เห็นว่าเคยห้ามองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นไปแล้ว แม้จะมีสภาพแตกต่างกับสภาทนายความ แต่ทนายความก็มีสมาชิกจำนวนมาก แต่ละคนอาจมีความคิดแตกต่างกัน ที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายตอนนี้เริ่มหาเสียงกันแล้ว ก็อาจมีการขยายความขัดแย้งออกไป นับวันจะแรงขึ้น ดังนั้น เมื่อ คสช.เกรงว่าจะไม่สงบก็ควรให้ชะลอออกไปก่อน ให้พ้นช่วงเวลาที่เขาต้องการความสงบ ซึ่งตนเห็นว่าไม่มีอะไรเสียหาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีทนายความบางคนแสดงความเห็นทำนองว่า หากให้คณะกรรมการชุดเดิมบริหารต่อไป อาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบ นายวันชัย กล่าวว่า ทนายส่วนใหญ่ได้เห็นการบริหารของชุดเดิมมาแล้ว ก็รู้ดีว่าจะเลือกใคร ชุดเดิมยิ่งอยู่นานใช่ว่าจะได้เปรียบ ทนายความเขารู้ดี เชื่อว่าทนายความจะตัดสินใจได้ถูก.