“เสือป่าพลาซ่า” สถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อลือชาว่า เป็นแหล่งซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือนานาชนิด และมี “ราคาถูก” กว่าท้องตลาดอยู่หลายเท่าตัว ซึ่งสินค้า “ราคาถูก” ที่ทีมข่าวได้เน้นย้ำไปข้างต้นนั้น จากการลงพื้นที่ และเสาะหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และถูกผลิตขึ้นจากประเทศจีน

ไม่ว่าจะก็อปแบรนด์ ก็อปการ์ตูนลิขสิทธิ์ เอาชื่อแบรนด์ดังมาแปะไว้ที่ตัวสินค้า แม้กระทั่งเลยเถิดไปจนถึงนำวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ผลิต สินค้าผิดกฎหมายและอันตรายเหล่านี้ ต่างมีให้เห็นได้โดยรอบของเสือป่าพลาซ่า เพราะฉะนั้น คำถามที่ตามมา คือ สินค้าเหล่านี้ถูกขนส่งจากจีน แล้วนำมาวางขายในเสือป่าพลาซ่า เหยียบหน้าเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ได้อย่างไร? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงเส้นทางลักลอบขนส่งสินค้าบาปจากจีนสู่ไทย มาทางไหน? ทำไมไม่มีใครรู้เห็น? ติดตามได้ที่นี่

...

ของจริงต้องถูกรับรอง ขนเข้าไทยต้องตรวจค้น! พบซุกใต้สุดตู้คอนเทนเนอร์

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พูดคุยกับทีมข่าวในกรณีสินค้าผิดกฎหมายที่รั่วไหลเข้ามาวางขายในประเทศว่า ก่อนที่สินค้าประเภทอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจะถูกนำเข้ามาในประเทศไทยนั้น สินค้าเหล่านี้จะต้องผ่านการตรวจสอบ เพื่อรับรองมาตรฐานของสินค้า และรับรองคุณภาพการผลิตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสียก่อน

เมื่อสินค้าได้รับการรับรองคุณภาพเป็นที่เรียบร้อย สินค้าทั้งหมดจะต้องผ่านด่านตรวจศุลกากร เพื่อตรวจสอบประเภทของสินค้า ใบอนุญาตการนำเข้า ใบอนุญาต สมอ. แม้กระทั่งปริมาณ และคุณภาพให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพื่อระงับยับยั้งสินค้าที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นสินค้าอันตราย หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่รั่วไหลเข้ามาในประเทศ

นายพงษ์ศักดิ์ ธนะวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร กล่าวถึงการขนส่งสินค้าเข้าประเทศว่า โดยส่วนใหญ่สินค้าที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ จะบรรจุมากับตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้ามาทั้งทางบกและทางเรือ ในกรณีที่มีการขนสินค้าเข้ามาทางเรือ จะต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยที่กระบวนการตรวจของกรมศุลกากร จะไม่สามารถตรวจสินค้าได้ทุกล็อต แต่จะตรวจเฉพาะสินค้าที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งใช้ระบบการเอกซเรย์ในการแสกน และตรวจสินค้า โดยความสามารถของเครื่องเอกซเรย์ จะแสกนสินค้าในภาพรวม แต่อุปสรรคของการเอกซเรย์คือ ในกรณีที่บรรจุสินค้ามาเป็นจำนวนมาก หรือภายใน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ อาจจะมีสินค้าบรรจุเข้ามา 200-300 รายการปะปนกัน ทำให้ไม่สามารถตรวจได้ว่าสินค้าที่อยู่ภายในเป็นสินค้าชนิดใด และประเภทใดบ้าง เนื่องจากสินค้าจะวางทับ และอัดแน่นกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเอกซเรย์เป็นชั้นๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการใช้เจ้าหน้าที่เปิดตู้ เพื่อตรวจสินค้าแทน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรในการตรวจสินค้า

ขณะที่ ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตรวจสินค้าครบทั้งตู้ได้ เนื่องจากอาจโดนร้องเรียน โดยอ้างว่าถ่วงเวลา หรือทำให้เสียเวลาทางธุรกิจ แต่หากเจ้าหน้าที่ตรวจแล้วเจอสินค้าผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีสิทธิ์ที่จะตรวจได้หมดทั้งตู้

“การทำงานของเจ้าหน้าที่ตรวจ กรมศุลกากร จะไม่ตรวจทั้งตู้ แต่จะเจาะเข้าไปที่แถวกลางตู้ เนื่องจากหลายครั้งที่ตรวจพบว่า เทคนิคของการลักลอบนำสินค้าเข้ามา โดยส่วนใหญ่สินค้าที่ผิดกฎหมายจะอยู่ช่วงกลางของตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่พอจะจับทางเทคนิคเหล่านี้ได้ ฉะนั้น เมื่อเจอสินค้าผิดกฎหมายแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ได้ทั้งหมด ฉะนั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้การเดาใจเพื่อจับทาง เน้นเจาะช่วงบนและมุดลงล่าง” ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 เล่าถึงประสบการณ์ตรวจพบขบวนการซุกสินค้าผิดกฎหมาย

...

ไล่เรียงเส้นทางนำเข้าสินค้าไอทีเถื่อนจากจีนสู่ไทย

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ไอทีผิดกฎหมายว่า สินค้าไอทีละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าไอทีที่ไม่ได้รับมาตรฐานนั้น ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานในประเทศจีน และจากการตรวจสอบ พบว่า สินค้าเหล่านี้ถูกขนส่งจากประเทศจีนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งในคอนเทนเนอร์จะมีสินค้าหลากหลายประเภท หากขนส่งทางน้ำจะเข้ามาที่ภาคตะวันออก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง หากขนส่งมาทางบก จะมาทางชายแดนภาคอีสาน

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร ได้เปิดเผยถึง 2 เส้นทางหลักที่ลักลอบนำเข้าสินค้าไอทีผิดกฎหมายผ่านเข้ามาประเทศไทย โดยระบุว่า เส้นทางที่ 1 สินค้าถูกผลิตขึ้นจากคุนหมิง เมืองอุตสาหกรรมในประเทศจีน ซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นในคุนหมิงจะเป็นสินค้าเกรดต่ำ คนไทยจึงไม่ค่อยนิยม โดยการลักลอบขนสินค้าเข้าไทยจะวิ่งผ่านสิบสองปันนา ซึ่งอยู่ในเขตประเทศลาว มุ่งหน้าผ่านสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ยิงยาวไปสู่จังหวัดหนองคาย ต่อมาทะลุผ่านจังหวัดพิษณุโลก และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

...

เส้นทางที่ 2 สินค้าที่ผลิตจากจีนตะวันออก จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย โดยสินค้าจะเข้ามาทางประเทศเวียดนาม ผ่านเส้นทาง R9 (เส้นทางที่เชื่อมดานัง-ลาวบาว (เวียดนาม)-แดนสะหวัน-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)-มุกดาหาร-แม่สอด (ไทย)-เมียวดี-มะละแหม่ง (พม่า)) โดยผ่านดานัง สะหวันนะเขต จึงจะเข้าสู่จังหวัดมุกดาหาร ทะลุผ่านจังหวัดพิษณุโลก และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

“โดยกระบวนการลักลอบขนสินค้า จะใช้วิธีนำสินค้าไปเก็บพักไว้ตามบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งจะมีหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดหนองคาย หรือมุกดาหาร ที่ชาวบ้านจะมีอาชีพพักของ (เก็บสินค้าที่ลักลอบนำเข้าจากจีนไว้ที่บ้านตัวเองชั่วคราว) ไว้ให้ขบวนการดังกล่าว แต่ทันทีที่สินค้าถูกเก็บไว้เป็นจำนวนมากพอสมควร ก็จะมีคนส่งสัญญาณให้แต่ละบ้านรีบขนสินค้าขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนเข้ากรุงเทพฯ” ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร กล่าวถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมขบวนการผิดกฎหมาย

...

อย่างไรก็ตาม เส้นทางลักลอบขนสินค้าไอทีผิดกฎหมายเข้ากรุงเทพมหานคร จะสามารถลำเลียงผ่านถนนเส้นทางใดก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันระบบคมนาคมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีทางลัด ทางเลี่ยงมากมาย จึงทำให้การจับกุมยากมากขึ้น

“ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านมุกดาหารและนครพนม เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่านง่ายที่สุด เพราะตรงกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งอุปกรณ์ไอทีส่วนใหญ่จะต้องส่งถึงตลาดเร็ว เพราะเป็นสินค้าเทคโนโลยี ต้องขายเร็ว และมีการเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา” นายพงษ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร กล่าวถึงเส้นทางลักลอบขนสินค้าไอทีที่ถูกใช้มากที่สุด

เอกชนมือขน ตัวการใหญ่แพร่สินค้าเถื่อนสู่ตลาดไทย

ทางทีมข่าวถามอธิบดีกรมศุลกากรถึงตัวบงการลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายว่าเป็นผู้ใด อธิบดีตอบคำถามดังกล่าวว่า “มีข้อมูล แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ถ้าเปิดเผยชื่อบริษัท เขาก็ไล่ปิดบริษัทหนีหมด เราจะต้องเน้นในการตรวจสอบบริษัทต่างๆ ทุนจดทะเบียนเท่าไร ใบขนสินค้าถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าตั้งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือนำเข้าของผิดกฎหมาย ก็ต้องเข้าไปกำราบ ไม่ให้พวกนี้ได้เกิด”

“สายข่าวรายงานว่า คนกลุ่มนี้มีกระบวนการหลากหลายรูปแบบ ที่พยายามจะนำของจากจีนเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งนำของเข้ามาอย่างละนิดอย่างละหน่อย แล้วก็มาทิ้งไว้ และมีรถตามเก็บของเหล่านี้ เมื่อรถตามเก็บจนครบ ก็จะนำไปใส่ไว้ในโกดัง เมื่อของเริ่มเยอะ เขาก็เริ่มขนเข้ากรุงเทพฯ กันสักทีหนึ่ง” อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกระบวนการลักลอบ

ขณะที่ ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร ตอบคำถามเดียวกันว่า หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมานั้น ทางศุลกากรรู้ตัวผู้บงการไม่ทั้งหมด แต่ก็มีฐานข้อมูลอยู่บ้าง ฉะนั้น เมื่อไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ก็ไม่สามารถไปกล่าวหาหรือทำอะไรใครได้ ทั้งนี้ หากสินค้าอยู่ในตู้ของคุณ อย่างไรเสียความผิดนั้นก็ต้องเป็นของคุณ และเมื่อโดนจับก็ต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน และเสียค่าปรับ 1 เท่าของราคารวมภาษีอากร

“ปัจจุบันปัญหาการลักลอบสินค้าเข้ามาในประเทศ โดยสินค้าผิดกฎหมายส่วนใหญ่บรรจุกับตู้คอนเทนเนอร์มาตามแนวชายแดนมากขึ้น แต่ลักลอบขนมาทางท่าเรือนั้นน้อยลง ส่วน เฮีย ช. และ เจ๊ ก. นั้น เป็นคนรับจ้างขนสินค้า ไม่ใช่เจ้าของสินค้า คือไปรับจ้างขนสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อนำเข้ามาในประเทศ ฉะนั้นถ้าสินค้าผิดกฎหมายไม่ได้อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้” นายพงษ์ศักดิ์ ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กล่าวถึงตัวการขนสินค้า

เมื่อทราบตัวผู้ร่วมขบวนการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายเข้าประเทศแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปกับบุคคลเหล่านี้? ทีมข่าวถาม ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร ซึ่งได้รับคำตอบว่า ลักษณะความผิดทางศุลกากร เป็นความผิดที่ปรับเพื่อให้เก็บภาษีอากรได้ ไม่ใช่การจับกุมเพื่อให้ติดคุก เพราะฉะนั้นแม้ว่าอัตราโทษถึงขั้นจำคุก แต่ความผิดทางศุลกากรนั้นมีเกณฑ์ และคดีของศุลกากรอยู่ว่า หากผู้กระทำผิดยินยอมในความผิดทางศุลกากร ก็ไม่ต้องขึ้นศาล เพราะฉะนั้นโทษจำคุกจึงไม่มีเกิดขึ้น

“ปัจจุบันกรมศุลกากรจะใช้วิธีการเข้าไปตรวจค้นบริษัท เพื่อตรวจสอบเอกสาร ยึดหลักฐานมาดำเนินคดีและปรับ ถ้าเจอเอกสารผิดกฎหมาย แต่คนกลุ่มนี้เป็นพวกรับจ้างขน เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานไว้ให้เราเอามาดำเนินคดีได้” ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติม

บิ๊กศุลกากร ชี้พบเจ้าหน้าที่ทุจริต สั่งฟันเละแน่!

นายกุลิศ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีท่าเรือแหลมฉบังว่า เหตุที่มีการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ โดยผ่านท่าเรือแหลมฉบังนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรทุจริต แต่เป็นเพราะปริมาณสินค้าที่จะต้องผ่านด่านศุลกากรแหลมฉบังมีจำนวนมาก บวกกับพื้นที่ของด่านดังกล่าวกินอาณาเขตค่อนข้างกว้างขวาง สวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรที่มีเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า เจ้าหน้าที่มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่

“หากเจ้าหน้าที่ตรวจจับปล่อยให้สินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ เราย้ายออกจากนายตรวจตรงนั้นทันที ให้มาทำฝ่ายบริหารทั่วไป และสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อรายงาน และเราจะมีหน่วยร่วม ซึ่งเป็นหน่วยจากส่วนกลาง สืบสวนปราบปรามเข้าไปตรวจด้วย รายงานก็จะต้องชนกัน ไม่มีใครช่วยใคร” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร กล่าวถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า กระบวนการทำงานของกรมศุลกากรนั้น สำนักปราบปรามจะเข้าไปสุ่มตรวจเป็นระยะ ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ปราบปรามภาคมีการตรวจ และปล่อยกรณีใดกรณีหนึ่งไปแล้ว หากปราบปรามส่วนกลางเข้าตรวจสอบอีกครั้ง พบว่า มีความไม่ชอบมาพากล ปล่อยปละละเลยให้หลุดมา เจ้าหน้าที่คนนั้นจะมีความผิดทางวินัย

“ส่วนตัว มองว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตมีน้อยมาก เพราะระบบการทำงานมีการตรวจสอบมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีบทลงโทษทางวินัย หรือโดนตัดเงินเดือน และถึงขั้นไล่ออก” ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร เชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่

สินค้าไอทีผิดกฎหมายเกลื่อนเสือป่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็นได้อย่างไร?

จากการลงพื้นที่สำรวจ ทางทีมข่าวพบว่า เสือป่าพลาซ่ามีสินค้าผิดกฎหมายวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เหตุใดหน่วยงานรัฐจึงปล่อยให้ตลาดดังกล่าวค้าขายได้ตามปกติ? ทีมข่าวถามไปยัง อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งได้รับคำตอบว่า ทางกรมศุลกากรจะต้องทำงานร่วมกันกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทางกรมฯ ไม่สามารถตรวจชี้ได้เลยว่า สินค้าชิ้นใดปลอม หรือสินค้าชิ้นใดไม่ปลอม

“ผมก็คงจะต้องลงไปเยี่ยมดูว่าเสือป่าตรงนั้นมันมีอะไร ของมีอยู่เป็นของปลอม หรือไม่ปลอมอย่างไร ตอนนี้เรารับรู้และเราจะดูแลในส่วนนี้ แต่จะไปบุกเมื่อไหร่ วางแผนอย่างไร ขออุบไว้ก่อน เพราะผู้กระทำผิดอาจหลีกเลี่ยงนำของผิดกฎหมายไปหลบเสียก่อน” อธิบดีกล่าวถึงแผนลุยเสือป่าพลาซ่า

ผอ.ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กรมศุลกากร ตอบคำถามเดียวกันว่า ในส่วนของตลาดเสือป่าพลาซ่านั้น ทางกรมศุลกากรได้รับข่าวเข้ามา ประกอบกับได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจ ก็พบว่ามีสินค้าผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อย ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะมีการกำหนดมาตรการในการลงไปจัดการสินค้าอุปกรณ์ไอทีที่ไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ฟังภาครัฐ! วิธีสกัด IT เถื่อนเกลื่อนตลาด

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงทางออกของการลักลอบขนสินค้าไอทีผิดกฎหมายเข้าประเทศว่า ทางกรมฯ ได้คุมเข้มการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และจัดเพิ่มกำลังคนสนับสนุนภารกิจการตรวจสอบสินค้า เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีไม่เพียงพอต่อจำนวนสินค้าที่ถูกนำเข้ามาในแต่ละวัน