ชงแพทยสภาฟัน! เชียงใหม่มีแย่งลูก
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสรุปคดีอุ้มบุญ ระบุมีสถานพยาบาลที่เข้าข่ายมีความผิด 7 แห่ง แบ่งเป็นความผิด 2 กระทง คือ ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ แพทยสภา 5 แห่งและเป็นคลินิกเถื่อน 2 แห่ง แพทย์ที่เข้าข่ายความผิดมี 6 ราย ได้ส่งชื่อให้แพทยสภาพิจารณาจริยธรรมดำเนินการแล้ว ขณะที่แม่อุ้มบุญเข้าให้การกับตำรวจมัดหมออีก 2 ราย ล่าสุดเป็นเรื่องแล้วสำหรับการ “อุ้มบุญ” เกิดคดีแย่งลูกที่เชียงใหม่
ความคืบหน้าเรื่องอุ้มบุญ ที่ยังเป็นกระแสที่มีผู้ให้ความสนใจ รอวันเรื่องราวกระจ่างว่าพ่อชาวญี่ปุ่น มาจ้างอุ้มบุญลูกนับสิบคนเพื่ออะไร
ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงความคืบหน้าผลการตรวจสถานพยาบาลอุ้มบุญ ว่า จากการตรวจสอบสถานพยาบาลจำนวน 12 แห่งใน กทม. พบว่า มีสถานพยาบาลที่เข้าข่ายมีความผิด 7 แห่ง แบ่งเป็น ความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 34 (2) จำนวน 5 แห่ง มีความผิด ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในการประกอบวิชาชีพ โดยให้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ญาติตั้งครรภ์แทน และอีก 2 แห่งผิดมาตรา 16 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในกรณีไม่ขออนุญาตตั้งสถานพยาบาลถือเป็นคลินิกเถื่อน ทั้งนี้ อีก 3 แห่ง จากการตรวจสอบ พบว่าไม่ใช่สถานพยาบาลแต่ดำเนินการเป็นเอเยนซี่ จัดหาการอุ้มบุญ จะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เอาผิดกรณีหลอกลวง โฆษณาชวนเชื่อ ส่วนอีก 2 แห่ง ถูกต้องตามเกณฑ์
น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า แพทย์ที่เข้าข่ายความผิดมี 6 ราย ได้ส่งชื่อให้แพทยสภาพิจารณาจริยธรรมแล้ว คาดว่าเมื่อมีหลักฐานพร้อมชัดเจน น่าจะพิจารณาเสร็จภายใน 3 เดือน มีสถานพยาบาลที่ขออนุญาตเป็นสถานพยาบาลเฉพาะทางสูตินรีเวช ใน กทม. จำนวน 18 แห่ง ต่างจังหวัดอีก 155แห่ง รวม 173 แห่ง ซึ่งจะได้ทยอยตรวจสอบทั้งหมดต่อไป ส่วนของ กทม. ยังเหลืออีก 9 แห่ง ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบแต่คาดว่าจะตรวจสอบให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือน ก.ย. ส่วนในต่างจังหวัดจะมีการประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบต่อไป แม้ว่าจะเป็นคลินิกเฉพาะทางสูตินรีเวช แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ได้ทั้งหมด แพทย์ที่ขึ้นทะเบียนว่าทำได้มีเพียง 240 คน ที่ผ่านมามีการตรวจสอบมาโดยตลอดไม่เคยพบการกระทำผิด
...
เมื่อถามถึงกรณีการนำเด็กออกนอกประเทศ โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการขอเป็นผู้ปกครองเด็ก โดยให้หญิงรับตั้งครรภ์รับว่าเป็นชู้ น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า กรณีดังกล่าวพิสูจน์ยากเพราะไม่มีการพิสูจน์ว่าเด็กเกิดจากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์หรือไม่ ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย เป็นเรื่องใหม่จะต้องมีการช่วยกันเสนอความเห็นหาทางป้องกันต่อไป ขณะนี้ร่างกฎหมาย คสช.ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและเปิดโอกาสให้ประชาชนกับทุกฝ่ายเสนอความเห็นในการปรับปรุงร่างกฎหมายได้ จะนำความเห็นเสนอไปยังช่องทางดังกล่าวเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คลินิกที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แบ่งเป็น 5 แห่ง ผิดมาตรา 34 (2) ไม่ดำเนินการตามประกาศของแพทยสภา คือ 1. ออลไอ.วี.เอฟ 2. เอส.เอ.อาร์.ที 3. นิวไลฟ์ ไอ.วี.เอฟ 4. บางกอก ไอ.วี.เอฟ 5.เซฟเฟอทิลิตี้ และมีความผิดฐานไม่ขออนุญาตเปิดสถานพยาบาล 2 แห่ง คือ 1.ออล เซอร์วิส ซึ่งมีหลักฐานเชื่อมโยงกับคลินิกออลไอ.วี.เอฟ และ 2.นิวไลฟ์
วันเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงการเรียกหมอทั้ง 2 ราย ที่ทำการอุ้มบุญให้กับเคสแม่น้องแกรมมี่และเคสชาวญี่ปุ่น ว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านจริยธรรมและสอบสวนกรณีอุ้มบุญ ที่แพทยสภาตั้งขึ้นมาสอบสวนเรื่องอุ้มบุญโดยเฉพาะ เรียกหมอทั้ง 2 ราย เข้ามาชี้แจงข้อกล่าวหา และรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหา ขณะนี้หมอเคสชาวญี่ปุ่น เขียนคำชี้แจงมาให้คณะกรรมการแล้ว แต่สำหรับเคสแม่น้องแกรมมี่ ยังไม่เห็นคำชี้แจงใดๆ แต่ได้เรียกมาสัมภาษณ์และแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบไปแล้ว จากการตรวจจับแหล่งทำอุ้มบุญผิดกฎหมาย แพทยสภาได้รับรายชื่อแพทย์ที่กระทำความผิดเพียง 2 ราย เรื่องการพิจารณาความผิดคาดว่าจะรู้ผลเร็วๆนี้ เนื่องจากแพทยสภามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ด้าน พ.ต.อ.เดชา พรมสุวรรณ์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.ลุมพินี เปิดเผยว่า ได้สอบปากคำนางดี (นามสมมติ) อายุ 35 ปี 1 ในแม่อุ้มบุญให้กับนายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ทายาทมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ใช้เวลากว่า 1 ชม. นางดีให้การว่า มีนายหน้าติดต่อมา ให้ค่าจ้างอุ้มบุญราคา 3 แสนบาท ก่อนไปตรวจรักษาและฉีดตัวอ่อนกับนพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล ที่คลินิกออลไอวีเอฟ ชั้น 12A ห้องเลขที่ 12A04 และชั้น 15 อาคารศิวาเทล ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. ตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 และคลอดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่ รพ.พญาไท 2 ได้บุตรชาย นับตั้งแต่คลอดบุตรมายังไม่เคยพบกับนายชิเกตะ นอกจากนี้ ยังสอบปากคำ น.ส.หนู (นามสมมติ) อายุ 31 ปี ให้การว่า ทำการตรวจรักษาและฉีดตัวอ่อนกับ นพ.พิสิฐ ที่คลินิกเวชกรรมแห่งเดียวกัน ย่านเพลินจิต ช่วงเวลาเดียวกับ น.ส.ดี แต่ นพ.พิสิฐเป็นผู้ทำคลอดให้ที่ รพ.พระราม 9 รับค่าจ้าง 4 แสนบาท เนื่องจากคลอดลูกแฝดชาย
พ.ต.อ.เดชากล่าวว่า จากนี้จะรอให้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญเข้าให้การจนครบทั้ง 11 ปาก เป็นที่เรียบร้อยก่อนที่จะสรุปสำนวนส่งฟ้อง ขณะเดียวกันจากการสอบปากคำแม่อุ้มบุญทั้ง 7 ราย ให้การตรงกันว่า นพ.พิสิฐเป็นผู้ฝังตัวอ่อนและทำคลอดให้ โดยวิธีการผ่า จากนี้ต้องรอให้ น.พ.พิสิฐเข้ามาให้ปากคำ รวมทั้งจะมีการเรียกนายรัฐประทาน ตุลาธร อดีตทนายความของนายชิเกตะมาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างหาความเชื่อมโยง แม่อุ้มบุญทั้ง 11 คนว่าได้รับการติดต่อกับนายหน้าคนเดียวกันหรือไม่
นอกจากนี้ ปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ได้เกิดเป็นคดีแย่งลูกกันแล้ว ทั้งนี้ ที่ สภ.สารภี อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อบ่ายวันที่ 26 ส.ค. นายขจรเกียรติ ชัยลิ้นฟ้า อายุ 33 ปี ชาว อ.เมืองอุดรธานี เดินทางไปที่สถานีตำรวจสารภี ตามหมายเรียกของ พ.ต.ท.เชาว์ เดชะ พงส.สบ 3 ผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.สารภี ที่ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาพรากผู้เยาว์ แต่นายขจรเกียรติปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ได้มี น.ส.นีรนุช ใจเมือง อายุ 27 ปี ชาว ต.ท่าวังตาล อ.สารภี มาแจ้งความร้องทุกข์ว่า นายขจรเกียรติได้นำตัวบุตรสาวอายุ 10 เดือนไปจาก น.ส.นีรนุช ซึ่งนายขจรเกียรติได้ให้การกับตำรวจว่า ได้ว่าจ้างให้ น.ส.นีรนุชอุ้มบุญจากน้ำเชื้อของตนเอง โดยระหว่างตั้งครรภ์จนคลอดตนได้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดและนำบุตรมาเลี้ยงจนมีอายุได้ 10 เดือน แต่ต่อมา น.ส.นีรนุชจะมาเอาเด็กกลับคืนไป ซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้เรียกตัว น.ส.นีรนุชมาสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
...
นายสุภัทร บุญถนอม อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เปิดเผยถึงกรณีที่ตกเป็นข่าวแม่อุ้มบุญบุตรของชาวญี่ปุ่น อาจจะเบิกความเท็จต่อศาลในการรับรองบุตรว่า ไม่น่าจะเป็นการละเมิดศาล และศาลยังไม่มีเหตุต้องเรียกแม่อุ้มบุญมาสอบถาม เมื่อศาลอนุญาตรับรองบุตรก็ไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินใดๆใหม่ แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานว่าแม่อุ้มบุญเบิกความเท็จหรือไม่ เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่กรณีนี้เกิดเป็นข่าวขึ้นมา ศาลได้เข้มงวดในการไต่สวนมากขึ้น
อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ กล่าวว่า ในการไต่สวนรับรองบุตรทั่วไปศาลจะพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายจากบิดาและมารดา โดยไม่นำกระแสภายนอกมาเป็นองค์ประกอบตัดสิน กรณีที่เบิกความจะอ้างถึงปัญหาทางการเงินในการเลี้ยงบุตร ถ้าแม้จะเป็นข้อความเท็จแต่ก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญที่ศาลจะนำมาประกอบการพิจารณาให้พ่อชาวญี่ปุ่นจดทะเบียนรับรองบุตรได้ การพิจารณาของศาลจะมีเงื่อนไขอื่นมาประกอบซึ่งจะมองประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพราะสิทธิในการอุ้มบุญเด็กที่เกิดมาย่อมมีสิทธิเหมือนเด็กทั่วไป ทั้งสิทธิในการเกิด การมีชีวิต การเลี้ยงดู การมีอนาคตที่ดี ขณะนั้นการไต่สวนก็ไม่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยรวมทั้งไม่มีผู้คัดค้าน หรือมีข้อบ่งชี้ว่าฝ่ายบิดาจะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในขณะนั้นว่ามีความไม่เหมาะสมใด แต่ถ้าทางไต่สวนได้ความถึงขนาดว่ามีข้อเท็จจริงอื่นที่พบว่าฝ่ายบิดามีความไม่เหมาะสมศาลก็จะไม่อนุญาตรับรองบุตร
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อไม่นานนี้มีผู้รับมอบอำนาจจากนายชิเกตะได้ยื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตรที่ศาลเยาวชนฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งศาลได้ไต่สวนไปแล้ว และจะขอไต่สวนผู้ร้องเพิ่มเติมแต่ผู้ร้องกลับขอถอนคำร้องออกไป ขณะที่ก่อนหน้านี้พ่อชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าว ได้มีการยื่นคำร้องขอรับรองบุตร 2 คดี ศาลก็อนุญาตให้รวมบุตร 3 คน โดยการอนุญาตเพราะการไต่สวนข้อเท็จจริงขณะนั้นไม่มีข้อมูลใดที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะนำเด็กไปดำเนินการอย่างอื่น
...