พ่อแม่ชาวออสซี่ของน้อง "แกรมมี่" โต้ออกทีวี ยัน "ภัทรมล" แม่อุ้มบุญไม่ต้องการให้นำเด็กผู้ชายกลับออสเตรเลีย ทั้งยังต้องการครอบครองเด็กไว้ทั้ง 2 คน ขณะที่ "ครูหยุย" เร่งให้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ จี้ตรวจกระบวนการทำเอกสารนำเด็กออกนอกประเทศ
ความคืบหน้ากรณี "น้องแกรมมี่" เด็กชายวัย 7 เดือน ที่เกิดจากการอุ้มบุญรับตั้งครรภ์โดย น.ส.ภัทรมล จันทร์บัว หรือ ก้อย ชาว จ.ชลบุรี ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ 10 ส.ค. นายเดวิด วัย 56 ปี และนางเวนดี้ ฟาร์เนลล์ ชาวเมืองบันเบอรี่ ประเทศออสเตรเลีย คู่สามีภรรยาที่ถูกระบุเป็นบิดามารดาของน้องแกรมมี่ และแฝดผู้หญิงอีกคนชื่อ “ปิปป้าห์” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ช่อง 9 แห่งออสเตรเลีย รายการ “60 นาที”
ทั้งนี้ ทั้งคู่ระบุว่า ไม่ต้องการทิ้งเด็กชายแกรมมี่เอาไว้ในเมืองไทย หลังรู้ว่าเด็กชายแกรมมี่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม และมีปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด แต่ น.ส.ภัทรมล ไม่ต้องการให้พวกตนพาเด็กชายแกรมมี่กลับออสเตรเลียด้วย ทั้งยังอ้างว่าหากพวกตนนำตัวเด็กชายแกรมมี่กลับออสเตรเลีย จะแจ้งความต่อตำรวจไทย และ น.ส.ภัทรมล ยังต้องการเด็กแฝดทั้งสองคนกลับมาครอบครองไว้เอง ทำให้พวกตนกดดันอย่างมาก ทั้งๆ ที่พวกตนต้องการเด็กทั้งสองคน
นายเดวิด กล่าวอีกว่า ทุกวันหลังกลับจากทำงานในออสเตรเลีย นางเวนดี้ ภรรยาเชื้อสายจีนของตนได้ดูแลแต่งตัวให้ลูกสาวด้วยความเศร้า เพราะคิดถึงลูกชายคู่แฝดอีกคน ส่วนเรื่องคดีอาญาเกี่ยวกับกรณีละเมิดทางเพศเด็ก 22 กระทงนั้น ตนเห็นว่าเป็นความพยายามดึงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่ตนกับภรรยาถูกตอกย้ำว่าเป็นบุคคลไร้หัวใจ กรณีละทิ้งเด็กชายแกรมมี่เอาไว้ที่เมืองไทยไปแล้ว
ขณะเดียวกัน นางญาณี เลิศไกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการระบุหญิงไทยรับจ้างตั้งครรภ์ให้กับชาวต่างชาติอีกนับร้อยราย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งหลังจากข่าวการรับจ้างตั้งครรภ์ในไทยโด่งดังไปทั่วโลกว่า พม.มีสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนที่มีศักยภาพ สามารถรองรับและดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้งจำนวนหลายแห่ง โดยเฉพาะหากเป็นกรณีฉุกเฉินก็มีความพร้อมที่จะรองรับ ซึ่งถ้ามีจำนวนมากตามที่ปรากฏเป็นข่าวก็ต้องมีการจัดระบบการคัดกรองและดูแล โดยต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะขอความร่วมมือในการจัดส่งพยาบาลและพี่เลี้ยงมาช่วยเลี้ยงดูตามพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย
...
อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งของไทยขณะนี้ ถือว่าหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นมารดาของบุตรในครรภ์โดยชอบด้วยกฎหมาย หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจึงยังเป็นเจ้าของลูกในท้อง ดังนั้น หากเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์มีการทอดทิ้ง หญิงที่ตั้งครรภ์แทนอาจจะรับเลี้ยงเป็นบุตรเองก็ได้ ซึ่งหากเด็กถูกทอดทิ้ง พม.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ จนกว่าจะพิสูจน์ทราบว่าเด็กคนนั้นๆ ถูกทอดทิ้งจริง รวมทั้งไม่มีผลหรือเกี่ยวโยงกับการดำเนินคดีต่างๆ ก็สามารถนำเข้าสู่กระบวนการหาครอบครัวทดแทน หรือผู้ปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งเวลานี้มีผู้ประสงค์แจ้งความจำนงอยากจะมีบุตรบุญธรรมอยู่ไม่น้อย
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ปัญหาการรับจ้างตั้งครรภ์แทนเวลานี้มีความสัมพันธ์กันในหลายส่วน โดยเฉพาะในส่วนของแพทย์ที่กระทำผิดข้อบังคับแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามนำแพทย์ที่กระทำผิดมาลงโทษ แต่ส่วนที่ยังคงค้างและต้องเร่งดำเนินการคือ 1. กลุ่มหญิงรับจ้างที่ตั้งท้องอยู่ในเวลานี้ 2. กลุ่มที่คลอดออกมาแล้วแต่ถูกทิ้ง ทำให้หญิงที่รับจ้างต้องรับภาระเลี้ยงดูแทน และ 3. กลุ่มที่อยู่ระหว่างทำเรื่องเอกสารเพื่อนำเด็กออกนอกประเทศ ประเด็นเหล่านี้ต้องเร่งรีบหาทางแก้ไข โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุว่ามีหญิงที่รับจ้างและกำลังตั้งท้องอยู่เวลานี้จำนวนเป็นร้อยคน
"ครูหยุย" กล่าวอีกว่า อยากเสนอให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาตินัดพิเศษเป็นการเร่งด่วน คณะกรรมการชุดนี้มี รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานโดยตำแหน่ง นายวิเชียร ชวลิต ปลัด พม. ซึ่งทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติโดยตำแหน่ง ทั้งยังรักษาการรมว.พม.ขณะนี้ สามารถเรียกประชุมได้ทันที เพื่อช่วยกันระดมความคิดเห็นและแนวทางในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์แทน อีกทั้งให้มีการเชิญแพทยสภาเข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วย ซึ่งตนก็พร้อมจะเข้าร่วมหารือเพื่อผลักดันในเรื่องของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ...
"อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าแปลกว่าเด็กที่เกิดจากหญิงรับจ้างตั้งครรภ์แทนออกนอกประเทศไปได้อย่างไร การทำเอกสารตั้งแต่สูติบัตร พาสปอร์ตให้เด็กผ่านออกไปได้อย่างง่ายดาย คงต้องมีการทำเป็นกระบวนการ" ครูหยุยกล่าวทิ้งท้าย