กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมส่งเสริมผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ภายใต้โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กเป็นปีที่ 3

นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้สูงวัย และคนส่วนใหญ่ นิยมสื่อสารกันผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น

แต่การสื่อสารที่เปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดดนี้ มาพร้อมกับภัยแฝงในโลกออนไลน์ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในหลาย ๆ ครั้ง จะเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยี AI ที่สามารถแปลงเสียง ตัดต่อภาพวิดีโอได้อย่างแนบเนียน จึงทำให้ง่ายต่อการหลงเชื่อ และเกิดความเสียหายตามมา

สำหรับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ที่จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์แล้ว ยังส่งเสริมให้ปรับตัวมาเป็นผู้ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้สูงอายุพัฒนาศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุ ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยรวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม สามารถปรับตัวไปกับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และสร้างผลผลิตให้สังคมได้ อายุจึงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้

...

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุจากทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580)

โดยดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน พ.ศ. 2566 – 2570 มี 5 ยุทธ + 6 สร้าง นั่นหมายถึง 5 ยุทธศาสตร์ และ 6 สร้าง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้สำเร็จ โดยใน 6 กลยุทธ์มีทั้งการสร้างสื่อ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างเครือข่าย และสร้างองค์กรซึ่งเราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กเป็นโครงการที่กองทุนมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก ด้วยเรามองเห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุที่สามารถเรียนรู้ และเปิดรับสื่อได้อย่างหลากหลาย หากมีความตั้งใจและลงมือทำอย่างแท้จริง ซึ่งจากทุกปีที่ผ่านมารวมทั้งในปีนี้

ทั้งนี้ทำให้เห็นได้ว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพเพียงพอ และสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี และมีความตระหนักและรู้เท่าทันสื่อได้โดยอาศัยกระบวนการในการสื่อสารการให้ข้อมูลความรู้ และที่สำคัญ คือการที่ท่านเปิดใจและให้โอกาสกองทุนร่วมกันเรียนรู้ไปพร้อมกับท่านผ่านโครงการนี้

นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน กล่าวว่า ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า และมีส่วนสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ในการสร้างแนวทางการใช้เทคโนโลยีทางดิจิทัล ให้ตอบสนองต่อทักษะการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รวมไปถึงการสร้างสรรค์และผลิตชิ้นงานสื่อที่สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสในการสร้างอาชีพที่สำคัญโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจสภาพของสังคมผู้สูงอายุทั้งในมิติด้านคุณค่าส่วนบุคคลและมิติเชิงสังคม

สำหรับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กปี 3 นี้ เริ่มจัดกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะดิจิทัลเมื่อวันที่ 14-15 ก.ย. 67 โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมเข้าอบรมได้ทั้งรูปแบบในสถานที่และผ่านทางออนไลน์ และพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์สื่อ จำนวน 5 หลักสูตร คือ 1. Yold Creator นักผลิตสื่อวัยเก๋า ด้วยโทรศัพท์มือถือ 2. Yold Digital Literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันสื่อดิจิทัล 3. Yold Storyteller นักเล่าเรื่องออนไลน์วัยเก๋า สื่อสารออนไลน์ 4. YOLD Influencer สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และ 5. AI For Senior รู้จัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ จาก AI

นอกจากนี้ ยังมีเพลง และมิวสิกวิดีโอ สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ที่มีเนื้อหาสร้างกำลังใจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active Aging สร้างการรวมกลุ่ม แสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ พร้อมท่าเต้นช่วยฝึกสมองประกอบเพลง ให้มีความสุขในช่วงเวลาได้อย่างอิสระ อีกทั้งได้มีร่วมกลุ่มกันของผู้เข้าร่วมทั้ง 3 ปี ในชื่อกลุ่มดิจิคลับ ที่สามารถศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา

...

โดยมีทั้งหมด 5 คลาส ดังต่อไปนี้ 1. คลาส เต้นต้านโรค สุดมันส์เพราะหัวใจมันยังเวิร์ก 2. คลาส ศิลปะ วาดสีสันชีวิต 3. คลาส ปรับบุคลิกภาพ แต่งหน้า ปรับลุคส์ 4. คลาส อาหารตา อาหารใจ กินอย่างไรให้มีความสุข 5. คลาส บอร์ดเกม ฝึกสมอง เป้าหมายของโครงการฯ เมื่อผ่านการอบรม ผู้สูงอายุสามารถผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นคุณค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและคนรอบข้างได้อีกด้วย