สทนช. บูรณาการหน่วยงานติดตามสภาพภูมิอากาศ พบในปี 2567 ไทยยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และอาจจะเกิดภาวะความแห้งแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ล่าสุดสถานการณ์น้ำต้นทุนในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางหลังผ่านพ้นปีใหม่มาได้ 10 วัน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 57,818 ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 33,876 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความเป็นห่วงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ สทนช.บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้บูรณาการทำงานในเชิงรุก และดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูแล้งทั้ง 9 มาตรการอย่างเคร่งครัด และให้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว พร้อมทั้งได้เน้นย้ำว่าน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคจะต้องเพียงพอตลอดทั้งปี
...
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำทำงานในเชิงรุกในการรับมือภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ โดยยึดหลัก "กันไว้ดีกว่าแก้" ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ คาดการณ์และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งได้จัดทำแผนในการลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแนวทางป้องกันการขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ โดยให้ดำเนินการเป็นรายภาค เนื่องจากแต่ละภาคนั้นมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้วางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
ทั้งนี้ สทนช.ได้ติดตามการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ล่าสุดจากการติดตามพบว่าได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว 431 เครื่อง เครื่องจักรกลอื่นๆ อีก 137 หน่วย และรถบรรทุกน้ำ 36 คัน มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำ มีแผนเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น 507 แห่ง และเตรียมขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2567 มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ล่าสุดได้จัดสรรน้ำจากอ่างฯ ขนาดใหญ่ไปแล้ว 5,652 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36% ของแผน ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้ง ปลูกไปแล้ว 8.81 ล้านไร่ คิดเป็น 83% ของแผน และยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำ ขณะนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำได้จัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรน้ำเป็นไปตาม 9 กิจกรรมดังนี้ การอุปโภคบริโภค การักษาระบบนิเวศ การบรรเทาสาธารณภัย ประเพณี การคมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ขณะนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัดแล้ว 3,730 ไร่ 552 ครัวเรือน เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่นำร่อง 15 ไร่ 2 ครัวเรือน และได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 3,510 ไร่ 175 ครัวเรือน มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ จากการตรวจสอบล่าสุดทุกพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ และมาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผล ได้มีการสรุปสถานการณ์น้ำทุกวัน พร้อมทั้งได้ตรวจติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 แบ่งเป็นในด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในเขตของการประปาส่วนภูมิภาคมีทั้งหมด 18 สาขาในพื้นที่ 14 จังหวัด พื้นที่นอกเขตประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สทนช.ได้ประเมินแล้วพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมากจำนวน 415 ตำบล 167 อำเภอ 33 จังหวัด ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนด้านการเกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจะอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำรายตำบลนอกเขตชลประทานสำหรับการทำนารอบที่ 2 (นาปรัง) มีทั้งสิ้น 64 ตำบล 33 อำเภอ 13 จังหวัด และพืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) มีจำนวน 168 ตำบล 68 ตำบล 22 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้มีการเฝ้าระวังเสี่ยงภัยในด้านคุณภาพน้ำ ในเขตของการประปาส่วนภูมิภาคมีทั้งหมด 7 สาขา 6 จังหวัด (ข้อมูลคาดการณ์ ณ วันที่ 26 ธ.ค. 66) ในเขตของการประปานครหลวงในพื้นที่ กรุงเทพ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการในแม่น้ำสายหลักทั้ง 22 ลุ่มน้ำอีกด้วย
...
เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สทนช. ได้ดำเนินมาตรการในเชิงรุกโดยได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สทนช.ได้ประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย โดยได้ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำและแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2566/67 ของเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และที่ จ.สุโขทัยได้ลงพื้นที่หนองจระเข้ ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีโครงการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูคลองเชื่อมหนองจระเข้-หนองแม่ระวิง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำและเพิ่มเสถียรภาพการใช้น้ำในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านในเขต ต.บ้านนา ต.วังโมกข์ ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี และ ต.หนองโสน อ.สามง่าม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่ ต.แข้ และ ต.แต้ อ.อุทุมพรพิสัย พบปัญหาขาดแคลนน้ำและแหล่งผลิตน้ำประปาไม่ได้คุณภาพ จังหวัดมุกดาหารลงพื้นที่ ต.โพธิ์ไทร และ ต.บ้านบาก อ.ดอนตาล พบว่าระบบผลิตน้ำประปาไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ เสนอแนวทางแก้ไขโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ เตรียมพื้นที่จัดทำโครงการระบบประปาบาดาลชุมชน กรมทรัพยากรน้ำจัดทำระบบกระจายน้ำผิวดินในชุมชนเพื่อการเกษตร กรมชลประทานพิจารณาจัดทำระบบกักเก็บน้ำชะลอน้ำในลำน้ำที่มีอยู่ จังหวัดอุบลราชธานีลงพื้นที่ ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร และอ.เขมราฐ พบปัญหาน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เสนอแนวทางแก้ไขโดยให้กรมทรัพยากรน้ำจัดทำระบบกระจายน้ำผิวดินและสูบน้ำโขงเข้ามาเติมแหล่งน้ำในชุมชน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจแหล่งน้ำบาดาลเพิ่ม
...
ภาคกลางและภาคตะวันตก จังหวัดชัยนาท พื้นที่ ต.สะพานหิน อ.หนองมะโมง และ ต.วังหมัน ต.หนองขุ่น อ.วัดสิงห์ มีปัญหาปริมาณน้ำดิบไม่พอเพียงตลอดฤดูแล้ง สระน้ำเก็บน้ำดิบตื้นเขินมีวัชพืช โดยได้วางแนวทางสูบทอยน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง ขุดลอกลำน้ำและสระเก็บน้ำ ขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่ม จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ ต.ห้วยคต และ ต.สุขฤทัย อ.ห้วยคต พบปัญหาสระน้ำดิบมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ อ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่ตื้นเขิน ได้เสนอแนวทางแก้ไขคือ ขุดลอกอ่างฯ สำรวจความลึกบ่อน้ำบาดาล จังหวัดกาญจนบุรีลงพื้นที่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ และ ต.บ้านเก่า อ.เมือง พบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขโดยการใช้รถบรรทุกน้ำแจกน้ำ ก่อสร้างระบบประปาบาดาล ขุดลอกอ่างฯ และการพัฒนาระบบส่งน้ำ สำหรับพื้นที่เสี่ยงแล้งในภาคใต้ ก็อยู่ในแผนระยะใกล้นี้ที่ สทนช. จะลงพื้นที่สำรวจและกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
"กันไว้ดีกว่าแก้" การบูรณาการทำงานในเชิงรุกของ สทนช.และหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องในปีนี้ น่าจะการันตีได้ว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำจากสภาวะเอลนีโญจะบรรเทาลงอย่างแน่นอน
...