ดีเดย์อนุญาตขยายเวลา "ปิดสถานบริการตี 4" นำร่อง 5 จังหวัดแรกที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และสถานบริการตั้งในโรงแรมทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566

ถ้าย้อนดูคืนแรก “เซ่นสังเวยชีวิตตายไป 1 ราย และเจ็บสาหัส 2 ราย” จากเหตุชาวต่างชาติขับรถเก๋งกลับจากนั่งดื่มกับเพื่อนที่ผับแห่งหนึ่ง “พุ่งชนคนงานวางสายเคเบิลลงดิน ถนนคชสาร อำเภอเมืองเชียงใหม่” เมื่อตำรวจตรวจวัดแอลกอฮอลล์ได้ระดับ 121 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (mg%) ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

กลายเป็นความกังวลให้กับ “นักวิชาการและภาคสังคม” ที่เชื่อว่าการขยายเวลาปิดสถานบริการครั้งนี้จะสร้างปัญหาอีกมากสะท้อนผ่าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า

สำหรับประเด็น “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” ด้วยการขยายให้สถานบริการเปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น. กำหนดให้ 5 จังหวัดนำร่อง “ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2546” แล้วยังขยายไปถึงสถานบริการตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศก็สามารถเปิดได้ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นเช่นกัน

ทำให้การขยายเวลาครั้งนี้ “มิใช่ 5 จังหวัดนำร่องเท่านั้น” แต่เป็นการเหมารวมสถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมทั่วประเทศก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะผู้กำหนดนโยบายคิดเพียงว่าคนมาเที่ยวผับในโรงแรมมักต้องเป็นแขกที่มาเปิดห้องพักเป็นหลัก “เมื่อเมาก็ขึ้นนอนได้สะดวก” แต่ความจริงคนมาเที่ยวนั้นล้วนมีแต่เป็นคนพื้นที่ทั้งสิ้น

...

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนคือ “การเพิ่มปริมาณคนเมาทะลักออกมาบนถนน” ทำให้เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญต่อ สตช.ต้องแสดงฝีมือบังคับใช้กฎหมายควบคุม “กลุ่มเมาแล้วขับ” จากเดิมเคยตั้งด่านตรวจ 22.00-02.00 น.แต่เมื่อสถานบริการเปิดถึง 04.00 น. “ตำรวจ” ก็อาจต้องขยายการคุมเข้มตรวจวัดแอลกอฮอล์ในช่วงนี้อีกด้วย

เรื่องนี้ถ้าเทียบกับในต่างประเทศ “การประเมินมาตรการด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์” สำหรับประเทศสามารถควบคุมคนเมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น “มักทำการสำรวจจากผู้ขับขี่รถควรต้องเคยถูกเรียกตรวจวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อยปีละ 1-1.5 ครั้ง” แต่ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยถูกเรียกตรวจกันเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้าจะประเมิน “นโยบายสถานบริการเปิดตี 4 มีผลต่ออุบัติเหตุหรือไม่” ตอนนี้สิ่งที่กำลังเห็นได้ชัดเจนคือ “ปริมาณคนเมาเพิ่มขึ้นแน่นอน” แต่ในส่วนภาครัฐกลับยังไม่ปรากฏพบการกำหนดมาตรการแบบแผนออกมารองรับที่ชัดเจน เพื่อควบคุมคนเมาไม่ให้ออกมาขับขี่รถบนถนนได้ในระดับใด

และมีคำถามต่อว่า สตช.เตรียมมาตรการ และกำลังพลพร้อมปฏิบัติหรือไม่...? เพราะหลังจากนี้โรงแรมมีสถานบริการจะสร้างคนเมามาบนถนนมากขึ้น “พร้อมกันทั่วประเทศแต่ละคืน” แล้ว 2 เดือนมานี้การบังคับใช้กฎหมายจราจร “ก็อยู่ช่วงสุญญากาศ” จากศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนประกาศใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563

อันเกิดจาก “ประชาชนยื่นฟ้อง” กรณี สตช.ออกใบสั่งไม่อาจโต้แย้งดำเนินการอื่นได้ ในเรื่องนี้ สตช.ก็กำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี กลายเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายจราจรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

อีกทั้งในวันที่ 25 ต.ค.2566 “สตช.มีคำสั่งใช้ พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565” โดยความผิดโทษที่ไม่ร้ายแรง “ไม่ต้องฟ้องศาล” แต่ขอลด หรือผ่อนค่าปรับ ทำงานเพื่อสังคมแทนได้ และไม่มีประวัติทำผิดอีกด้วย ดังนั้น 2 เรื่องนี้ยังคงคาราคาซังกลายเป็นอุปสรรคต่อ “ตำรวจ” ไม่อาจปฏิบัติงานเข้มข้นเต็ม 100% อยู่ในขณะนี้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

...

ถัดมาหากย้อนดูข้อมูลปี 2565 ปกติภาพรวมผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 17,379 คน หรือ 48 คน/วัน เฉลี่ย ชม.ละ 2 คน “จำนวนนี้ 15% เกิดจากดื่มแล้วขับ” ถ้าขยายเวลาเปิดสถานบริการก็ต้องบวกตัวเลขเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอีก 15-20% ใน 5 พื้นที่ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ยิ่งถ้าคำนวณช่วงเวลาปิดสถานบริการตี 4 และคนเมากว่าจะเคลื่อนย้ายออกจากสถานบริการต้องใช้เวลายาวถึง 7 โมงเช้า “อันเป็นช่วงผู้บริสุทธิ์อย่างพ่อค้าแม่ค้า พระสงฆ์ และนักเรียนออกจากบ้านมาอยู่บนถนน” ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากฤทธิ์ของคนดื่มแอลกอฮอล์สะสมจนเมาไม่ได้สตินี้

ดังนั้น เมื่อเทียบกับผลที่จะได้ทางเศรษฐกิจจะเท่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วจากนี้ไปรัฐบาลจะกลายเป็นผู้สร้างปัญหาจากการออกนโยบายนี้ จึงอยากฝากเตือนให้ทบทวนเตรียมมาตรการรองรับไว้ให้ดี

ทว่าก่อนนี้ได้ร่วมประชุม “คณะกรรมาธิการการปกครอง” ที่มีหน่วยงานรัฐ เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการสถานบริการที่มาประชุมกัน แล้วในช่วงหนึ่งฝ่ายปกครองชี้แจงแผนที่จะมารองรับด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ห้ามขายเครื่องดื่มให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือคนเมาสุราครองสติไม่ได้

ทั้งยังให้ “ผู้ใช้บริการที่ขับขี่รถทุกราย” ต้องให้สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่า 50 mg% ก่อนจะอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการได้ แต่หากมีระดับแอลกอฮอล์สูงกว่า 50 mg% สถานบริการต้องจัดหาที่พักคอยอำนวยความสะดวก เพื่อรอให้ระดับลดลงต่ำกว่า 50 mg% จึงอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ

...

แต่ระหว่างนั้น “คุณกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานฯ” ได้หันไปถามผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามมาตรการนี้ได้หรือไม่ “ก่อนได้คำตอบชัดว่าทำไม่ได้” ฉะนั้นร้านเหล้าตรวจแอลกอฮอล์ลูกค้าดูเหมือนทำง่าย

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “มักจะไม่ค่อยได้ผล” เพราะอย่าลืมสิ่งที่จะต้องเจอเลยแน่ๆ คือ 1.นักดื่มสุรามักคิดว่าตัวเองไม่เมาอยู่เสมอ 2.พื้นฐานคนไทยรักหวงรถส่วนตัวมาก และจะไม่ยอมให้ใครมาขับรถแทนได้ง่ายๆ สิ่งสำคัญกว่านั้น “ผู้ประกอบการ” จะให้ความร่วมกับภาครัฐในการปฏิบัติจริงเข้มงวดมากน้อยเพียงใด

เหตุเพราะ “เครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์” จัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และยังคงถูกควบคุมการใช้งานอยู่ “ราคาก็ค่อนข้างสูง” แล้วถ้าเจาะดูมาตรการ ม.29 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก็ปรากฏช่องว่างของกฎหมายที่ถูกเขียนมา 10 ปี “ยังคงไม่ปลดล็อก” ในกรณีห้ามขายสุราให้ผู้มึนเมาจนครองสติไม่ได้

...

แล้วตรงจุดนี้เอง “กระทรวงสาธารณสุข” ก็ยังไม่ได้กำหนดให้นิยามคำว่า “เมาครองสติไม่ได้เป็นแบบใดชัดเจน” เช่นนี้เมื่อลูกค้าเมาเหมือนดื่มไม่ไหวสั่งเหล้าเพิ่ม และเด็กเสิร์ฟไม่ขายให้เกรงผิดกฎหมาย “ลูกค้าเปลี่ยนร้านอื่น” กลายเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้อีกด้วย

“ตอนนี้รัฐบาลมีเพียงส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะสร้างปริมาณคนเมาออกมาบนถนนเพิ่มขึ้น แต่ปัญหากลางน้ำกลับยังไม่แก้ไม่มีมาตรการมารองรับป้องกันให้เป็นรูปธรรม สุดท้ายผู้บริสุทธิ์จะได้รับผลกระทบตกเป็นกลุ่มเสี่ยงอันตรายต่อการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนโดยที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้” นพ.ธนะพงศ์ว่า

ประเด็นสำคัญ “รัฐบาล” ต้องประเมินสถานการณ์ตอบโจทย์ว่า “มีมาตรการควบคุมคนเมาไม่ให้ขับรถได้จริง” เพราะที่ผ่านมามักออกนโยบายโดยไม่มีตัวเลขผลกระทบเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ เช่นนี้อยากเสนอให้มีระบบติดตามประเมินผลกระทบจากอุบัติเหตุดื่มเมาขับ และความรุนแรงอื่นทั้ง 5 พื้นที่ก่อนขยายสู่พื้นที่อื่นๆ

ทั้งให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัดโดยเฉพาะ 5 พื้นที่เร่งนำตัวชี้วัดแผนแม่บทที่กำหนดให้ผู้บาดเจ็บตายจากดื่มเมาขับต้องลดลงปีละ 10% มาเป็นเป้าหมายกำหนดแนวทางดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการการปกครองนั้น “ท่านกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานที่ประชุม” เสนอให้กรมการปกครองจัดตั้งภาคีเครือข่ายป้องกัน และลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาร่วมเป็นคณะทำงานในการขยับนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการนี้ เพื่อรับฟังเสียงประชาชนอย่างถี่ถ้วน และรอบด้าน

ย้ำถ้าจะให้ดีจริงๆ “รัฐบาล” ต้องมีหลักประกันให้ “ผู้ตกเป็นเหยื่อ” จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ เพราะความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจไม่สามารถมาเทียบกับชีวิตของประชาชนที่ต้องสูญเสียแม้แต่รายเดียว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม