ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริง... หลายปีมาแล้ว มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสะท้อนว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่าเท่านั้น

ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบหรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล

โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเตอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่ง แถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่า...ใครก็ทำได้

ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน...นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน (จำนวนน้อย) ได้ ดังนั้น “ผู้กระทำผิด” จึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง

ยำเกรงหรือไม่ยอมเสี่ยงแค่ไหน? เป็นอีกตัวอย่างที่พบเจอโฆษณา ออนไลน์นี้แบบสดๆร้อนๆ

“ถ้าคุณเป็นความดันโลหิตสูง ต้องดู กำจัดไขมันเลว ลดคอเลสเทอรอล” ...ผลิตภัณฑ์น้ำมันงาดำสกัดเย็นผ่านการทดสอบความสามารถในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีฤทธิ์ช่วยควบคุมระบบความดันโลหิตสูงให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พรีเซนเตอร์โดยดาราดังจิตอาสาหน้าตาดีดีกรีผ่านประสบการณ์เวทีนางงาม

...

ข้อความโน้มน้าวโพสต์ในอินสตาแกรม ย้ำชื่อผลิตภัณฑ์ ระบุแก้ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลดระดับน้ำตาล ลดอาการปวดหัว... นอกจากนี้ยังมีอีกสูตรที่เจอผ่านตาย้ำชัดเจนว่า “ลดไขมัน บำรุงหลอดเลือด เพียงวันละ 1 เม็ด” โน้มน้าวเร่งเร้าเชิญชวน #ลดไขมัน ฉบับเร่งด่วน สูตร... (คนดัง)

หากสังเกตตัวเองมักมีอาการปวดหัวเรื้อรังเป็นๆหายๆ มึนหัวเหมือนคนเมาแม้ไม่ได้ดื่ม หน้ามืดอ่อนเพลียไม่มีแรง บำรุงร่างกาย ลดไขมันด้วย... “ชื่ออาหารเสริม” น้ำมันอะโวคาโดสกัดเย็น

ตบท้ายอีกโฆษณาออนไลน์เกินจริงร้อนๆหรือไม่แค่ไหน? “เซลล์ที่เสื่อมไม่ว่าเราจะบำรุงอะไรเข้าไปก็จะไม่เห็นประสิทธิภาพเต็มที่ การดูแลสุขภาพเซลล์ให้มีคุณภาพคือเป้าหมายหลักในการดูแลสุขภาพของ... (ชื่อดารา...ชื่อผลิตภัณฑ์) วันละ 1 เม็ด เหมือน (ชื่อดารา) ทุกวันนะคะ”

#ความรู้สึกจากใจของผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ “ตื่นเช้ามาไม่เบลอ รู้สึกเฟรช ทำงานหนัก ใช้สมองมาทั้งวันถึงเย็นก็ยังไม่เบลอ แต่พอไม่ได้กินไปพักนึง เช้าเข้าประชุม บ่ายไม่ไหวเลย หมดแรง...มันต่างจากตอนที่กิน (ชื่อผลิตภัณฑ์) ทุกวันมากจริงๆ”

ประเด็นน่าสนใจสำคัญมีว่า...โฆษณาชิ้นนี้มีดารานางเอกดังระดับแถวหน้าตัวแม่มากๆมาถ่ายคู่กับผลิตภัณฑ์อย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องยอมรับว่าใคร...ได้ดูก็ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อไปได้อีกหลายเท่าทวีคูณ

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้ว่า การแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งต้องมีการเฝ้าระวังตลอดเวลา

บทเรียนจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการปัญหาโดยมีช่องทางการร้องเรียนและจัดกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาผู้บริโภคที่เจอ “โฆษณาหลอกลวง” ได้... ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนและรู้ผลการดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนในกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน

สำหรับ “ประเทศไทย” ความยากอยู่ที่ทำอย่างไรข้อร้องเรียนจะนำไปสู่การจัดการให้หมดสิ้นไปได้ ...ข้อจำกัดมีอยู่มากมาย ตั้งแต่การขาดบุคลากรที่รับผิดชอบ ข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา ประชาชนขาดภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.ดร.ชื่นสุมล บุนนาค
ผศ.ดร.ชื่นสุมล บุนนาค

กลยุทธ์สำคัญ 3 ด้านที่ต้องเดินหน้าคือ...ปลุกประชาชนให้รู้เท่าทัน เสริมองค์กรผู้บริโภคให้มีพลังเข้มแข็งมากขึ้นและกดดันหน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไปแบบ “กัดไม่ปล่อย”

...

“ยา” มีสรรพคุณใช้รักษา บรรเทา ป้องกันโรค การโฆษณายาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ยาที่ได้รับอนุญาตโฆษณาต่อประชาชนทั่วไป...หากไม่ปรากฏเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆท....../...... ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโฆษณาที่หลอกลวง

ถ้อยคำต่อไปนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณายา ถ้อยคำที่แสดงว่า... รักษาโรคได้หายขาด ยอดเยี่ยม หายแน่ วิเศษยิ่ง ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ทันใจ พิเศษ ดีที่สุด เด็ดขาด หายขาด หายห่วง ฉับพลัน ทันใจ ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ เป็นหนึ่ง ที่หนึ่ง ที่สุด แน่นอน เหนือกว่า พิชิตโรคร้าย

การโฆษณายาไม่อาจแสดงสรรพคุณได้ว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคเกี่ยวกับสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต เสริมสมรรถภาพทางเพศ คุมกำเนิด ทำแท้ง

การโฆษณายาที่มีการรับรองคุณภาพโดยบุคคลอื่น เช่น บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรทางการแพทย์ สถาบันวิชาการ หรืออ้างงานวิจัย สถิติที่ไม่น่าเชื่อถือ โฆษณาที่มีการแถม หรือออกสลากรางวัล ซื้อเป็นของฝาก โฆษณาโดยไม่สุภาพ ร้องรำทำเพลง แสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย...

เหล่านี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นการโฆษณายาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วน “อาหาร” มีสรรพคุณเป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต การโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน หากไม่ปรากฏเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆอ....../...... ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นโฆษณาที่หลอกลวง ย้ำว่า...“อาหารมิใช่ยา” จึงไม่อาจโฆษณาว่าสามารถรักษา บำบัด บรรเทาหรือป้องกันโรคได้

ไม่อาจโฆษณาสรรพคุณทางเครื่องสำอาง เช่น ทำให้ผิวขาว ลดริ้วรอย ป้องกันผมร่วงได้และไม่อาจโฆษณาว่าได้รับการรับรองคุณภาพ คุณประโยชน์ โดยบุคคลอื่น บุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรทางการแพทย์ หรือสถาบันวิชาการได้

...

โฆษณาเกินจริง ต้มตุ๋น ชวนเชื่อ...มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ได้เลยว่ามีความตั้งใจที่จะทำผิดอยู่แล้ว ขณะที่คนทำโฆษณาอย่างถูกต้องก็ทำไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องเข้ามาจัดการปัญหานี้อย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้น...เมื่อเห็นเงินปลายทาง ถ้าทุกคนยอมเสี่ยง ทำผิดกันหมดจะเกิดอะไรขึ้น?

ผศ.ดร.ชื่นสุมล บุนนาค ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มองว่า การใช้สื่อดิจิทัลเป็นสื่อที่ทำให้คนเข้าถึงง่ายอยู่แล้ว จะมีเทคนิคการโฆษณาที่บิดเบือนที่สามารถเห็นผลโน้มน้าวคนได้ทันที

อาทิ ใช้รูปภาพประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนหลังมาเปรียบเทียบให้ดูน่าเชื่อถือน่าสนใจ ส่วนดาราคนดังเซเลบที่รับโฆษณาแอบแฝงต้มคนที่ว่านี้จะรู้หรือไม่ บางคน...ก็อาจจะรู้นะ? แต่เป็นเรื่องที่พูดยากถ้าเทียบกับตัวเงินที่ได้รับหรือเปล่า กระนั้นแล้วบางคนก็อาจรับโดยไม่รู้ในรายละเอียดจริงๆเลย...ก็ไม่ทราบได้

แน่นอนว่าการที่ตัวสินค้า...ผลิตภัณฑ์เวลามาจ้างก็คงจะพูดกันเจรจากันเป็นอย่างดี พูดให้ใช้จริงแต่จากนั้นจะเอาไปทำอย่างไรกับภาพเสียงที่ได้มา ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้วอยู่ที่จรรยาบรรณและคุณธรรมของผู้รับรีวิวเป็นสำคัญ จะคิดแต่เรื่องเงินหรือพิจารณาให้ความสำคัญในตัวสินค้าที่จะมารีวิวให้มากๆด้วยว่าเป็นอย่างไร...สรรพคุณจริงหรือเปล่า.