กรมควบคุมโรค แจง ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงก่อน หลังพบอัตราการตาย 1 ต่อ 10 เผย กรุงเทพฯมีแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง เชื่อยอดเสียชีวิตจะไม่ถึง 100

วันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก จะมีการระบาดใหม่หลังมีการฉีดวัควีนไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่พบว่า การเสียชีวิตคงที่ และลดลง และกลายเป็นโรคประจำถิ่นของทั่วโลกไปแล้วเช่นเดียวกัน จึงทำให้เห็นว่าการติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้เสียชีวิตทุกราย

ส่วนที่ไทย มีการรายงานผู้ติดเชื้อในช่วงระลอก 3 ของประเทศ หลักหมื่นรายหลายวัน และเริ่มเข้าสู่การระบาดเป็นวงกว้าง จึงต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยพบว่าการติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่กรุงเทพฯ ยังไม่ถึงขั้นดังกล่าวหลังมีมาตรการที่เข้มขึ้น และพบว่าในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการติดเชื้อในกรุงเทพฯเริ่มชะลอลง เชื่อว่า การเสียชีวิตจะไม่พุ่งถึง 100 ราย

ขณะที่การฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา สามารถฉีดได้ 304,243 โดส เข็มแรก จำนวน 266,314 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 37,929 ราย โดยยังเป็นแอสตราเซเนกา และซิโนแวค รวมแล้วทั้งสิ้น 15,388,939 ราย ตั้งแต่มีการเริ่มฉีด

สำหรับเป้าหมายของการฉีดวัคซีน มี 3 เรื่อง คือ

  • ลดความรุนแรงของการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อ
  • ปกป้องระบบบริการทางด้านสุขภาพให้ดูแลคนไข้ได้
  • การกลับไปใช้ชีวิตปกติ

โดยขณะนี้กำลังเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุด คือติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป ที่เสียชีวิต 1 คน ต่อ 1,000 คน หรือ 100 เท่า จึงจำเป็นต้องระดมฉีดวัคซีนก่อน

...