เมื่อการทำงานทางไกลจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่กับหลายๆ องค์กรในปี 2021 แล้วพนักงาน และองค์กรจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ชีวิตที่ยืดหยุ่นทั้งงานและการพักผ่อน
เข้าสู่ปี 2021 ชีวิตของเราก็เข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ สำหรับคนทำงานหลายคนก็ได้ทำงานในตำแหน่งใหม่ เริ่มต้นกับบริษัทองค์กรใหม่ ได้ทำงานใหม่ๆ รวมทั้งได้ทำงานในวิถีใหม่มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายคนต้องไปทำงานที่บ้าน และมันก็ผ่านกันมาได้อย่างไม่มีปัญหา มันจึงทำให้กลายเป็นรูปแบบชีวิตใหม่ ที่มนุษย์เงินเดือนจะทำงานได้จากทุกที่ ทุกเวลา เหมือนกับที่มีในต่างประเทศ
เมื่อชีวิตวนลูปกลับมาทำงานที่บ้านยาวๆ
ในสหรัฐฯ หลายๆ บริษัทยังคงให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการไอที อาทิ นายซันดาร์ พิชัย ซีอีโอกูเกิล ได้ประกาศยืดการทำงานที่บ้านไปจากเดิม มิ.ย.2021 ไปอีก 3 เดือน จนถึง ก.ย.2021 โดยหลังจากนั้นจะเริ่มกลับมาทำงานแบบที่มีคนน้อยที่สุด เข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน ขณะที่ซีอีโอของแอปเปิล ทิม คุก ประกาศในงานทาวน์ฮอลล์ของบริษัทว่า จะยังไม่กลับมาทำงานที่ออฟฟิศก่อนเดือน มิ.ย.2021 เช่นกัน
...
ด้านบริษัทหางานชั้นนำอย่าง อินดีด (indeed) คริส ไฮแอม ซีอีโอ ยังประกาศว่า พนักงานกว่าหมื่นคนของบริษัท จะยังคงทำงานทางไกล (Remote Working) จนถึงเดือน ก.ค.2021 และมีความเป็นไปได้ที่จะให้บุคลากรทำงานแบบนี้เป็นการถาวรรายกรณีไป รวมไปถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์อย่าง อเมซอน ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซีแอตเติล เจฟ เซซอส ซีอีโอ ก็อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านยาวไปจนถึงเดือน ม.ค.2021
จากรูปแบบการทำงานของบริษัทชั้นนำที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อเทคโนโลยีทำให้การทำงานเกิดขึ้นได้ทุกที่ และการมีโควิด-19 มาเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลในการทำงานอย่างรวดเร็ว เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from Home) อันเป็นทางเลือกที่แทบทุกบริษัทเลือกใช้กันอยู่ โดยเริ่มกันมาตั้งแต่คนไทยเผชิญกับวิกฤติฝุ่น PM 2.5 แล้ว
ยุคแห่งการปรับตัวเข้าสู่การทำงานนอกออฟฟิศ
เมื่อมาพิจารณาเรื่องการทำงานที่บ้าน ถือเป็นทางเลือกที่แทบทุกองค์กรเลือกใช้งานมากที่สุด และดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ข้อมูลจาก ดร.ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ได้ระบุว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ประเมินว่า 20% ของบริษัทไทยปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสำนักงาน
อีกหลายองค์กรที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมหรือเวิร์คช็อป เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลเราพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนมาออนไลน์ ทำงานที่บ้าน
ดร.ภิรตา ได้แนะนำแก่เหล่าคนทำงานมนุษย์เงินเดือนว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะ ทักษะความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันกับโลกยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในทุกขณะ
ทำงานจากระยะไกล เวิร์คสไตล์ที่ใช่ของปี 2021
อีกส่วนสำคัญมาก คือ การทำงานทางไกล (Remote Working) เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มองว่าไม่น่าจะเกิดได้รวดเร็ว สำหรับการทำงานที่ไหนก็ได้ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต เช่น การออกไปทำงานที่ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ป่าเขาริมชายหาด เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานได้
ข้อมูลของบริษัทซอฟต์แวร์ LARK ระบุเหตุผลที่จะทำให้การทำงานระยะไกล จะเป็นแนวการทำงานในอนาคตนับจากนี้ว่า เหตุผลอย่างแรก วิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) นั้นแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือผู้ที่เกิดช่วง พ.ศ.2523-2543 คนกลุ่มนี้กำลังเติบโต และกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในองค์กรธุรกิจ ที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบริษัท และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงาน
...
จากผลศึกษาของมหาวิทยาลัย Bentley พบว่า คนยุคมิลเลนเนียล มีความคิดว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นจะทำให้งานของพวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้นถึง 77% องค์กรโดยทั่วไปหากมีพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 ต้องการความเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน และเมื่อนำรวมกับแนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ปรารถนาจะเดินทางและสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจได้ดีว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งเป็นความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่
เหตุผลที่ 2 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิต และการทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด อุปกรณ์พกพาที่เก็บไว้ในกระเป๋า อย่างโทรศัพท์มือถือสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ได้ภายในเสี้ยววินาที และทำให้ตระหนักดีอีกกว่า อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นและเสถียรขึ้น ได้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลก แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสุดก็ตาม
เหตุผลข้อสุดท้าย คือ เมื่อโลกไร้พรมแดน บริษัทระดับโลกได้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตการทำงานทางไกลกันมาหลายทศวรรษแล้ว เพราะบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มักจะมีทีมงานกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น บริษัทในสิงคโปร์ หากมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ก็จะเน้นใช้การทำงานทางไกลเป็นหลัก โดยมีโซลูชั่นด้านไอที ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ตรงตามเวลาแม้อยู่ต่างที่ หรือมีระบบแปลภาษาสำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น
องค์กรต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ สามารถยืดหยุ่นได้
เมื่อหลายบริษัทเริ่มมีการทำงานทางไกล หรือระยะไกลมากขึ้น มีการเพิ่มวันในการทำงานอยู่บ้าน มีข้อแนะนำจาก นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (ABeam) ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านการทำดิจิตอลทรานส์ฟอเมชั่น ให้ข้อมูลว่า มีสามปัจจัยที่จะทำให้การเปลี่ยรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานระยะไกลได้ผล ประกอบด้วย 1.การพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกล 2.การใช้ประโยชน์จากกระบวนการทำงานอัตโนมัติ และ 3.การใช้ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานระยะไกลที่แข็งแกร่ง
1.การพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกล วัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่นโยบายบริษัทว่าจะทำแบบชั่วคราว หรือทำถาวร มาตรการชั่วคราวทำให้พนักงานไม่พบแรงจูงใจในการปรับทัศนคติในการทำงานดังกล่าว และผลผลิตโดยรวมลดลง กลับกัน บริษัทที่มีแผนระยะยาวที่สนับสนุนให้ทำงานจากทางไกล พบว่าแบบถาวรช่วยเพิ่มอารมณ์ในการทำงานของพนักงาน โดย 50% ของพนักงานจะรู้สึกว่าทำงานได้มีประสิทธิผลมากกว่าเดิม อีก 32% รู้สึกว่ามีประสิทธิผลในระดับเดียวกัน และมีเพียง 18% เท่านั้นที่รู้สึกว่าการทำงานมีประสิทธิผลน้อยลง ในด้านสุขภาพของพนักงาน จากเดิมมีเพียง 50% ที่กินอิ่มนอนหลับ แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 78% และ 80% ตามลำดับ
ทั้งนี้ รูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับพนักงานนั้นสามารถสรุปได้ คือ ตามความต้องการของผู้ตอบคำถามในระหว่างการสำรวจ ในแง่ของผลิตผลที่ดีที่สุด คือ ทำงานทางไกล 2 ถึง 3 วัน และส่วนที่เหลือให้ทำในสำนักงาน โดยสามารถใช้โควตาตามต้องการ (Floating quotas) โดยมีกระบวนการและระบบที่เหมาะสมรองรับ
2.รูปแบบการทำงานแบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือที่ช่วยรังสรรค์วัฒนธรรมการทำงานจากระยะไกลให้แข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้น บริษัทที่ประสบผลสำเร็จและมีผลิตภาพสูง ต่างได้ขับเคลื่อนเข้าสู่ดิจิตอล โดยไม่หยุดและเพิกเฉยที่จะดำเนินการต่อสู้เพียงเพื่อการอยู่รอด มองหาจุดที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุง และมุ่งสู่วิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่ม ลดปริมาณงาน และการทำงานซ้ำซ้อนแบบระบบข้าราชการลง แต่ละขั้นตอนอาจลดเวลาต่อการทำธุรกรรมได้เพียงไม่กี่นาที แต่การเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรมเล็กๆ แต่หลายๆ ประเภท จะช่วยสะสมการลดทอนเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงสัญญาณที่ชัดเจนของผลตอบแทนจากการลงทุน
3.ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการทำงานจากระยะไกล เป็นพื้นฐานเทคนิคที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการขับเคลื่อนสองเรื่อง กล่าวคือ ในปี 2563 ไม่ใช่ปีที่มีเพียงโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นปีที่การระบาดด้านภัยคุกคามไซเบอร์ มีเครื่องเดสก์ท็อปที่อยู่ระยะไกลจำนวนมากที่ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% (ที่มา: Channel Futures) ส่งผลให้เกิดการโจมตีโดยการคาดเดาชื่อและรหัสผ่าน หรือ brute-force attack สูงขึ้น 400% เฉพาะในเดือนมีนาคม และเมษายนที่ผ่านมา (ที่มา: Catalin Cimpanu จาก ZDNet) บริษัทเกือบทั้งหมดได้ติดตั้งระบบความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามในสำนักงานที่มีข้อจำกัดในเชิงกายภาพด้านสถานที่ตั้ง และยังต้องยกระดับไปยังผู้ใช้แต่ละราย ที่ทำงานจากสถานที่ทางเลือกอื่นๆ
"ผลกระทบจากโรคระบาด จะส่งผลต่อเนื่องอีกนานถึงปี 2564 ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ องค์กรธุรกิจควรจะประเมินการณ์ใหม่ในการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะทำงานจากระยะไกล และนำมาใช้เช่นเดียวกับบริษัทอีกจำนวนมาก ที่มีรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิผลในการทำงาน ควบคู่กับความยืดหยุ่นที่ขานรับกับความไม่แน่นอนใดๆ ในอนาคต เพื่อรองรับการทำงานที่ต่อเนื่องของธุรกิจ" นายฮาระ กล่าว
...
เทคโนโลยีพร้อม องค์กรพร้อม แล้วอุปกรณ์ที่บ้านพร้อมหรือยัง
การทำงานที่บ้าน นอกจากอุปกรณ์หลักอย่าง คอมพิวเตอร์ หรือ โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป หรือจะเป็นอุปกรณ์แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน แล้วการใช้โปรแกรมอื่นๆ นอกเหนือจากโปรแกรมทำงานหลักที่มีติดเครื่องอย่างตระกูลออฟฟิศ หรือ กูเกิลแอป ก็จะมีโปรแกรมสำหรับการสื่อสารและประชุมออนไลน์ เช่น Microsoft Team, Zoom, Line, Google Hangouts โปรแกรมสำหรับจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านคลาวด์ เช่น One Drive, Google Drive และ Dropbox เป็นต้น
จัดเตรียมสถานที่ ห้องทำงานให้พร้อม
เมื่อต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น จำเป็นที่เราต้องจัดห้อง หรือ หามุมทำงานให้พร้อม โดยควรเป็นห้องทำงานแยกออกมา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรบกวนจากคนในครอบครัว เด็กหรือสัตว์เลี้ยง เลือกโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ ที่สามารถนั่งทำงานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจเป็นโอกาสดีที่จะมองหาโต๊ะทำงานใหม่ รวมทั้งเก้าอี้ทำงานโดนๆ อย่างเก้าอี้เกมเมอร์ ที่สอดรับกับสรีระก็เหมาะกับการนั่งทำงานยาวๆ แถมยังเท่อีกด้วย
...
อย่าลืมสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ Work Life Balance ต้องมี
แม้ว่าการทำงานที่บ้านนั้นจำเป็นต้องเตรียมพร้อม รับคำสั่งจากนายจ้าง/ผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเตรียมพร้อมจดจ่อตลอดเวลา พนักงานก็ควรหาจุดสมดุลในการทำงาน โดยจัดสรรเวลาการทำงานให้เหมือนอยู่ที่ออฟฟิศ พยายามอย่าให้เวลาในการทำงานมาเบียดบังเวลาส่วนตัว หรือเวลาพักผ่อนของตนเอง ทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และหาเวลาออกกำลังกาย ใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากองค์กรให้ความสำคัญกับสวัสดิการควบคู่ไปกับการสนับสนุนความแตกต่างของไลฟ์สไตล์ของพนักงาน จะทำให้พนักงานจัดการชีวิตการทำงานและเรื่องส่วนตัวได้ดียิ่งขึ้น
ปิดท้ายด้วย ถ้าคิดจะพักก็ควรพัก ควรเว้นวรรคเรื่องงาน
นั่งทำงานมาเนิ่นนานพานจะหมดแรง และหมดไฟกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ แม้ว่างานจะผสานกับเข้ากับชีวิตประจำวัน จนเหมือนว่าเราอาจจะแบ่งแยกมันออกจากกันได้ แต่สุดท้าย หากงานไหลมาเรื่อยๆ เราก็อาจจะกลุ้มใจ และเครียดเพราะทำงานไม่ได้พัก หรือจะพักก็ได้ไม่เต็มที่ เพราะห่วงงานที่มาไม่หยุด
ข้อมูลจากหนังสือ "Work Life Balance ด้วยการหยุดพักจริงๆ" ของ นายแพทย์มาซากิ นิชิดะ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน ระบุว่า
การป้องกัน "ภาวะซึมเศร้าในวันหยุด" ที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือ การแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ แบบคร่าวๆ เช่น แบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ถ้าใช้เวลาช่วงเช้าคิดงานแล้ว เวลาช่วงบ่ายจะตัดเรื่องงานออกไป 100 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เวลากับเรื่องที่ตนเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกาย หรือดูภาพยนตร์ หรือจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เช้า บ่าย และกลางคืน ก็ได้เช่นกัน หรือยอมจำนนไปเลยว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่คิดเรื่องงานในวันหยุด แล้วกำหนดว่าช่วงเวลาใดจะทำงานหรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆ
ถ้ากำหนดแบบนี้ ถึงแม้ตอนเช้าจะดูโทรทัศน์ ดูหนัง ดูซีรีส์ไปเรื่อยเปื่อย แต่ช่วงบ่ายได้วางแผนทำงานอย่างอื่นไว้แล้ว จึงสามารถเปลี่ยนโหมดความรู้สึกได้ง่ายขึ้น การปล่อยกายปล่อยใจโดยไม่สนใจเวลาในวันหยุด เป็นการใช้วันหยุดได้อย่างคุ้มค่า แต่ที่กล่าวมาทำได้จริงยาก หากสภาพแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไปเลย เช่น เที่ยวพักผ่อนตามรีสอร์ต คงสามารถใช้ชีวิตอย่างสนุกและลืมเรื่องงานไปได้ แต่ต้องคำนึงว่าวันหยุดเกือบทั้งหมดของเราคือการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตัวเอง คุณหมอท่านเลยสรุปว่า "การแบ่งเวลาวันหยุดออกเป็น 2 หรือ 3 ช่วง คือ อย่างแรกที่อยากให้ลองทำดู เพื่อวางแผนวันหยุดพักผ่อนว่าจะทำอะไร จะใช้เวลาอย่างไร".