เข้าสู่ปลายปีห้วงฤดูหนาว พายุยังคงดาหน้าเข้าไทยไม่หยุด แต่โชคดีอ่อนกำลังลง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่รุนแรง ยกเว้นพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง กลับเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก เพราะน้ำเก่าไม่ทันแห้ง น้ำใหม่กำลังเข้ามาเติม และขณะนี้พายุดีเปรสชัน “โคนี” พาดผ่านมาไทย จะส่งผลกระทบไปถึงวันที่ 7 พ.ย.นี้ พร้อมกับการเตรียมพร้อมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในระยะเวลาอันใกล้
ทำไมปลายปีนี้มี "พายุ" เข้ามาอย่างต่อเนื่อง คำตอบคือ “ลานีญา” เป็นตัวการทำให้สภาพอากาศแปรปรวน จนยากจะคาดเดาได้เพื่อการตั้งรับก่อนเกิดความเสียหายตามมา “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” และออกมาเตือนอีกครั้งว่าจะมีพายุโซนร้อนอีก 2 ลูกเข้ามา ต่อจากพายุดีเปรสชัน “โคนี” เริ่มจากพายุลูกแรก จะเข้าประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงบ่ายวันที่ 7 พ.ย. ก่อนเข้าเวียดนาม ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบกับไทย ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย.
...
หลังจากนั้นจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ เป็นพายุอีกลูกเข้าประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 11 พ.ย. ก่อนเข้าเวียดนามในวันที่ 14 พ.ย. และความกดอากาศสูงเข้ามาสมทบจนเกิดร่องความแรงมากขึ้น ทำให้ต้องระวังพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ ภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมขังยังไม่ลดลง จะได้รับผลกระทบหนักอีก
“ปีนี้มีพายุส่งผลกระทบต่อไทยประมาณ 8-9 ลูก มากกว่าปี 2554 และมีความแตกต่างตรงที่พายุเหล่านี้มาตอนปลายปี หากมาเร็วตั้งแต่เดือน พ.ค. ประเทศไทยคงจะเกิดน้ำท่วมหนัก เหตุที่พายุเข้ามาเยอะ เนื่องจากเป็นปีลานีญา เข้ามาปลายปี คล้ายๆ กับปลายปี 2553 ก่อนจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เพราะฉะนั้นต้องเฝ้าระวัง และพายุแต่ละลูกเข้าใกล้ไทยมาก มาทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างจากทุกครั้งที่เข้ามาตอนบนทางเกาหลีใต้ ทำให้ไทยโดนเต็มๆ”
สิ่งสำคัญในขณะนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ปีหน้าว่า ฝนจะมาเร็วหรือไม่ หากพายุลูกแรกเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค. ถือเป็นสัญญาณไม่ดีออกมาเตือน หรือเดือน มี.ค.ปีหน้า เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ก็ต้องควรระวัง อย่างไรก็ตามในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้ต้องระวังเตรียมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก นำ้ท่วม ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ส่วนกรุงเทพฯ ไม่น่ากังวล ได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพียงแค่ฝนตกปรอยๆ ทำให้อากาศเย็นลง คาดว่าจะเย็นยาวนานไปถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า
“สภาพอากาศต้องดูและประเมินสัปดาห์ต่อสัปดาห์ พอพายุโคนีเข้ามา ก็มีพายุเข้ามาต่อๆ 3 ลูกติดกันในเวลาไล่เลี่ย อยากเตือนว่าที่ผ่านมา เรามีบทเรียนมาแล้วจากปี 2553 มีการคาดการณ์ว่า ลานีญา จะแผ่วลง แต่พอมาถึงเดือน มี.ค. ปี 2554 ลานีญา มันกระดกกลับมาอีก จากสภาพอากาศแปรปรวนคาดเดายาก ต้องรอประมาณเดือน ม.ค. ถึง ก.พ.ปีหน้า จะต้องประเมินอีกทีหนึ่ง”
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี กำลังให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” อยู่นั้น ระบุว่า เพิ่งได้รับข้อมูลฝนในปีหน้า ซึ่งพบว่าจะมาเร็วตั้งแต่ต้นปี โดยมาจากภาคใต้ ก่อนเข้าภาคกลาง นั่นแสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่าง บ่งชี้สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกันมากเหมือนปี 2554 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่
...
ในส่วนข้อมูลที่ได้มาอยากให้เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง แต่ควรเฝ้าระวัง เพื่อความไม่ประมาท และในเวลาอันใกล้นี้พื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง จะเย็นมากที่สุดในไทย โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค. ถึง เดือน ก.พ. อุณหภูมิเฉลี่ยน้อยกว่า 1 องศาฯ รองลงมาภาคเหนือ และภาคกลาง โดยอุณหภูมิจะต่ำกว่าปกติ 0.5-1 องศาฯ.