• 20 ธ.ค.63 กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ.
  • เป็นการเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ครั้งแรกในรอบ 6 ปี  
  • คุณสมบัติ ข้อห้าม ข้อกำหนด ข้อควรปฏิบัติ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  

วันที่ 26 ตุลาคม 2563 กกต.ได้ออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. โดยมีการรับสมัครเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2563

พร้อมกำหนดวันเลือกตั้ง คือ วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563

ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ  6 ปี หลังมีการ รัฐประหาร รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหลังจากนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งเทศบาล อบต. กทม. จะทยอยตามมา 

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. กำหนดเปิดรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2563

1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) ผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(4) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา (เฉพาะผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด)

...

จากนั้น กกต.ใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร อีก 7 วัน ก่อนประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 

และหลังจากนั้น การหาเสียงจะเข้มข้นโดยลำดับ 

2. ข้อกำหนด-ข้อห้ามในการหาเสียง

พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 65 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง และวิธีการหาเสียง ข้อห้ามในการหาเสียง

ห้ามให้ผู้ใดหรือผู้สมัครมีการจัดทำเสนอให้สัญญาว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือเงินทองหรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้เพื่อชักจูงให้บุคคลหรือสมาคมกลุ่มบุคคล ลงคะแนนให้ตัวเอง(ห้ามหาเสียงโดยวิธีโฆษณาหาเสียงรื่นเริง ห้ามการหาเสียงโดยวิธีการจัดเลี้ยง ห้ามการหาเสียงโดยวิธีการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับและถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 

ทั้งนี้ การหาเสียงผ่านโซเชียลหรือ แอปพลิเคชันต่างๆ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการในลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้สมัครจะหาเสียงทางโซเชียล หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถทำได้ แต่หากมีค่าใช้จ่าย ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครนายก อบจ.จังหวัด และ ส.อบจ.

นอกจากน้ี พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ มีข้อห้ามข้าราชการการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ส.ส., ผู้ช่วยดำเนินงาน ส.ส. รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ช่วยผู้สมัครหาเสียง

3. วงเงินในการหาเสียง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร นายก อบจ. และสมาชิก อบจ. กกต.ได้ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 76 จังหวัด แตกต่างกันไป

โดยจังหวัดที่มีจำนวนเงินค่าใช้จ่ายสูงสุดในครั้งนี้ คือ จ.นครราชสีมา การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใช้เงินหาเสียงได้ไม่เกิน 19,000,000 บาท และการเลือกตั้ง ส.อบจ. ใช้ได้ไม่เกิน 440,000 บาท

รองลงมา จ.อุดรธานี แบ่งเป็น การเลือกตั้งนายก อบจ. 15,120,000 บาท การเลือกตั้งสมาชิก อบจ. 380,000 บาท 

ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม แบ่งเป็น การเลือกตั้งนายก อบจ. 1,200,000 บาท การเลือกตั้งสมาชิก อบจ. 200,000 บาท 

4. ผู้ช่วยเหลือในการหาเสียง

ก่อนที่จะดำเนินการหาเสียง โดยมีผู้ช่วยเหลือในการหาเสียง ต้องแจ้งผู้ช่วยเหลือในการหาเสียงไปที่ กกต.จังหวัดก่อนว่ามีกี่คนทำหน้าที่อะไร จ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ต้องแจ้งรายละเอียด รวมถึงเรื่องการขับรถโฆษณาหาเสียงต้องแจ้งรายละเอียดไปที่ กกต.จังหวัด 

ในส่วนของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

5. การเตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้ง

(1.) 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ที่ที่ว่าการอำเภอที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชน หรือที่เลือกตั้ง
(2.) 15 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง เจ้าบ้านจะได้รับหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลและที่เลือกตั้ง
(3.) 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองหรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มขึ้น-ถอนชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น

...

6. หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง

(1.) บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
(2.) บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

สุดท้าย ผู้นำท้องท้องถิ่นควรมีลักษณะอย่างไร

7. ควรจะเลือกใคร

"เป็นคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น รับรู้ปัญหาของท้องถิ่น มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว มีการหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ผิดกฎหมาย เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไขโดยเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและปฏิบัติได้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนา เป็นแบบอย่างของการรู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวม มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของ"

 20 ธันวาคมนี้ ไปใช้สิทธิ์ของความเป็นคนไทย เลือกคนดีไปทำหน้าที่ในสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด หลังจากร้างราไม่มีการเลือกตั้ง มาถึง 6 ปี 

"อย่าเลือกคนทุจริต อย่าคิดขายเสียง" 

ขอบคุณข้อมูลจาก กกต.