ที่สังคมคาใจ รอดทุกข้อหา ขีดเส้น-15 วัน ให้ได้คำตอบ
ตำรวจ-อัยการอยู่ไม่ติด เด้งรับลูก “นายกฯ” สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จ จริงคดีบอส หลุดหมายจับ “ศรีสุวรรณ” ขย่มบิ๊กตู่รายวัน จี้เร่งสอบอัยการตำรวจ ยกข้อกฎหมายคำสั่งอาจไม่ชอบ “ธนาธร” ได้ทีขยี้รัฐบาลซ้ำ หากประชาชนหมดศรัทธา แผ่นดินจะเดือดดาล “สิระ” เตือน อสส.-ผบ.ตร. 29 ก.ค.นี้ อย่าส่งตัวแทนมาแจง กมธ.กฎหมาย “น้องบิ๊กป้อม” อดีตประธานคณะ กมธ.กฎหมาย สนช. มอบ “ธานี” แจงหลังถูกโยงเป็นจุดเปลี่ยนประวิงเวลาจนอัยการสั่งไม่ฟ้อง ด้านเสี่ยเบนซ์เมาขับชนรถรองตี๋ ชี้คดีตนจบแล้ว ขออย่าเอาไปโยงคดีบอส เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน อีกทั้งจะสะเทือนใจเด็กๆที่มีสภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว
จากประเด็นร้อนประชาชนทั้งประเทศและตำรวจชั้นผู้น้อยวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม หลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา จากเหตุขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.55 โดยตำรวจหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าท้องที่หรือ ตม.ต่างถอนหมายจับรวมทั้งประสานตำรวจสากล ถอนหมายแดง “อินเตอร์โพล” เป็นเหตุให้นายวรยุทธที่หลบหนีอยู่นอกประเทศพ้นผิด สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ กรณีดังกล่าวทำให้ภาคการเมืองหลายฝ่ายจี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยโฆษกฯสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดตามข่าวนี้ด้วยความไม่สบายใจ ยืนยันไม่เคยช่วยเหลือใคร และสั่งสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงขั้นตอนอัยการตามที่เสนอข่าวไปนั้น
...
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 ก.ค.พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึง การวิพากษ์วิจารณ์และเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่กรณีพนักงานอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกี่ยวกับการดำเนินการของข้าราชการตำรวจ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 10 ราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
วันเดียวกัน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่พิเศษ/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีสรุปว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีข่าวการพิจารณาสำนวนคดีโดยมีคำสั่งไม่ฟ้อง และ ผบ.ตร.เห็นชอบเป็นสำนวน ส.1 เลขรับ 107/2563 ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัด อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 19 ประกอบ มาตรา 27 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร โดยมีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ให้ดำเนินการโดยด่วนที่สุด
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก อสส. 1 ในคณะทำงานเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานทุกคนรับทราบคำสั่งแล้ว ประธานคณะทำงานได้สั่งให้ตนในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานเร่งประสานคณะทำงานทุกคนเพื่อประชุมโดยเร็ว คาดว่าอาจจะนัดประชุมได้ในวันที่ 28 ก.ค. เพราะอัยการต้องการให้ความจริงปรากฏเร็วที่สุด เบื้องต้นจะศึกษาสำนวนก่อนว่าสั่งคดีอย่างไร ส่วนแนวทางการตรวจสอบประธานคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อถามว่า ผลการตรวจสอบของคณะทำงานจะมีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้หรือไม่ นายประยุทธปฏิเสธออกความเห็น
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า คดีของนายบอสถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเพราะเป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้นๆของประเทศ แต่เหตุแห่งคดีไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวน เมื่อเปรียบเทียบกับคดีที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชนรอง ผกก.เสียชีวิต อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุด แม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตาย 45 ล้านบาทก็ตาม แต่คดีที่ผู้ตายมียศแค่ ด.ต. ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน ชี้ให้เห็นถึงการใช้แท็กติกในการทำสำนวนคดี หรือประวิงเวลา ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหาขาดอายุความ แต่ข้อหาสุดท้ายคือขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้าน เป็นข้อพิรุธที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีควรตั้งกรรมการสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่านายกฯไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการไม่ได้
นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปี ย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกรณีของนายวรยุทธความปรากฏว่า อัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ส่วนนายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.กฎหมายฯได้ส่งหนังสือเชิญอัยการสูงสุด ผบ.ตร. และตำรวจ 5 นายที่เกี่ยวข้องกับคดี เข้าชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯในวันที่ 29 ก.ค. อยากให้มาชี้แจงด้วยตัวเองอย่าส่งตัวแทนมา ไม่เช่นนั้น จะส่งหนังสือเชิญไปอีกครั้ง หากทุกท่านต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมจริง ควรให้ความร่วมมือ เพราะประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อองค์กรของท่านและความศรัทธาของประชาชน อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กมธ.กฎหมายฯจะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้แน่
...
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในความสองมาตรฐาน แง่หนึ่งคนรวยคนมีอำนาจทำผิดกฎหมายไม่ต้องเข้าคุก ขณะที่คนเล็กคนน้อยคนที่ไม่มีเงินไม่มีอำนาจ ทำผิดกฎหมายถูกติดคุกติดตาราง ความยุติธรรมเป็นเสาหลักสุดท้ายของสังคม ในภาวะที่ประชาชนหมดศรัทธากับสถาบันองค์กรการเมืองต่างๆ เมื่อประชาชนหมดศรัทธากับความยุติธรรม สังคมจะล่มสลาย ความยุติธรรมคือ ที่พักพิงสุดท้าย การเอากระบวนการยุติธรรมไม่ว่าตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือองค์กรอิสระ อย่าง กกต. ป.ป.ช. รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในวันที่ประชาชนไร้สิ้นความหวัง หมดศรัทธากับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม แผ่นดินจะเดือดดาล ไม่อยากให้สังคมไปถึงจุดนั้น เรื่องนี้ต้องกลับมาที่รัฐบาลว่า จะกล้าเอาคนผิดมาลงโทษหรือไม่ นายกฯพูดเสมอว่าให้ประชาชนทุกคนทำตามกฎหมาย คำถามคือรัฐบาลทำตามกฎหมาย ยื่นความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่
ด้านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ออกแถลงการณ์กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา ถูกตั้งข้อหาเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา รวมถึงข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ 1.ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการคดีอาญากับนายวรยุทธ โดยละเอียดและอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนถึงผลของคดีที่ขาดอายุความและการใช้ดุลพินิจไม่ฟ้องคดีอาญา และ 2.ตรวจสอบว่าการดำเนินการและการใช้ดุลพินิจดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตและโปร่งใสหรือไม่ หากพบว่าในขั้นตอนใดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สุจริต หรือไม่โปร่งใส ให้พิจารณาดำเนินการและใช้ดุลพินิจใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและหลักนิติรัฐ เพื่อกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อรักษากำลังใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความภาคภูมิใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
...
มีรายงานว่า หลังมีการเปิดเผยข้อมูลมีอดีตคณะกรรมาธิการกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำเรื่องขอให้อัยการส่งกลับคดีให้ตำรวจทบทวน เพราะมีพยานใหม่ หลังทนายความนายวรยุทธ อยู่วิทยา เข้าร้องขอความเป็นธรรม จนมองว่าเป็นการพยายามช่วยประวิงเวลา เป็นจุดเปลี่ยนในการที่อัยการไม่สั่งฟ้องคดีดังกล่าวนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวโทร.สอบถามไปยัง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. และอดีตประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย สนช. เพื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ โดย พล.ร.อ.ศิษฐวัชรชี้แจงสั้นๆว่า ไม่วันที่ 29 หรือ 30 ก.ค.นี้ จะให้นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. อดีต กมธ.กฎหมายฯ เป็นผู้แถลงรายละเอียด นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวพยายามโทร.สอบถามไปยังอดีต กมธ.หลายคน ส่วนใหญ่ตอบไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่ขอให้รายละเอียด บางคนกล่าวตัดบทว่าติดราชการ บางคนไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยืนยันว่ามีการขอประวิงเวลาไปที่ กมธ.กฎหมาย สนช.หรือไม่
วันเดียวกัน สำนักงานยุติธรรม เปิดเผยเอกสารกรณีอัยการยื่นอุทธรณ์คดีนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ หรือเสี่ยเบนซ์ เจ้าของธุรกิจอะไหล่รถยนต์ เป็นจำเลย ในคดีขับรถเบนซ์ชนรถเก๋ง พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล กับภรรยาจนถึงแก่ความตาย และบุตรสาวคนเล็กได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดเดือน เม.ย.62 สรุปว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปตั้งแต่ เม.ย.63 เห็นว่า แม้พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่หลังเกิดเหตุจำเลยมิได้หลบหนีและยังเยียวยาครอบครัวผู้ตาย การรอการลงโทษจำคุกน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมยิ่งกว่าการลงโทษจำคุกดังที่จำเลยแก้อุทธรณ์มา ส่วนคำพิพากษาที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ว่าเคยมีคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ในคดีดังกล่าวนั้นมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ คดีดังกล่าวยังไม่มีการบรรเทาผลร้ายในการกระทำของจำเลยจนเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายผู้ตายดังเช่นคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีนี้จึงถึงที่สุด โดยคู่ความไม่มีฎีกา อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า อัยการประสงค์จะยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อและขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา แต่ศาลยังไม่มีคำสั่ง
...
ขณะที่นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ หรือเสี่ยเบนซ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่าคดีของตนจบแล้ว โดยศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาในช่วงโควิด-19 เกิดใหม่ๆ โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้รอลงอาญา ไม่อยากให้เอาคดีของตนไปโยงกับคดีนายบอส เพราะข้อเท็จจริงต่างกันและไม่อยากให้เป็นข่าวเพราะจะสะเทือนใจเด็กๆ เพราะตอนนี้เด็กๆมีสภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว