ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ในช่วงโควิด-19 พบว่าเขตเมืองต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ มีปริมาณขยะรวมลดลง โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลงจากปกติ 10,560 ตันต่อวัน เป็น 9,370 ตันต่อวัน หรือลดลง 11% ภูเก็ต ลดลงจาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน ลด 13% นครราชสีมา ลดลงจาก 240 ตันต่อวัน เป็น 195 ตันต่อวัน ลดลง 19% เมืองพัทยา จาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน ลด 55% เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง โดยเฉพาะจากการสั่งอาหารรูปแบบดีลิเวอรี ส่งถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งมีหลายจังหวัดในประเทศไทย ทำให้ขยะพลาสติก เพิ่มขึ้นกว่า 60% ในเขตกรุงเทพฯและเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา

ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต่อว่า การบริการอาหารในรูปแบบดีลิเวอรี เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง พร้อมๆกับการเติบโตของระบบการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีการขยายตัวชัดเจนมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ต่างๆ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการเดินทางที่ไม่สะดวก ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่าจะเติบโตประมาณในสถานการณ์ปกติปีละ 10-20% แต่ในช่วงโควิด-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือน มี.ค.และ เม.ย.นั้นได้มีการเติบโตมากว่า 300%

จากรายงานของกรุงเทพฯ พบปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด 3,440 ตัน/วัน ของปริมาณขยะทั้งหมด 9,370 ตันต่อวัน ในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มี 2,120 ตันต่อวัน โดยเพิ่มขึ้น 1,320 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62% ประกอบด้วย ขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ 660 ตัน/วัน และขยะพลาสติกปนเปื้อน 2,780 ตัน/วัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีปริมาณขยะพลาสติกปนเปื้อนเพิ่มขึ้นจากช่วงสถานการณ์ปกติ อาจมีสาเหตุมาจากมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การสั่งสินค้าออนไลน์ รวมถึงการสั่งซื้ออาหารดีลิเวอรีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้นต่อการสั่งอาหารแต่ละครั้ง หรืออาหารบางประเภทอาจมากถึง 10 ชิ้น.

...