อ.จุฬาฯ ชี้วิกฤติ 'โควิด-19' พลิกแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดี เหตุเพราะมนุษย์หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการหยุดทำกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นดัชนีสอนมนุษย์ควรเปลี่ยนวิธีคิด 'ป้องกันก่อนวิกฤติ'

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชา วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทำให้มนุษย์ได้รับบทเรียนในการแก้ปัญหาโลกร้อน แม้ทั้งสองปัญหาจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่วิกฤติโควิด-19 กับปัญหาโลกร้อนคล้ายคลึงกัน คือ ปัญหาสำคัญระดับโลกที่สร้างผลกระทบไปทุกประเทศ และสิ่งที่แตกต่างกัน คือ สถานการณ์โควิด-19 เกิดวิกฤติก่อนแล้วมนุษย์จึงหาวิธีการป้องกัน ขณะที่ปัญหาโลกร้อน มนุษย์สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติได้ นั้นคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมนุษย์หยุดทำกิจกรรมจากมาตรการกักตัว และเว้นระยะห่างทางสังคม จึงลดปริมาณก๊าซคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากหยุดเดินทาง คาดการณ์ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 5%


รศ.ดร.สุชนา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้มนุษย์ยังหยุดทำกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ทิ้งขยะลงทะเล หรือ แม่น้ำลำคลองจึงทำให้ขณะนี้มหาสมุทรหรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสัตว์ และพืช ได้รับการฟื้นฟูเพราะสามารถเติบโตได้ดีตามธรรมชาติ แตกต่างจากก่อนสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ย้ำเตือนว่าเมื่อเกิดวิกฤติถึงจึงมาหาแนวทางป้องกันด้วยการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัส แต่สำหรับปัญหาโลกร้อนไม่มีวัคซีนชนิดใดๆ ป้องกัน หรือ รักษาได้แนวทางแก้ปัญหามีหนทางเดียว คือ มนุษยชาติต้องช่วยกันป้องกันไม่สร้างผลกระทบด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องถูกทำลาย

...