เรื่องใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม ขอทุกคนประหยัดน้ำนับตั้งแต่วันนี้ แม้สถานการณ์ภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงในขณะนี้ แต่จากนี้ไปให้เตรียมรับมือ คาดกันว่าปี 2563 ภัยแล้งจะรุนแรงมากๆ ในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522
ข้อมูลควรรู้กับสภาพอากาศในบ้านเราที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ณ เวลานี้ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความตื่นตระหนก โดยนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” บอกอย่างชัดเจนปี 2563 ประเทศไทยจะเผชิญภัยแล้งรุนแรง อาจเทียบเท่ากับปี 2522 ที่เคยเกิดภัยแล้งติดสถิติอันดับ 1 สูงสุด โดยสัญญาณภัยแล้งคืบคลานมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และกรมอุตุนิยมวิทยาเคยย้ำเตือนมาแล้ว เพราะจากนี้ไปจนถึงเดือน พ.ค. สถานการณ์ภัยแล้งจะน่าห่วงมาก ซึ่งฝนจะมาล่าช้า ทำให้น้ำในลำคลองต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยมากยิ่งขึ้น
"ที่ผ่านมาน้ำในคลองไม่พอใช้อยู่แล้ว จะยิ่งหนักในปีนี้ กระทบต่อการทำน้ำประปา จึงได้ร่วมกับกรมชลประทานทำแผนจัดการน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ ก็ยิ่งไม่มีน้ำใช้ เพราะฝนจะตกล่าช้ายาวไปประมาณเดือน มิ.ย.หรือ ก.ค. มีปริมาณฝนเพียง 20-30 มม. และจะมาตกอีกรอบ มีปริมาณ 100 มม. ซึ่งตกไม่ต่อเนื่อง เป็นพฤติกรรมฝนที่แตกต่างจากเดิมที่เคยตกหนักก็จะหนักตลอด เป็นความน่าห่วง หากรวมปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศถือว่าปีนี้ฝนตกน้อย หรือบางที่เช่น อุบลราชธานี ฝนจะตกหนัก แต่อีกที่ในชัยภูมิ บุรีรัมย์ ฝนไม่ตกเลย แม้ฝนจะมากับพายุฤดูร้อน มีแต่ลมแรง ไม่ได้น้ำ ยิ่งขณะนี้อากาศหนาวผสมอากาศร้อน ทำให้ร้อนชื้น"
...
พร้อมเตือนว่า ช่วงเดือน มี.ค.จนถึง เม.ย. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาฯ หรือประมาณ 40 กว่าองศาฯ ในหลายพื้นที่ซึ่งจะร้อนมาก ยิ่งเกิดการเผาผลาญทำให้แหล่งน้ำระเหยเหือดแห้ง อยากให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์แล้งปีนี้ เกรงว่าสถิติจะแซงปี 2522 โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบางมีความเสี่ยง ในส่วนชายฝั่งที่เป็นเขื่อนจะพังทลายลงมาเพราะไม่มีน้ำ ทำให้บ้านเรือนพังลงมา จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ
นอกจากนี้จากกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสูงขึ้น 2-3 องศาฯ จะก่อให้เกิดพายุและการไหลเวียนของอากาศ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบ จึงอยากให้ประชาชนเตรียมตัว แต่อย่าตื่นตระหนกตกใจ ขอให้เก็บน้ำสำรองไว้ โดยเชื่อแน่ว่าจะเกิดการแย่งชิงน้ำในพื้นที่ปลูกพืชใช้น้ำ แต่หลายพื้นที่ได้รับมือนำระบบวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำไปแล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง ยกเว้นพื้นที่เดิมๆ ที่เคยประกาศภัยพิบัติภัยแล้งมาแล้ว ต้องเตรียมรับมือ หากปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนมีน้อย ยิ่งทำให้กระแสน้ำอ่อน ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนจนน้ำมีความเค็มกระทบต่อการทำนำ้ประปา อย่างพื้นที่ปทุมธานี ทำให้ประปาไหลอ่อน และจะกระทบไปถึงคนกรุง อาจมีน้ำประปาไม่เพียงพอ
"แม้ว่าขณะนี้ทุกคนยังคงนิ่งนอนใจ เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อยากบอกให้เตรียมพร้อม ยกเว้นโชคดีมีฝนตกท้ายเขื่อนก็จะดี แต่จะปล่อยน้ำไล่น้ำทะเลที่หนุนออกไปก็ไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอใช้ ยิ่งอีสานหากเจาะน้ำก็ยิ่งทำให้น้ำเค็ม จึงไม่สามารถทำได้ ต่อไปจะเห็นน้ำโขงเกิดปรากฏการณ์จากภัยแล้ง จะยิ่งแล้งกว่าที่ผ่านมา".