วันเวลาผ่านไปอย่างไวมาก เพราะนับถึงขณะนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยก็เปิดให้บริการมาครบ 20 ปีแล้ว จากปี 2542 ที่เปิดเดินรถจนถึงปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2562) รถไฟฟ้าบีทีเอสมีเส้นทางการให้บริการรวมทั้งสิ้น 54.12 กม. ใน 48 สถานี และในปี 2563 ที่จะถึงนี้ BTS จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก ในเส้นทางส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนถึงสถานีปลายทางคือ สถานีคูคตจะทำให้ BTS มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 67.25 กม.รวม59สถานี
จำนวนขบวนรถไฟฟ้า
“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC เผยว่า ในปี 2563 นี้ บริษัทจะมีขบวนรถรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 98 ขบวน จากแรกเริ่มที่มี 35 ขบวน ขบวนละ3ตู้ใน 23 สถานี และในปี 2548 ได้สั่งซื้อเพิ่มอีก 12 ขบวน ในปี 2554 สั่งซื้อเพิ่มอีก 5 ขบวน พร้อมทั้งตู้โดยสารจาก 3 ตู้เป็น 4 ตู้ต่อขบวนและเนื่องจากมีการขยายเส้นทางการให้บริการ ในปี 2559 บริษัทจึงสั่งซื้อขบวนรถเพิ่มอีก 46 ขบวน ได้รับมอบแล้ว 33 ขบวน เหลืออีก13ขบวน จะส่งมอบภายในเดือนมีนาคม 2563
“รถไฟฟ้ารวม 98 ขบวนนี้จะมีโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง 3 แห่งคือ สถานีหมอชิต สถานีการเคหะสมุทรปราการ และสถานีคูคต ซึ่งช่วยให้การเดินรถทุกเส้นทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น
...
บัตรโดยสาร
CEO BTSC เผยว่า บริษัทได้พัฒนาระบบบัตรโดยสารมาอย่างต่อเนื่องจากระบบบัตรแมกเนติกเปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทพาส และปัจจุบันเป็นแรบบิทการ์ด ที่ไม่เพียงใช้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ ราง เรือ เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ซื้อสินค้าแทนเงินสดได้
สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแบบเที่ยวเดียว บริษัทได้พัฒนาระบบคิวอาร์โค้ดเพย์เมนต์เป็นแบบจอสัมผัสทัชสกรีนจำนวน 250ตู้ สามารถจ่ายได้ทั้งแรบบิทไลน์เพย์และผ่านแอปโมบายแบงกิ้งทุกธนาคาร พร้อมติดตั้งตู้จำหน่ายบัตรโดยสารที่รับธนบัตรเพิ่มอีก50ตู้ ให้มีครบทุกสถานี
และเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้โดยสารสามารถเติมเงินเติมเที่ยวโดยสารได้ด้วยตัวเอง ผ่านบัตรแรบบิทที่ลงทะเบียนระบุตัวตน(Know Your Customer หรือ KYC) แล้ว ได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ (Ticket Vending Machine หรือ TVM) แบบใหม่ทุกสถานี เพื่อลดปัญหาการต่อคิวซื้อบัตรและแลกเหรียญบริเวณหน้าห้องจำหน่ายบัตรโดยสารทั้งในและนอกเวลาเร่งด่วน
ลิฟต์-บันไดเลื่อน
ขณะนี้บริษัทได้เพิ่มบันไดทางขึ้นลงและบันไดเลื่อนที่สถานีหมอชิต เนื่องจากสถานีหมอชิตไม่ได้เป็นสถานีปลายทางแล้ว บริษัทจึงเพิ่มทางขึ้นลงสำหรับผู้โดยสารทั้งสองฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการใช้บริการรถไฟฟ้าให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.63 โดยขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ12%
นอกจากนี้ บีทีเอสได้ติดตั้งชุดต้นแบบ “ทางลาดรถเข็นแบบเคลื่อนย้าย” Portable Wheelchair Ramp จำนวน12ชุดนำร่องมาให้บริการแก่ผู้ใช้รถเข็นหรือวีลแชร์สามารถเข้าออกขบวนรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกใน 12 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิตอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท สยามเพลินจิตอโศกบางจากแบริ่ง ปากน้ำ ช่องนนทรี วงเวียนใหญ่และบาง-หว้า ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.62 ขณะที่ทางเดินเชื่อม Sky Walk ปัจจุบันมีทางเดินเชื่อมแล้ว 23 สถานี เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร
การก่อสร้างเพิ่มเติม
1.สถานีศึกษาวิทยา (ที่ถนนสาทร)ขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการ EIA และบริษัทได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ขณะนี้มีความคืบหน้า 25.13% โดยกำหนดใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 18-20เดือน
2.โครงการขยายทางวิ่งสถานีสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากคณะกรรมการดำเนินงานบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเดินทางในบริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้เห็นชอบแผนการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า สถานีสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (S6) ขณะนี้รอการดำเนินการก่อสร้าง โดยรอผลการพิจารณาแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากผ่านการเห็นชอบจะลงมือดำเนินการก่อสร้าง โดยตามแผนการก่อสร้างจะใช้เวลาทั้งหมด40เดือน(3 ปี 4เดือน)