มกอช.ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บุกหารือ รมว.กระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีหน่วยงานมาตรฐานและมาตรวิทยาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไป UAE โดยเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ณ เมืองดูไบ

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลโดยเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ไปยัง UAE ได้ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจาก สกอท. ซึ่งเป็นหน่วยรับรองฮาลาลของไทยยังไม่ผ่านการตรวจรับรองระบบงานในขอบข่ายดังกล่าวตามข้อกำหนดใหม่ของ UAE ที่ ESMA ต้องการให้หน่วยรับรองระบบงานใน ASEAN เป็นผู้ตรวจรับรอง สกอท. แต่ใน ASEAN ไม่มีหน่วยงานที่มีความพร้อมรับรองระบบด้านฮาลาลให้แก่ สกอท. ได้ ซึ่งฝ่ายไทยได้ผลักดันแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยไปยัง UAE

“มกอช. จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เข้าร่วมหารือกับ Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (MOCCAE) และนาย Abdulla Abdelqader Al Maeeni อธิบดีหน่วยงานมาตรฐานและมาตรวิทยาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ESMA) เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยัง UAE โดยเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย”

...

ดร.จูอะดี กล่าวต่อว่า การเดินทางไปเจรจาหารือที่ UAE ในครั้งนี้ คณะผู้แทนฝ่ายไทยประสบผลสำเร็จ บรรลุข้อตกลงในการเจรจาหารือ โดย UAE ตอบรับข้อเสนอฝ่ายไทย และจะจัดส่งทีมหน่วยรับรองของ UAE มาตรวจประเมิน สกอท. ซึ่งจะส่งผลทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยัง UAE ได้หลังจากที่ สกอท. นั้นได้ผ่านการรับรองจากหน่วยรับรองของ UAE แล้ว

"โดยในครั้งนี้ อธิบดี ESMA ตอบรับคำขอฝ่ายไทย โดยอนุญาตให้ สกอท. ขอรับการตรวจรับรองจากหน่วยรับรองที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ESMA ตามรายชื่อที่ฝ่ายไทยเสนอ ส่งผลให้ไทยสามารถเริ่มต้นกระบวนการขอการรับรองได้ทันที โดย มกอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งประสานไปยังหน่วยรับรองของ UAE เพื่อหารือและเตรียมการในการมาตรวจรับรองที่ประเทศไทยต่อไป" เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากผ่านการรับรองแล้ว สกอท. จะสามารถตรวจรับรองสินค้าอาหารฮาลาลของไทย เพื่อที่จะส่งออกไปยัง UAE ได้ตามข้อกำหนด และสามารถเปิดตลาดสินค้าไก่ผลิตภัณฑ์ใน UAE ได้อีกครั้ง โดยก่อนที่จะประสบปัญหา ไทยสามารถส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยัง UAE คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 350 ล้านบาท และไก่แปรรูปมูลค่าประมาณปีละ 700 ล้านบาท.