“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ถูกเข็นออกมายิบย่อยหลายรายการ ยาก ดี มี จน ล้วนได้เงินใช้กันทั่วหน้า เพราะครั้งนี้รัฐใช้เม็ดเงินสูงถึง 316,000 ล้านบาท และที่สำคัญไม่ต้องมีบัตรคนจนก็มีโอกาสได้รับเงิน แต่เงินจำนวนนี้จะกระเด็นเข้ากระเป๋าคุณบ้างหรือไม่ ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงไว้เป็นรายการให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
“มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ”
ใครได้ : ผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก (อายุ 18 ปีขึ้นไป)
ได้เท่าไหร่ : 1,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปใช้ท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ตามบัตรประชาชน
แถมให้อีก : รัฐชดเชยให้อีก 15% จากยอดใช้จ่ายท่องเที่ยว (กิน, ที่พัก, สินค้าท้องถิ่น) ไม่เกิน 30,000 บาท
“มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
(1.) ใครได้ : ผู้ถือบัตรคนจน (เดิมได้ 200 บาทต่อเดือน)
ได้เท่าไหร่ : เพิ่มเงิน 500 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค (สิงหาคม-กันยายน 2562)
...
(2.) ใครได้ : ผู้ถือบัตรคนจนที่เข้าเงื่อนไข (จ่ายเพิ่มจากเงินที่ได้รับปกติ)
ได้เท่าไหร่ : 300 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี (สิงหาคม-กันยายน 2562)
(3.) ใครได้ : ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ได้เท่าไหร่ : เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
“มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกร”
ใครได้ : เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2.97 ล้านราย)
ได้เท่าไหร่ : สนับสนุนเงิน 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่
“มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง”
1.ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 1 ปี
2.ให้สินเชื่อฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท
3.ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
4.ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส.