ประชาชนเรียกร้องผ่าน ส.ส.เขตบางกอกน้อย พปชร.จัดหารถ-เรือ อำนวยความสะดวก ขนส่งผู้โดยสารจากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในช่วงที่ยังไม่เปิดบริการเต็มรูปแบบ เชื่อช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้เป็นไปตามเป้า 8 แสนคนต่อวัน ไม่ต้องรอจนถึง มี.ค.63

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฟรี 5 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และสถานีท่าพระ เป็นระยะเวลา 2 เดือน จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย.62 ที่จะถึงนี้ จะเปิดอีก 6 สถานีไปถึงสถานีหลักสอง

ขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-สถานีท่าพระ ซึ่งวิ่งผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ทั้งสาย จะทดลองเดินรถได้ในวันที่ 1 ม.ค.63 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค.63 ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร

ภายหลังจากเปิดทดลองวิ่งมาระยะหนึ่ง มีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ส่งถึง นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.เขตบางกอกน้อย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว ซึ่ง นายจักรพันธ์ ได้นำเรื่องหารือผ่านสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ว่า เส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-สถานีท่าพระ จะเปิดให้บริการได้ในเดือน มี.ค.ปี 63 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะจัดให้มีรถ-เรือรับส่งประชาชน เป็น shuttle bus และ shuttle boat จากถนนจรัญสนิทวงศ์ทั้งสาย เพื่อไปส่งต่อที่สถานีท่าพระและสถานีเตาปูน รวมทั้งจัดเรือโดยสารไปส่งคนที่ท่าเรือราชินีซึ่งใกล้กับสถานีสนามไชย เนื่องจากแนวถนนสนิทวงศ์ติดแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสาย

...

"จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และผู้อาศัยตามแนวเส้นทางเห็นว่า หากดำเนินการจัดรถ-เรือรับส่งผู้โดยสารจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาที่เส้นทางนี้ยังไม่เปิดบริการ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ มีผู้โดยสาร 800,000 คนต่อวัน ขอให้จัดบริการในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนจะเปิดบริการครบทั้งเส้นทางในเดือน มี.ค.63" นายจักรพันธ์ กล่าว

นายจักรพันธ์ ยังระบุอีกว่า หลังจากได้หารือเรื่องการจัดหารถ-เรือ รับส่งผู้โดยสารดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฎร์แล้ว ขณะนี้เรื่องถูกส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน กับขนส่งสาธารณูปโภคแบบอื่น โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ไปศึกษารูปแบบการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทาง ของสถานีรถไฟฟ้าให้เหมาะสมตามกายภาพพื้นที่ และให้นำเสนอรายงานในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ นายจักรพันธ์ ยังเสนอว่า ขอให้ผู้รับเหมาโครงการเร่งแก้ปัญหาจุดอันตรายที่เกิดจากการก่อสร้าง เช่น เครื่องหมายจราจรลบเลือน (ทางม้าลาย, เส้นแบ่งเลน) และจุดบังสายตาผู้ขับขี่รถบริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 40/1 ซึ่งมีโครงสร้างเสารถไฟฟ้าบดบังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และบริเวณสถานีบางหว้า รถไฟฟ้าสายสีเขียวตรงช่วงถนนราชพฤกษ์ มีผู้โดยสารรอรถจำนวนมาก แต่แสงสว่างน้อยเกินไป หวั่นมีความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมได้