มาตรการ “แจกเงิน 1,500 บาท” กลับมาทำให้ประชาชนฮือฮาอีกครั้ง ภายหลังกระทรวงการคลังนำมาตรการดังกล่าว กลับมาปัดฝุ่น ซึ่งมาตรการนี้จัดว่า เป็นหนึ่งในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชงให้ ครม.ไฟเขียว

ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงข้อมูลสำคัญที่คุณอยากรู้ เงินนี้แจกใคร คุณได้หรือไม่ ต้องนำไปใช้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

ปัดฝุ่น แจกเงิน 1,500 บาท

  • 7 ส.ค.62 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ขณะนี้การจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมระบุว่า "ผมไม่ปฏิเสธเรื่องแจกเงินเที่ยว 1,500 บาท"

  • 10 ส.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แย้มว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ และหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • รมว.คลัง สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า รูปแบบที่ดีที่สุดควรจะออกมาในรูปแบบใด



  • กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 20 ส.ค.นี้ 

  • เงินเที่ยว 1,500 บาท จะจ่ายผ่านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) 

  • คาดเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท

...

เช็กรายละเอียดรับเงิน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับทีมข่าวถึงรายละเอียด “มาตรการแจกเงิน 1,500 บาท” โดยทีมข่าวไล่เรียงประเด็นสำคัญไว้ให้ดังต่อไปนี้

  • จากแผนเบื้องต้น วิธีการรับเงิน 1,500 บาทนั้น ไม่ใช่เงินสด แต่จะโอนผ่าน e-payment เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเงินนำไปใช้จับจ่ายในพื้นที่ที่เดินทางไปท่องเที่ยว

  • เมืองที่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยว และใช้เงิน 1,500 บาท สามารถนำไปเที่ยวได้ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มองว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม เศรษฐกิจสามารถหมุนเวียนได้ทั้งระบบ

  • หากได้รับเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้เงินภายในกรอบเวลาที่กำหนด เงินจะถูกดึงคืนกลับมาที่รัฐ เพื่อโอนไปให้ผู้อื่นใช้จ่ายต่อไป

    นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
    นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)




  • ไม่สามารถท่องเที่ยวภายในจังหวัดที่ตนเองอยู่อาศัย

  • คุณสมบัติผู้ที่รับเงินได้ คือ 1.เป็นประชาชนคนไทย และ 2.ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 

  • หลักฐานที่ใช้สำหรับลงทะเบียน คือ บัตรประชาชน

  • คนที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก คือ คนที่มีโอกาสได้รับเงิน 1,500 บาทมากที่สุด โดยผู้ว่าฯ ททท. ระบุว่า เปรียบเสมือน first come first serve (มาก่อนได้ก่อน)



  • เบื้องต้นคาดว่า ผู้ที่ดูแลระบบ e-payment จะเป็นทางธนาคารกรุงไทย

  • ส่วนในเรื่องของระบบลงทะเบียน คือ อยู่ระหว่างการหารือ เพราะต้องรองรับประชาชนจำนวนมากที่เข้ามาพร้อมๆ กันให้ได้

  • หาก ครม.ไฟเขียว คนไทย 10 ล้านคนได้เห็นมาตรการดังกล่าว ภายในปี 2562 อย่างแน่นอน



  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
    1.กระจายอำนาจ - ทำให้คนทั่วทั้งประเทศมีโอกาสได้ใช้เงิน 1,500 บาท โดยไม่ได้กระจุกอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
    2.กระจายรายได้ - ทำให้ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปสามารถรับเงินผ่านระบบ e-payment ได้
    3.เพิ่มคุณภาพชีวิต - เพราะการเดินทางท่องเที่ยวนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของการหาความสุข

  • นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า สำหรับนโยบายดังกล่าว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ขัดข้อง เพราะการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคภายในประเทศ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง.