ทำคนในสังคม ”นะจังงัง” กับไอเดียของ ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ชูแก้รถติดให้รถยนต์ส่วนบุคคล วิ่งบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป ได้เร็วสุด 120 กม.ต่อชม. ส่วนคนขับช้าเหยียบไม่ถึง 80 กม.ต่อชม.ในเลนขวา ตัวปัญหาทำให้รถติดอาจถูกจับ

ขณะที่งานวิจัยของมูลนิธิไทยโรดส์ ระบุสถิติอุบัติเหตุทางถนนของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่า ร้อยละ 73 ของอุบัติเหตุบนทางหลวง มีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนทางหลวง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวงทั้งหมด โดยจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการใช้ความเร็วที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทุกๆ 100 ครั้ง โดยเฉลี่ยจะมีผู้เสียชีวิต 12 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 80 ราย รวมถึงสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า จำนวนอุบัติเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 15-20 ของจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด

จากประเด็นร้อนดังกล่าว ”นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์” ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การเพิ่มความเร็วรถยิ่งเป็นการเสริมความเสี่ยงเหมือนเอาใจคนขับรถ อยากให้ฝ่ายการเมืองคิดให้รอบคอบ ไม่ควรใช้กระแสเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าคน 2 ใน 3 เสียชีวิตจากการขับรถเร็วบนทางหลวง และปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนทั่วไป 2 หมื่นกว่าคน โดย 1 ใน 4 หรือ 22% มีสาเหตุจากการใช้ความเร็ว

“ควรวิเคราะห์ให้รอบคอบ ถ้าต้องการระบายจราจร คงไม่ใช่เรื่องเพิ่มความเร็ว หากทำไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงภายหลังก็จะยาก อย่าตามใจคนไทยให้มาก ต้องดูตัวเลขที่ผ่านมามีคนตายจากความเร็วจำนวนมาก หากทำโพลก็ควรสำรวจคนทั่วๆไป ไม่ใช่เฉพาะคนขับรถ เพราะถนนและทางโค้งในเมืองไทยถูกออกแบบตามความเร็วที่กฎหมายกำหนด แต่เห็นด้วยกับการเอาผิดขับช้าชิดขวา แต่ต้องพิจารณาด้วยกรณีชะลอรถเพื่อเข้ายูเทิร์น ตรงเกาะกลางถนน ควรให้วิ่ง 90 กม.ต่อชม. และควรออกแบบการบังคับใช้โดยใช้กล้องจับความเร็วอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาสะดุดเพราะคนไม่มาจ่ายค่าปรับ”

...

นอกจากนี้การเพิ่มความเร็วรถจะสร้างผลกระทบด้านความปลอดภัย ซึ่งพบว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นจะมีความเสี่ยงในเรื่องแรงปะทะ โดยความเร็ว 120 กม.ต่อชม. มีแรงปะทะเท่ากับการตกตึก 19 ชั้น อีกทั้งความรุนแรงจากแรงปะทะจะทำให้การตัดสินใจสั้นลง อย่างปกติขับ 90 กม.ต่อชม. วิ่งตามรถคันหน้า หากต้องแตะเบรกเท่ากับว่าใช้เวลาในการตัดสินใจประมาณ 1 วินาที และกรณีขับความเร็ว 120 กม. ซึ่งการแตะเบรกช่วง 1 วินาที ต้องอยู่รถคันหน้าประมาณ 33 เมตร

ทั้งนี้หากมองในมุมการระบายจราจร ต้องพิจารณาด้านกายภาพของถนนว่าสามารถรองรับอย่างปลอดภัยหรือไม่ อยากให้เทียบเคียงกับมอเตอร์เวย์ ถูกออกแบบให้สามารถวิ่งได้ 120 กม. เนื่องจากถนนมี 4 เลนในทิศทางเดียวกัน ถูกควบคุมการเชื่อมทางในการให้เข้าด่าน ทำให้รถถูกตัดกระแส และมีการควบคุมรถที่วิ่งช้า เช่น มอเตอร์ไซค์ ซาเล้ง ไม่ให้ขึ้นมาวิ่ง รวมถึงไม่มีสุนัขมาวิ่งตัดหน้า และไม่มีความเสี่ยงต่อการชนจากการมียูเทิร์น ซึ่งตรงข้ามกับทางหลวงทั่วไป มีจุดยูเทิร์นตัดกระแสรถอันตรายมาก จะทำให้เกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างรถยนต์ หากร่างกายคนเราโดนชนด้านหน้า แม้จะขับเพียง 70 กม.ก็เสียชีวิตได้

“ถนนเส้นอื่น ยกตัวอย่างพระราม 2 และสายเอเชีย ช่วงบางปะอิน-อยุธยา มีบางช่วงที่มี 4 เลน สามารถวิ่ง 120 กม.ได้ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูรายละเอียดว่าสามารถทำได้เหมือนมอเตอร์เวย์หรือไม่ ทำอย่างไรไม่ให้มอเตอร์ไซค์ รถซาเล้ง และหมามาวิ่งตัดหน้า แม้มีการทำสะพานเกือกม้าให้กลับรถ ทำให้ปลอดภัย แต่ยังไม่มีการเชื่อมทาง และข้างทางยังมีต้นไม้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยให้ทบทวนความเร็วและวิเคราะห์ศึกษาให้ถนนบางพื้นที่วิ่งได้ 110-110 รวมถึงทางด่วน มีการเชื่อมทางเพื่อให้เพิ่มความเร็วได้ จึงยังไม่ควรฟันธงให้วิ่ง 120 เพราะเหมาะเฉพาะมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ไม่เหมาะกับทางหลวง ขนาดมาเลเซียมีไฮเวย์ ยังให้วิ่งอยู่ที่ 90 กม.เท่านั้น”.