ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถาน และพระราชวังในชาติไทยติดต่อกันหลายบทตอน โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของพระราชวังต่างๆ ที่มีความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งนอกจากจะมีความสวยสดงดงามสมพระเกียรติแล้ว ยังมีเรื่องเล่าความเป็นมา ที่เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ได้ประทับพำนักตกเป็นมรดกตกทอดหลายช่วงรัชกาล จึงถือเป็นโบราณสถานสำคัญของบ้านเมือง ที่ต้องเก็บรักษาไว้สืบต่อไป

"พระราชวังดุสิต" งดงามตระการตา สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2442 จากวันนั้นจนวันนี้ มีอายุยาวนานกว่า 120 ปี ตั้งบริเวณเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในพระราชวัง มีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น พระที่นั่งวิมานเมฆ, พระที่นั่งอภิเศกดุสิต, พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอุดรภาค ฯลฯ รวมไปถึง พระตำหนักต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะนำข้อมูลมาเรียบเรียงให้ทราบถึงรายละเอียดความเป็นมา 

...

“วังสวนดุสิต” จากต้นกำเนิดพลับพลาประทับแรมชั่วคราว 

ภายหลังในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พระองค์มีพระราชดำริว่า พระบรมมหาราชวัง (ซึ่งอยู่บริเวณวัดพระแก้ว ท้องสนามหลวง) ในฤดูร้อนจะร้อนนั้น จะร้อนจัด เพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบ ทำให้เกิดการขวางทางลม ปลูกสร้างอยู่กันอย่างแออัด ปิดทางลม ทำให้ที่ประทับร้อนจัด นายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมไม่ถูกสุขลักษณะมากนัก ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ประชวรกันเสมอ

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่สวน และทุ่งนาบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมพระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า "สวนดุสิต" ในเบื้องต้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราวและให้เรียกที่ประทับแห่งนี้ว่า “วังสวนดุสิต” จากนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังที่ประทับถาวรจนตลอดรัชกาล แต่ได้สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อมีการขยายพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสามเสน ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินนอก และโปรดให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มาสร้างที่วังสวนดุสิตและพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2445 พร้อมกันนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไทยหมู่หนึ่ง พระราชทานนามว่า "เรือนต้น" เพื่อใช้เป็นที่เสด็จให้ประชาชนที่พระองค์ได้ทรงรู้จักเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นมาเฝ้า

พระราชดำริสร้างพระที่นั่ง เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ 

เมื่อมีการสร้างที่ประทับถาวรขึ้นและเสด็จมาประทับบ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งต่างๆ ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้ เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น "พระราชวังสวนดุสิต" 

นอกจากสร้างพระที่นั่งต่างๆ ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิตแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนและพระตำหนักพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชเทวี พระอัครชายา พระราชชายา เจ้าจอม และพระธิดา ยังมีสวนอีกมากมายได้แก่ สวนสี่ฤดู สวนหงส์ สวนบัว สวนฝรั่งกังไส สวนนกไม้ สวนม้าสน สวนผักชีเข้ม สวนญี่ปุ่น สวนวิลันดา และสวนโป๊ยเซียน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระราชวังดุสิตเป็นเขตพระราชฐาน ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน อย่างถาวร

...

รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

ใน พ.ศ. 2451 ได้เสด็จกลับจากประพาสทวีปยุโรปเป็นครั้งที่ 2  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระราชฐานด้านหลังพระราชวังสวนดุสิต เป็นเขตพระราชอุทยานส่วนพระองค์ พร้อมทั้งเป็นที่ประทับถาวรของพระราชธิดา เจ้าจอมมารดา ที่อยู่ของเจ้าจอมและข้าราชบริพารในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่พระราชวังแห่งนี้ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังสวนดุสิต เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชอุทยานนี้พระราชทานนามว่า "สวนสุนันทา"

กระทั่งต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ให้เรียกพระราชวังสวนดุสิตว่า "พระราชวังดุสิต" และโปรดให้สร้างสวนจิตรลดา ในบริเวณระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไท เพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและประทับแรม และสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่ง พระราชทานนามว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกสวนจิตรลดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต

...

พระราชวังดุสิต ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จวบจนรัชกาลปัจจุบัน

พระราชวังดุสิต ได้กลายเป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนปัจจุบัน ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนเป็นที่ทำการของรัฐบาล และยังคงเหลือเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นเขตพระราชวัง ไว้ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ปัจจุบันยังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 

สถานที่ภายในพระราชวังดุสิต 

- พระที่นั่งวิมานเมฆ -
เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2443 โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ 2445 โดยองค์พระที่นั่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร 

...

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง ภายในแบ่งออกเป็นห้องชุดต่างๆ 5 ชุด 

- ห้องสีฟ้าเป็นที่ประทับในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- ห้องงาช้างเป็นที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
- ห้องชมพูเป็นที่ประทับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
- ห้องเขียวเป็นที่พำนักของเจ้าจอมก๊กออ
- และห้องสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ได้เสด็จไปประทับที่พระตำหนักสวนนกไม้ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆจึงไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับอีก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตบูรณะพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเป็นเขตพระราชฐานในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน 

 - พระที่นั่งอภิเศกดุสิต -

เป็นพระที่นั่งองค์แรกๆ ที่สร้างขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ประดับไปด้วยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุไม้เรียกว่า ลายบุหงา มีการประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน เป็นศิลปะแบบมัวร์ จึงทำให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามมาก พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระที่นั่งวิมานเมฆ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากพระองค์ได้เสด็จกลับมาจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เพื่อใช้เป็นท้องพระโรง และสถานที่พระราชทานเลี้ยง สำหรับพระราชวังดุสิต และใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ในงานประจำปีสวนดุสิต 

- พระที่นั่งอนันตสมาคม -

เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง พระที่นั่งหลังนี้ออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมี พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย

แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท องค์พระที่นั้นมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ และนีโอคลาสสิก โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ

ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง (ภาพจิตรกรรมไทยนิยมเขียนแบบปูนแห้ง) เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี รีโกลี และศาสตราจารย์กาลิเลโอ กินี

- พระที่นั่งอัมพรสถาน -

เป็นพระที่นั่งองค์แรกและองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งอัมพร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นายซันเดรสกีเป็นสถาปนิก มีพระสถิตนิมานการ (ม.ร.ว.ชิด อิศรศักดิ์) เป็นแม่กอง ตัวอาคารเป็นรูปตัว H มีสถาปัตยกรรมแบบวิลล่าในชนบทของยุโรป ลักษณะเด่นอยู่ตรงที่มุขด้านหน้า 2 ข้างซึ่งทำเป็นผนังโค้งเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นระเบียงหุ้มพื้นที่ภายในผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ประยุกต์เข้ากับรูปทรงเรขาคณิตขอบบนประตูหน้าต่างเป็นลวดลายแถบยาวรูปพรรณพฤกษาในแบบสีปูนเปียกคาดรอบตึก

นอกจากนี้ ยังมีราวระเบียงและลูกกรงที่ทำจากโลหะเป็นลายเรขาคณิตประกอบดอกไม้และโลหะผนังภายในอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและการเขียนสีปูนแห้งลายพรรณพฤกษาและปักษาซึ่งวาดโดย ซีซาร์เร เฟร์โร ศิลปินชาวอิตาเลียน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ ห้องพระบรรทมชั้น 3 ที่พระที่นั่งองค์นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานแต่ประทับที่บริเวณชั้น 2 เพราะถือว่าชั้น 3 เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานเมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนคร และพระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน สถานที่เสด็จพระราชสมภพของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเมื่อครั้งพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้มีการบูรณะพระที่นั่งอัมพรสถานเพื่อเป็นที่ประทับตราบจนถึงปัจจุบัน

- พระที่นั่งนิยมทัศนาณ - 

เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นบริเวณเขามอทางทิศใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีลักษณะเป็นหอคอย 8 เหลี่ยมหลังคายอดโดม พระที่นั่งองค์นี้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ 8

- พระที่นั่งสัตลาภิรมย์ -

เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหาร ทรงโปรดให้ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างมีลีลักษณะเป็นศาลาไทย อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรด ให้ลดฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น ศาลาวรสภาภิรมย์ ปัจจุบันยังคงอยู่ในพระราชวังดุสิต

 - พระที่นั่งราชฤดี -

เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เพื่อเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหาร ทรงโปรดให้ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างมีลีลักษณะเป็นศาลาไทยอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรด ให้ลดฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น ศาลาสำราญมุขมาตย์ และถูกย้ายไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในสมัยรัชกาลที่ 7 ตราบจนปัจจุบัน

- พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ -

ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ไม่มีการตกแต่งฝาผนังและฝ้าเพดาน เช่น พระที่นั่งองค์อื่น แต่มีลวดลายลูกกรง บันไดทำด้วยเหล็กหล่อ และตกแต่งฝาผนังด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว เป็นลวดลายตามแบบยุโรป สันนิษฐานว่า คงจะสร้างขึ้นภายหลัง นอกจากนั้นยังมีตำหนักเล็กๆ ริมสระน้ำ อยู่หลังหนึ่ง เรียกว่า ตำหนักเมขลารูจี และยังมีสวนด้านหลังของพระที่นั่งเรียกว่า สวนโรมัน

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเมืองจำลองขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ จะทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เมืองนี้มีอาคารทุกอย่างที่ควรมีในเมือง ตั้งแต่ปราสาท ราชวัง วัด สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านค้า ธนาคาร โรงมหรสพ สโมสร ฯลฯ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารเป็นผู้ดูแลคนละหลัง พร้อมทั้งมีการปฏิบัติจริงในการเสียภาษี ดูแลความสะอาด ประกวดประชันกันเป็นอันมาก แต่หลังจากรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จสวรรคตแล้ว ดุสิตธานีก็ได้สลายตัวไป

- พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ -

เป็นหนึ่งในพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งอัมพร เดิมเป็นเพียงตำหนัก เป็นที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกฐานะให้เป็นพระตำหนัก แต่ทว่าในแผนที่พระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลที่ 7 ระบุว่าพระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ จึงสันนิษฐานว่ามีการยกขึ้นเป็นพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ยังไม่สามารถหาเอกสารมาอ้างอิงเพิ่มเติมได้

**นอกจากนี้ภายในพระราชวังดุสิต ยังมีพระที่นั่งและพระตำหนักรวมถึงสถานที่สำคัญอีกมากมาย นับได้ว่าใน สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากมาย ตั้งแต่มีการขยายตัวของกรุงเทพฯ ไปทางด้านทิศเหนือ พร้อมทั้งตัดถนน หนทางไปเชื่อมยังส่วนที่ขยายตัวนั้น มีการสร้างอาคารสถานที่ราชการขึ้นใหม่ๆ หลายแห่ง และที่สำคัญคือ การสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่นอกเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เปรียบเสมือนการเปิดประตูเมืองไปสู่ความเจริญยุคใหม่ ตามแบบตะวันตก อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมานานกว่า 151 ปี 

(ที่มาจากข้อมูลในเว็บไซต์ทางราชการ) 

ภาพบางส่วน จากหนังสือ “วังสวนดุสิต” 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง