จากเรื่องราวของหม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช ประทานพระอนุญาตให้ "น.ส.กันต์ปินัทธ์ สถิรกุล" ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ถ่ายทอดเรื่องราวในหลายบทตอน ณ พระตำหนักริมน้ำส่วนพระองค์
หลักใหญ่ใจความจุดเริ่มต้นการย้ายถิ่นฐาน พเนจร พระองค์ทรงเล่าถึงการใช้ชีวิตภายใต้การดูแลของ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และทรงไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา จนรู้สึกผูกพัน
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ณ โอกาสนี้ “อ.สืบสกุล ศรีสุข” ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม อดีตอาจารย์โรงเรียนวรนารีเฉลิม และโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ได้บอกเล่าประวัติศาสตร์คุณงามความดี ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ที่มีต่อมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อหลายสิบปีก่อน
...
ทรงเป็นที่รักและศรัทธาของชาวจังหวัดสงขลา
อ.สืบสกุล ศรีสุข เท้าความกลับไปให้เราฟังว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ประสูติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2425 และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2475 สิริพระชนมายุ 50 พรรษา ในครานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสงขลา ดูแลปกครองมณฑลปักษ์ใต้ 3 มณฑล คือ มณฑลสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี
“ตลอดช่วงเวลา 15 ปี พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองที่ข้าราชการ และราษฎรรักใคร่เป็นอย่างยิ่ง ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สร้างคุณประโยชนน์ต่อชาวใต้อย่างมหาศาล สำหรับจังหวัดสงขลา พระองค์ยังได้ทรงสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ พระตำหนักเขาน้อย วังขาว วังเขียว โรงเรียนวรนารีเฉลิม และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ กรมทางหลวง ได้ตัดถนนหมายเลข 414 เชื่อมระหว่างสงขลา-หาดใหญ่ และตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนลพบุรีราเมศวร์” เส้นทางสายนี้เป็นที่รู้จักของคนใช้เส้นทางสงขลา-หาดใหญ่”
ระหว่างปี พ.ศ. 2453-2458 โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองสงขลา ท่านนับเป็นเจ้านายพระองค์แรก และพระองค์เดียวที่เป็นข้าหลวงต่างพระเนตร พระกรรณ แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นอุปราชปักษ์ใต้ ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชา มณฑลสุราษฎร์ธานี มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ.2458-2468 รวมระยะเวลาที่ประทับอยู่ภาคใต้นานถึง 15 ปี
...
นำความเจริญมาสู่ภาคใต้
ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงมีพระทรรศนะว่าปักษ์ใต้สามารถสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นได้ ในหลายประการสถาน พระองค์จึงได้ทรงทำหนังสือทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เป็นต้นว่า
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2453 พระองค์ได้เสด็จไปตรวจราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา ทรงทำหนังสือทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยถึงเรื่องการทำถนนในเมืองสงขลาว่า พระยาชลบุรานุรักษ์ได้รื้อกำแพงเมืองสงขลา และจะทำถนนไปบนรากกำแพง พระองค์ท่านเห็นว่าการรื้อจะเปลืองเงินเปลืองเวลา จึงเสนอให้ทำถนนบนที่ราบริมกำแพงนอกเมือง รื้อกำแพงเป็นตอนๆ เอาหินถมถนน จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น และราคาประหยัดกว่าทำถนนบนรากกำแพง
สำหรับเมืองพัทลุงนั้น กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้เสนอแนวความคิด ที่จะทำถนนติดต่อระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองตรังให้ดีขึ้น เพราะเดิมเป็นทางเกวียนอยู่แล้ว เมืองนครศรีธรรมราช เสนอให้ขุดคลองระโนดให้ลึก และขุดคลองซอยจากคลองใหญ่ เข้าทุ่งมาหาเขาพระบาท เขาพังไกร โดยใช้เรือขุด
...
สร้างถนนตัดเข้าหมู่บ้าน รางรถไฟ พัฒนาเส้นทางสัญจร
พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบ้านเมืองด้านการคมนาคมขนส่ง และ การดำรงชีพของประชาชนมาก ทรงเสนอว่าควรสร้างเขื่อน “เบรกวอเตอร์” กันคลื่นหน้ามรสุมให้เรือใหญ่เข้าจอดหน้าอ่าวสงขลาได้ เขื่อนนี้ ทำได้ยากลงทุนมาก แต่ถ้าทำสำเร็จจะมีประโยชน์อย่างมหาศาล และยังมีทางที่จะพัฒนาอ่าวสงขลาได้อีกทางหนึ่ง คือการขุดลอกร่องน้ำให้ลึกสำหรับเรือขนาดกลางเข้าออกได้ นี่คือปฐมที่มาของการสร้างเขื่อนคอนกรีตถมหินที่แหลมสนอ่อน และการขุดลอกร่องน้ำในปัจจุบัน และสามารถทำให้เรือขนาดกลาง และใหญ่ เข้ามาจอดขนถ่ายสินค้า ที่ท่าเรือสงขลา
เรี่องถนน ทรงเสนอความเห็นต่อรัฐบาลว่า ควรสร้างถนนใหม่สายใหญ่ เดินคู่ไปกับทางรถไฟสายใต้ ถนนที่สร้างนั้น จะต้องตัดผ่านหมู่บ้านสำคัญ ๆ แต่ไม่ควรห่างจากทางรถไฟมากกว่า 20 สาย และสร้างถนนย่อยๆ ไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อขนถ่ายสินค้ามาป้อนรถไฟ 3. เรื่องเหมืองแร่ ขณะนั้นรัฐบาลได้ประกาศปิดเหมืองแร่ที่อยู่ใกล้ทางรถไฟที่จะสร้าง แต่พระองค์ทรงเห็นว่าควรประกาศเปิดได้แล้ว เพราะมีผู้พบแร่วุลแฟรม ซึ่งมีราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด
...
เรื่องที่ดิน ทรงเห็นว่า ประชาชนในภาคใต้ กำลังแตกตื่นขอที่ดินปลูกยางพารา และมะพร้าว มีการถือครองที่ดินโดยไม่มีโฉนด และตราแดงเป็นหลักฐาน จึงทำให้การวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นยาก
ปกป้องแผ่นดินใต้ รอดพ้นการคุกคามจากอังกฤษ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2457 - พ.ศ.2461 ดินแดนภาคใต้ทั้งหมดล่อแหลมต่อการยึดครองของอังกฤษเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะได้ยกเลิกอนุสัญญา พ.ศ. 2440 ไปแล้วก็ตาม แต่พระองค์ทรงปกป้องให้พ้นจากการคุกคามของอังกฤษ เพราะผู้ว่าการเกาะสิงคโปร์ ซึ่งมีอำนาจครอบงำมาเลเซียตอนนั้น เป็นเพื่อนนักเรียนร่วมห้องกับพระองค์ สมัยเรียนที่อังกฤษ สถานการณ์ต่างๆ จึงคลี่คลายไปในทางที่ดี
พระองค์ท่านทรงอภิเษกกับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธวรพันธุวรเดช เมื่อ พ.ศ.2450 ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
*** มิเพียงเท่านั้น เพราะพระองค์ยังทรงสร้างโรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงพยาบาลสงขลา ฯลฯ รวมไปถึงพระตำหนักเขาน้อย ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ และเราจะมาติดตามเรื่องราวของพระตำหนักเขาน้อย จากคำบอกเล่าของ อ.สืบสกุล ศรีสุข ในตอนต่อไป