ประธานสันนิบาตสหกรณ์ฯพ้อ สหกรณ์การเกษตรไม่เข้มแข็งเพราะขาดเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อ้อนขอเงินอุดหนุน ธ.ก.ส. จากรัฐบาล ปั้นสหกรณ์ไทยให้โตเหมือนเวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ให้สัมภาษณ์ในงานครบรอบ 51 ปี สสท. เมื่อ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ปัญหาใหญ่ของสหกรณ์ในขณะนี้ สหกรณ์ส่วนหนึ่งอยู่ในภาวะมีเงินล้นระบบ ในขณะที่สหกรณ์อีกส่วนขาดแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในการพัฒนาตัวเอง เงินจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตรได้ ทั้งที่สหกรณ์จะต้องช่วยเหลือพึ่งพากันเองตามหลักการของสหกรณ์ ไม่ใช่ไปพึ่งพาสถาบันการเงิน
“เราเลยมีความคิดที่จะตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งต้องขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลช่วยสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากไหน เป็นเงินที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุน ให้กับ ธ.ก.ส.ทุกปีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ธ.ก.ส.มักจะลดดอกเบี้ยให้เกษตรกร จริงๆแล้ว ธ.ก.ส.ไม่ได้ลดดอกเบี้ย รัฐบาลต่างหากควักจ่ายให้แทน ถ้าเอาเงินก้อนนี้มาให้สหกรณ์กู้ รัฐบาลไม่ต้องโอนเงินมาให้ เอาไว้ที่กระทรวงการคลังนั่นแหละ แล้ว สสท.จะเป็นผู้พิจารณาวางกฎเกณฑ์คัดเลือกว่า สหกรณ์ไหนได้เงินกู้ก้อนนี้ไป จะช่วยให้สหกรณ์และเกษตรกรเข้มแข็งขึ้นมาได้ เพราะวันนี้เกษตรกรไทยต้องกู้ดอกเบี้ยแพงมากร้อยละ 8-9 บาท ในขณะที่เวียดนามคิดดอกเบี้ยแค่ 4 บาท มาเลเซีย 3.50 บาท คิดดูก็แล้วกันยังไม่ลงมือทำอะไรเลย ต้นทุนเราสู้เขาไม่ได้ แล้วจะไปแข่งอะไรกับเขาได้”
...
ประธาน สสท.กล่าวอีกว่า การให้สหกรณ์กู้เงิน จะทำเหมือนเดิมที่ให้เกษตรกรกู้ไปแล้วต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขายและต่างคนต่างเจ๊งคงไม่ได้อีกแล้ว เราจะให้กู้แบบให้สหกรณ์กู้ไปทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้สหกรณ์เป็นผู้บริหารจัดการแปลงและจ่ายค่าเช่าที่ดินให้เกษตรกร ระหว่างทำการผลิตจะให้สมาชิกผันตัวมาเป็นแรงงานรับค่าจ้าง เมื่อขายผลผลิต ได้แล้วก็นำมาแบ่งปันกันระหว่างสหกรณ์และสมาชิก จะทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรมีรายได้ตลอด ไม่ต้องเสี่ยงทำการผลิตแล้วขาดทุนอีก ซึ่งขณะนี้ทาง สสท.กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำสหกรณ์ในลักษณะนี้ที่ไหนเป็นสหกรณ์ตัวอย่างได้บ้าง เชื่อแน่ว่าถ้าได้ทำภายใน 1-2 ปี เห็นหน้า เห็นหลังอย่างแน่นอน เพราะเป็นวิธีการทำเสร็จมาแล้วในหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี ญี่ปุ่น แม้แต่อินเดียที่วันนี้ปลูกข้าวจนส่งออกได้ก็ด้วยวิธีการนี้แหละ.