ในปีนี้ประเทศไทยก้าวมาถึงครั้งสำคัญ ในการเป็นประธานอาเซียน และจะเกิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 (ASEAN Summit) ขึ้นในระหว่างวันที่ 22–23 มิ.ย.2562 ในกรุงเทพมหานคร หลังมีการหมุนเวียนรับไม้ต่อมาจากประเทศสิงคโปร์ และเตรียมส่งต่อให้ประเทศเวียดนามสิ้นปี...

ในฐานะเป็นประธานอาเซียน ได้ประกาศแนวคิดหลักว่า “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”

ที่ใช้ “พวงมาลัย” เป็น “ตราสัญลักษณ์” ตามคนไทยมักใช้ในงานมงคล และต้อนรับผู้มาเยือน ออกแบบสื่อถึงประชาชนและประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ สะท้อนความร่วมมือขับเคลื่อน...ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ตามกรอบแนวคิดหลักของการจัดตั้งอาเซียน 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมความมั่นคงอาเซียน

ปีที่ไทยรับตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน มีโอกาสเกิดความสำคัญในเรื่องใดบ้าง ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า การที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของประชาคมอาเซียนว่าจะไปสู่ทิศทางใด เน้นเรื่องใดเป็นสำคัญ และจะปูพื้นฐานนโยบายเรื่องใดให้ประเทศที่รับไม้ต่อในปีถัดไป

สิ่งสำคัญได้แสดงศักยภาพต่อประเทศสมาชิกและประชาคมโลกให้ยอมรับการเป็นผู้นำครั้งนี้...

ประเทศไทยให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การบริหารจัดการชายแดน 2.การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล 3.การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ 4.การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน

และ 5.การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน

และกำหนดแนวคิดขับเคลื่อนผลักดัน คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ให้เกิด “ร่วมมือร่วมใจ” ไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก

...

โดยการเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนบวกหนึ่ง และโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ

จากการคำนึงถึงความสมดุล ประโยชน์ต่อประชาชน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเชื่อมโยงประชาชน

โดยเฉพาะในบริบทของปีวัฒนธรรมอาเซียน 2019 รวมถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆในภูมิภาค เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN)

ด้าน “การก้าวไกล” ให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ในการใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดดและความท้าทายต่างๆในอนาคต

มาถึง “ความยั่งยืน” กล่าวคือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน

จนเกิดการผลักดันจัดตั้งและพัฒนาศูนย์อาเซียนที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง “ไม่ทิ้ง ใครไว้ข้างหลัง และการมองไปสู่อนาคต”

ในการช่วยรักษาเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ในการผลักดันประเด็นต่างๆที่เป็นผลประโยชน์ของภูมิภาคอาเซียน ให้มีความยั่งยืน และมีการตั้งศูนย์อาเซียนนี้มีจำนวน 7 ศูนย์ ได้แก่...

1.ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน 2.ศูนย์ร่วมมืออาเซียน–ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคง ปลอดภัยทางไซเบอร์ 3.คลังสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย จังหวัดชัยนาท 4.ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม

5.ศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ ยั่งยืน 6.ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ 7.ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน

มองว่าสิ่งที่ได้รับจากการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 คือ ด้านการเมือง และความมั่นคงที่ได้ประโยชน์จากการผลักดันนโยบายด้านนี้ มีทั้งการบริหารจัดการชายแดน การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล

นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน

อีกทั้งยังได้รับประโยชน์ในด้านสังคมและวัฒนธรรมจากการส่งเสริมความเชื่อมโยงภาคประชาชน ผ่านการจัดประชุมภาคประชาสังคม...ภาคประชาชนอาเซียน และการส่งเสริมการเป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานการปฏิรูปสวัสดิการสังคมของประเทศ เพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.สิงห์ ให้ข้อมูลต่อว่า ในปีนี้ประเทศไทย คือ เป็นศูนย์จัดการประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากในประเทศอาเซียนเข้ามาร่วมประชุมตลอดทั้งปี ทำให้เกิดการมีจุดเด่นในเรื่องการเป็นศูนย์การประชุมที่สำคัญในช่วงเป็นประธานอาเซียนนี้

เพราะต้องมีการจัดประชุม 250 การประชุม ยกตัวอย่างเช่น การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนครั้งที่ 21 ในเดือน พ.ค.2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 22 ในเดือน พ.ย. ที่ กทม.และการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 18 ในเดือน มิ.ย. ที่ กทม. และครั้งที่ 19 ในเดือน พ.ย. ที่ กทม.

ประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนครั้งที่ 19 ในเดือน มิ.ย. ที่ กทม. และครั้งที่ 20 ในเดือน พ.ย. ที่ กทม. การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ในเดือน มิ.ย. ที่ กทม. และครั้งที่ 35

...

และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องจัดในเดือน พ.ย.ที่ กทม.

หากคิดในแง่ด้านเศรษฐกิจ จะต้องเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการจัดประชุมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด สร้างโอกาสในการติดต่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมการประชุมและนักท่องเที่ยวรู้จักเมืองไทยเพิ่มขึ้น กลายเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยปริยาย

สิ่งสำคัญในการรวมตัวประชาคมอาเซียนนั้น เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยี และการบริหารส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงของภูมิภาค เพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

จากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา และไทย ที่มีประชากรรวม 650 ล้านคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อรองทั้งในด้านความมั่นคง...เศรษฐกิจจากนานาประเทศ และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลาง

ในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเท่ากับ 100,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.4% จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 59,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน 41,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เราเคยเป็นผู้นำประชุมอาเซียนมาแล้ว...ในช่วงการเมืองร้อนแรง ปี 2552 จนทำให้การประชุม “ล้มเลิก” ที่พัทยา จ.ชลบุรี และครั้งนี้คือบทพิสูจน์ในการดึงความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์กลับคืนมา...

ด้วยการแสดงความเป็น “เจ้าบ้าน” ที่ดี ต้อนรับผู้เข้ามาร่วมประชุม และชาวต่างประเทศ...จาก “ความจริงใจ” และ “รอยยิ้ม”.