ล็อกหรือไม่ล็อก อันนี้ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ก่อนหวยจะออกทุกๆ งวด ชอบจะมีเสียงลือเสียงเล่าว่า "เลขนู้นก็ล็อก เลขนี้ก็ล็อก" ในขณะเดียวกันบางงวดก็ออกตรงตามกระแสข่าวลือว่าล็อก บางงวดก็เงียบกริบไม่ได้ยินเสียงเฮลั่นของบรรดานักเลงหวย แต่ถ้าพูดถึงคำว่า "หวยล็อก" หรือ "เลขล็อก" ทำให้ย้อนนึกไปยังเรื่องราวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
"เรื่องนี้ผมไม่เกี่ยวข้อง ขนาดออกสลากยังไม่เคยดู เท่าที่จำได้เคยไปดูออกสลาก ธ.ก.ส.แค่ครั้งเดียว ไม่เชื่อว่าจะล็อกกันได้ เป็นแค่ข่าวลือมากกว่า แต่ยอมรับว่าชอบเล่นหวยใต้ดิน งวดที่ผ่านมา วิ่งเลข 1 ไป 3 แสนบาท และก็เล่นเลข 1 กลับไปมา อีก 19 ตัว ตัวละ 1 พันบาท งวดที่ผ่านมาถูกได้เงินมา 6.7 แสนบาท ทีเวลาโดนกิน 3-4 แสนไม่เห็นใครเอาไปพูด" ผู้กว้างขวาง จ.นนทบุรี กล่าว
เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ซึ่งกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คน ที่ยืนอยู่ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้ผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดดังกล่าวคือ 113311 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไป
...
คนตักลูกบอลก้มดูเลข ก่อนบรรจงตักขึ้นมา
การถ่ายทอดสดการออกรางวัลดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน ท่าทีมีพิรุธ ก้มลงไปส่องดูเลขก่อนบรรจงตักขึ้นมา เหตุนี้เองทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า การออกรางวัลในงวดดังกล่าวมีการ "ล็อกเลข" เกิดขึ้น โดยในระยะแรก ชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้น ได้กล่าวปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจสอบการออกรางวัลดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากพบการทุจริตก็ให้แก้ไขโดยเร่งด่วน
ทว่าการสืบสาวราวเรื่องความผิดปกติดังกล่าว ท้ายที่สุดมีนายตำรวจนายหนึ่ง ให้ข่าวว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเลขล็อกครั้งนี้ คือ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการมวยและการพนัน อักษรย่อ "ก" และเมื่อมีการชี้มูลว่า "เลขล็อก" มาจากแผนสมคบคิดของใครบางคน นายณรงค์ อุ่นแพทย์ เจ้าของอักษรย่อ "ก" หรือ "กลม บางกรวย" ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในอีก 2 วันต่อมา
ตั้งโต๊ะแถลง ปัดเกี่ยวข้องกลโกง - แต่หลักฐานพยานชี้ชัด
"เรื่องนี้ผมไม่เกี่ยวข้อง ขนาดออกสลากยังไม่เคยดู เท่าที่จำได้เคยไปดูออกสลาก ธ.ก.ส.แค่ครั้งเดียว ไม่เชื่อว่าจะล็อกกันได้ เป็นแค่ข่าวลือมากกว่า แต่ยอมรับว่าชอบเล่นหวยใต้ดิน งวดที่ผ่านมา วิ่งเลข 1 ไป 3 แสนบาท และก็เล่นเลข 1 กลับไปมา อีก 19 ตัว ตัวละ 1 พันบาท งวดที่ผ่านมาถูกได้เงินมา 6.7 แสนบาท ทีเวลาโดนกิน 3-4 แสนไม่เห็นใครเอาไปพูด" ผู้กว้างขวาง จ.นนทบุรี กล่าว
หลังเกิดเรื่อง มีการตั้งข้อสังเกต จากผู้เชี่ยวชาญบางรายว่า อาจจะมีการใช้ "กลโกงไฮเทค" ที่เกี่ยวข้องกับสารเรืองแสงบางอย่าง เพื่อล้างข้อข้องใจทั้งหมด ทาง ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงตัดสินใจส่งลูกบอลออกรางวัลทั้งหมดไปตรวจหาหลักฐาน แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ ขณะเดียวกันยังได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ รอง ผบ.ตร.บร.2 จากนั้นได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รอง ผบก.ป. ในขณะนั้น รับผิดชอบในทางลับ จนกระทั่งออกหมายจับ และบุกรวบ นายสมตระกูล จอบกระโทก ผู้ที่ขึ้นไปตักลูกบอลงวดดังกล่าวได้ พร้อมแจ้งข้อหาฉ้อโกงทรัพย์และฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากผู้ที่ได้รับเลือกขึ้นไปออกรางวัล คือ นายวิตน์ ศรีหวาด นายประเสริฐ เอี่ยมสะอาด และนางพจนีย์ ม่วงศรีสุข แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องหา และพวกอีก 2 คือ นายทองสุข ชนะการี และ พ.อ.กิติชาติ กุลประดิษฐ์ ร่วมกันสมอ้างแล้วขึ้นไปแทน
ภาคประชาชนพยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัล
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมกระทำการทุจริตการออกรางวัลแต่อย่างใด คงมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัลในงวดดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 29 สิงหาคม สำนักงานฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองปราบปราม ร่วมติดตามพฤติการณ์ของประชาชนที่เข้ามาชมการออกรางวัลฯ เป็นประจำและร่วมตรวจสอบเทปการออกรางวัลในงวดดังกล่าว โดยได้ข้อสรุปว่า....
"มีการซ้อมการทุจริตการออกรางวัล โดยการตักลูกบอล และบ้วนของเหลวโดยการกัดหลอดพลาสติก ณ ไร่กุสุมารีสอร์ต อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจที่ไร่ดังกล่าว พบว่า มีหลอดพลาสติก ซึ่งบรรจุสารเคมีสีขาวเป็นจำนวนมากฝังไว้ในดินบริเวณโดยรอบบ้านพักหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากการสังเกตของประชาชน ส่วนใหญ่ถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน และมีบางส่วนที่ไม่ถูกเผา และยังพบหลอดบรรจุสารดังกล่าวบริเวณกองขยะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใหญ่กว่าหลอดกาแฟเล็กน้อย ปะปนอยู่กับเศษฝ้าเพดาน มีรอยถูกฟันกัดบริเวณปลายหลอด อีกด้านเป็นรูเล็กๆ เพื่อให้สารเคมีไหลออก จึงเก็บหลอดบรรจุสารทั้งหมดให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ
...
วางแผนเตรียมการอย่างดี ฝึกซ้อมล็อกเลข สลับตัวขึ้นจับรางวัล
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการขยายผลเข้าตรวจสอบ ยังพบคราบสารเคมีบนผนังห้องโถงของบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ตรายหนึ่งให้การว่า คนกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเช่าบ้านพักถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จากนั้นจะนำกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก 20 คน เข้ารับการฝึกซ้อม โดยมีผู้ฝึกสอน 2 คน สอนกลวิธีต่างๆ ในการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดเทปการออกรางวัลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากออมทรัพย์ทวีสิน ซึ่งดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมรับชมประกอบการฝึกซ้อมด้วย ซึ่งมีการฝึกซ้อมทั้งวันทั้งคืน จนกว่าผู้ฝึกสอนจะพอใจ
และเมื่อถึงวันก่อนวันออกรางวัล 1 วัน (31 พฤษภาคม) ได้มีการว่าจ้างคน 50-100 คน เพื่อซ้อมการทุจริต โดยสับเปลี่ยนหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล ตักลูกบอล และบ้วนของเหลว ซึ่งมีการใช้ลูกบอลหมายเลขที่ใช้ในการออกรางวัลของสำนักงานฯ มาซ้อมตักลูกบอล รวมทั้งเข้าชมการออกรางวัลในงวดดังกล่าว ทั้งนี้ได้เช่าโรงแรมใกล้ที่ทำการของสำนักงานฯ เป็นที่ซ้อมการทุจริต ผู้เข้าร่วมได้รับค่าจ้าง คนละ 200 บาท และหากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการออกรางวัล จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 500 บาท
...
โดยตกลงว่า หากได้รับเลือกให้เป็นกรรมการออกรางวัล จะส่งหางบัตรเข้าชมการออกรางวัลให้กับผู้ว่าจ้างที่ยืนรายล้อมประชาชนที่นั่งอยู่ จำนวน 20 คน เพื่อขึ้นไปแทนบุคคลที่ได้รับเลือกนั้น ซึ่งทำให้หางบัตรเข้าชมการออกรางวัลของชายทั้ง 3 คน ที่ขึ้นไปเป็นกรรมการออกรางวัล ไม่ตรงกับชื่อที่ถูกเรียก (สลับตัวกันขึ้นไป) ผู้ที่ถูกเรียกชื่อคือ พจนีย์ ม่วงศรีสุข, วิรัตน์ ศรีหวาด และ ประเสริฐ เอี่ยมสอาด แต่ผู้ที่ขึ้นไปแทนคือ นายสมตระกูล จอบกระโทก ในตำแหน่งหลักหมื่น, พันจ่าอากาศเอก กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ ในตำแหน่งหลักสิบ และ นายทองสุข ชนะการี ในตำแหน่งหลักหน่วย โดยเมื่อสามารถทุจริตได้ตามแผนการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้า จะมีรางวัลตอบแทนเป็นเงินรางวัลที่ได้รับจากการซื้อสลากกินรวบตามเลขดังกล่าว
อมหลอดพลาสติกบรรจุสารสีขาว ขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล
จากนั้น เมื่อสำนักงานฯ ส่งอุปกรณ์ออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว เลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ทั้งหมด มาตรวจพิสูจน์หลังการออกรางวัลในงวดดังกล่าว แต่ไม่พบสารเคมีหรือสารเรืองแสงติดอยู่บนอุปกรณ์ จนเมื่อการออกรางวัลเมื่องวดต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออายัดอุปกรณ์ออกรางวัลดังกล่าวทั้งหมดอีกครั้ง ภายหลังการออกรางวัลเสร็จสิ้น เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยว่ามีการเช็ดสารเคมีดังกล่าวออกก่อนส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ
จากการตรวจสอบครั้งที่สอง พบคราบสีขาวคล้ายน้ำยาลบคำผิด หรือแป้ง บนลูกบอลหมายเลข 1 จำนวน 3 ลูก และภาชนะบรรจุลูกบอลออกรางวัล จำนวน 3 ใบ โดยการสอบสวนเพิ่มเติมพบว่า ขณะเข้าสู่การออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว เลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ชายทั้ง 3 ดังกล่าว ได้อมหลอดพลาสติกบรรจุสารสีขาว ตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล และเมื่อถึงการแสดงเลขหมายในลูกบอลก่อนออกรางวัลเลขท้ายฯ และรางวัลที่ 1
...
โดยจะมีคนถือลูกโป่ง ยืนปะปนกับประชาชนที่มาชมการออกรางวัล แล้วใช้เข็มทิ่มเพื่อให้ลูกโป่งแตกเพื่อให้สัญญาณ ซึ่งเกิดขึ้นขณะเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 โดยในขณะเดียวกัน ชายทั้ง 3 ดังกล่าวก็บ้วนหลอดบรรจุสารดังกล่าวลงไปหลังจากเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 ลงในภาชนะออกรางวัลแล้ว สารดังกล่าวจะแห้งภายใน 10 วินาที หลังจากบ้วนสารลงไป
ดูเทปย้อนหลัง มีกลโกงลักษณะเดียวกันบนเวที
เมื่อพนักงานสอบสวนขอเข้าดูเทปการออกรางวัลย้อนหลัง ทั้งในส่วนของสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออมสิน และสลากออมทรัพย์ทวีสิน พบว่า การออกรางวัลสลากออมทรัพย์ทวีสิน งวดประจำวันที่ 10 มกราคม ปีเดียวกัน พบว่า ชาย 2 คน คือ สมตระกูล และ พ.อ.อ.กิตติชาติ ซึ่งเข้าชมการออกรางวัล และขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัลในการออกรางวัลดังกล่าว มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 1 มิถุนายน
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับชายดังกล่าวทั้ง 3 ซึ่งขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล รวมทั้ง ณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก), พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) และพวกอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน ในฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และซ่องโจร เนื่องจากเป็นการวางแผนหลอกเอาเงินรางวัลจากเจ้ามือสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) โดยพยายามให้เลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 (ศัพท์ที่ใช้ในวงการเรียกว่า 3 ตัวบน หรือ 3 ตัวตรง) ซึ่งถ้าเลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมากเพียงใด ก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น
ล็อกเลข ตระเวนซื้อหวยใต้ดิน เจ้ามือเจ๊งระนาว
หลักฐานยังพบอีกว่า พิชัย ได้มุ่งซื้อสลากกินรวบแบบเลขท้าย หมายเลข 11 กับเจ้ามือสลากกินรวบรายหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าว ต้องจ่ายเงินรางวัลเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังการออกรางวัลงวดดังกล่าว โดยแต่ละรายถูกรางวัลเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลกลับมีเพียงผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่ง ณรงค์ พร้อมพวกได้ติดตามทวงหนี้เงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่ายจากเจ้ามือสลากกินรวบดังกล่าว พร้อมทั้งมีการข่มขู่เอาชีวิต หากไม่จ่ายเงินรางวัลดังกล่าวในคราวเดียว จนเจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าวต้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง
อีกทั้งยังได้ฉ้อโกงเอาของชำร่วยราคาชิ้นละ 300 บาท ของสำนักงานฯ จำนวน 3 รายการ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยกเว้น นายทองสุข ชนะการี ซึ่งถูกจับกุม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ที่ให้การรับสารภาพ
ศาลฎีกาได้พิพากษา สั่งจำคุก 6 ปี "กลม บางกรวย" พร้อมพวกรวม 4 คน
ศาลฎีกาได้พิพากษา สั่งจำคุก 6 ปี "กลม บางกรวย" พร้อมพวกรวม 4 คน ในข้อหาฉ้อโกงและซ่องโจร ขณะที่ นายพิชัย เทพอารักษ์ หรือ ชัย โคกสำโรง ลูกน้องอีก 1 คน ศาลพิพากษาให้จำคุกเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากไม่มีพยานยืนยันว่าร่วมกันฝึกซ้อมการล็อกเลข ทั้งนี้ ในวันอ่านคำพิพากษา นายณรงค์ หรือ กลม บางกรวย และ นายสุริยัน ดวงแก้ว ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาศาล จึงได้ออกหมายจับเพื่อให้มารับโทษตามคำพิพากษา
เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่หลักฐานไม่แน่น ผู้ต้องสงสัยถูกปล่อยตัว
"หวยล็อก" ในงวด 1 มิ.ย.44 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2530 สมัยที่ยังใช้วิธีหมุนวงล้อรางวัล แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่หมุนอยู่นั้น ได้เกิดเหตุขัดข้องในส่วนวงล้อ คณะกรรมการต้องยุติการออกรางวัลเพื่อตรวจสอบ ก็พบว่ามีการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการบังคับวงล้อด้วยรีโมตคอนโทรล เหตุดังกล่าวไม่เป็นที่แพร่สะพัด เนื่องจากมีการปิดข่าวและตรวจสอบกันภายในเท่านั้น
การออกรางวัลงวดวันที่ 16 ก.ย.2530 ก็เกิดเหตุขัดข้องอีก ขณะที่ประธานการจับรางวัล นายวันชัย จิราธิวัฒน์ หมุนวงล้อ แต่วงล้อติด จนต้องใช้ค้อนทุบจนคลาย และได้หมายเลข 2567670 แต่ประธานสั่งยกเลิกและออกรางวัลใหม่ ทำให้ผู้ถือสลากเลข 2567670 ยื่นฟ้องกองสลาก และนายวันชัย เพื่อเรียกร้องเงินรางวัล 3 ล้านบาทที่ควรจะได้ และมีการร้องทุกข์ต่อกองปราบ เรื่องเลขล็อก จนกระทั่งมีการจับกุมพนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 18 คน ส่งฟ้อง 13 คน อีก 5 คนกันเป็นพยาน ภายหลัง พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเมื่อต้นปี 2532
**ถึงแม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ระบบการออกรางวัลก็รัดกุมและทันสมัยปลอดภัยมากขึ้น แต่คอหวยหลายรายยังเชื่อสนิทใจว่ามีการล็อกเลขดังๆ ให้ออกตรงตามที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ นั่นเป็นเพราะเหตุการณ์เรื่องราวในอดีตที่เป็นข่าวฉาวสนั่นวงการหวยยังเป็นภาพติดตาไม่รู้ลืม ถึงแม้ว่าจะไม่พบสิ่งผิดปกติในการออกรางวัลงวดต่างๆ หรือมีการร้องเรียนจากผู้ซื้อสลากรายใด จนกลายเป็นข่าวดังเหมือนครั้งนั้นอีกเลย