กัญชากำลังเป็นประเด็นสนใจในสังคมไทย หลังมีการปลดล็อกใช้ในการแพทย์เท่านั้น ไม่ปล่อยให้สายเขียวเสพอย่างเสรีเหมือนบางประเทศ พร้อมนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา ตั้งแต่ 27 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา เปิดให้ผู้ครอบครองทั้ง 3 กลุ่ม คือ องค์กรวิจัยแพทย์ ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชารักษาตัว และกลุ่มบุคคลอื่นๆ ต้องไปแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ภายใน 90 วัน

ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขใน 3 กลุ่ม หากมีการครอบครองกัญชา ถ้ามีการแจ้งและส่งมอบกัญชาให้ทาง อย. หรือสาธารณสุขจังหวัดภายในกำหนด จะไม่มีความผิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่รวบรวมส่งตรวจพิสูจน์หาสารปนเปื้อน ก่อนเข้าสู่กระบวนการสกัดน้ำมันกัญชา สำหรับแจกจ่ายให้ผู้ป่วย และหากมีสารปนเปื้อน จะนำไปทำลายอีกที

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุหลังครบกำหนด 90 วัน ได้มีผู้มาแจ้งการครอบครองกัญชา 3.6 หมื่นราย ซึ่งจำนวนผู้มาแจ้งจะเป็นตัวเลขพื้นฐาน ใช้ในการเตรียมระบบและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ เพื่อเตรียมยาไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วย โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการฝึกอบรมแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายได้รับการรับรอง รวมถึงแพทย์ทางเลือก ในการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมกับตัวยาอื่นตามหลักวิชาการ นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

...

จากข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการระบุถึงอาการหรือโรคบางโรค สามารถใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในการรักษาอย่างชัดเจน อาทิ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ กล้ามเนื้อแข็งเกร็งจากปลอกประสาทอักเสบ และลมชักในเด็ก รวมทั้งอาจมีประโยชน์จากการใช้คีโมรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งการจะผลิตยาต้องคำนึงเรื่องความถูกต้อง ปลอดภัย ต้องรอบคอบระมัดระวังเรื่องผลข้างเคียงกับผู้ป่วย

ในแง่ของตำรวจ ทาง พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือปส. กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ทางปส.เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นเพราะมีบางส่วนดี ในการนำประโยชน์ของกัญชามาใช้เหมือนในต่างประเทศ แต่ที่สำคัญไทยต้องควบคุมให้ได้ในการเสพซึ่งผิดกฎหมาย และไม่น่าแปลกที่สังคมไทยไม่มีกระแสต่อต้านออกมา เนื่องจากมีการรับรู้ข้อมูลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการปลดล็อกกัญชาใช้ในทางการแพทย์และสันทนาการ อาทิ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส เป็นต้น

"ไม่กังวลเมื่อมีการปลดล็อกในไทย จะทำให้มีคนผิดเพิ่มขึ้น แต่ต้องควบคุมให้ดี ทั้ง อย. กระทรวงสาธารณสุข และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากให้ตำรวจเข้าไปควบคุม อาจเกิดช่องโหว่ในการทุจริต เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีการปลดล็อก คนขายกัญชาได้กำไรดีมาก นำเม็ดพันธุ์ หัวเชื้อมาจากต่างประเทศมีการสำแดงกับศุลกากรเป็นอย่างอื่น เข้ามาเพาะพันธุ์ในไทย สกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งยอมรับเป็นข้อบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ จริงๆ แล้วเม็ดพันธุ์ดีที่สุด คือของไทย แต่ของเราผิดกฎหมาย ก็เลยลอบนำเข้ามาจากยุโรป"

สำหรับกัญชามีคุณสมบัติออกฤทธิ์กดประสาท ต่างกับยาบ้า และมีบทลงโทษน้อยกว่ายาทรามาดอล ซึ่งถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด แต่หากเสพกัญชาต่อเนื่องนานๆ ทำให้เป็นโรคจิตเวชได้เช่นเดียวกับการเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีการปลดล็อกแล้วหน่วยงานต่างๆ ต้องควบคุมให้ดี เพราะประเทศพัฒนาแล้ว แม้มีการเปิดเสรี แต่ต้องมีกฎหมายควบคุม กำหนดสถานที่เฉพาะ ขณะที่ประเทศไทย มีการสกัดน้ำมันกัญชา แจกให้ผู้ป่วย แต่ที่ผ่านมา อย.ไม่เข้ามาตรวจสอบว่าได้คุณภาพหรือไม่ และพบว่าขั้นตอนผลิตสกปรกมาก

ส่วนกรณีบางพรรคการเมืองสนับสนุนให้เปิดเสรีกัญชา หากสามารถทำได้จะเกิดผลดี แต่ต้องไม่มีนัยแอบแฝงซ่อนเร้น ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นดีของไทย เนื่องจากน้ำมันกัญชาสามารถรักษาโรคผู้ป่วยได้ผลดีเกือบทุกราย โดยผู้ป่วยมะเร็งอาการปวดจะทุเลาลง และเมื่อสภาพจิตใจดีขึ้น จะทำให้นอนหลับ

หากย้อนไปประเทศไทยมีการควบคุมพืชกัญชาอย่างเข้มงวดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับ โดยพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และสารสำคัญในกัญชาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทคือ THC (Tetrahydrocannabinol) ถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ส่งผลให้กัญชาสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด

...

ต่อมามีการปลดล็อกกัญชาใช้ในทางการแพทย์กับผู้ป่วย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยอาจขออนุญาตได้ทั้งการครอบครอง และเสพได้ตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถประกาศกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองเพาะปลูก ผลิตและทดสอบ หรือเสพ หรือครอบครอง ยาเสพติดได้ (มาตรา 26/6) และสามารถอนุญาตเกี่ยวกับการผลิต ทดสอบ กัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยทั้งทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และการอุตสาหกรรม โดยอนุญาตให้สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพหรือครอบครองได้ (มาตรา 26/2)

นอกจากนี้ การเสพและการครอบครองกัญชาเพื่อใช้รักษาโรค สามารถทำได้ทั้งตามคำสั่งของแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย (มาตรา 58 ) แต่ด้วยปัจจุบันการใช้น้ำมันกัญชายังติดขัดเรื่องกัญชาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต เริ่มมีการอนุญาตให้เพาะปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน ระหว่างนี้หลายสถาบันที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข จึงขอใช้ประโยชน์จากกัญชาที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดียาเสพติด จากพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นำไปใช้ประโยชน์ด้วยการอนุมัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายยาเสพติดเป็นผู้รับมอบไป เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่ขออนุญาต

...


จากกรณีดังกล่าว พบว่ากัญชาของกลางที่รับมอบไปมีส่วนที่เสียหายจากความชื้น เชื้อรา และปนเปื้อนโลหะหนัก ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุจากการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้รับการประสานงานจากสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อรับกัญชาของกลางไปทำการตรวจพิสูจน์สารปนเปื้อนก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

กัญชาลดอาการปวด ถูกแฟนทิ้งช่วยได้

ในฟากสถาบันการศึกษาของไทย ได้ตื่นตัวไม่น้อยในการทำวิจัยกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุญาต ได้ค้นพบสารหลักในกัญชาแห้ง ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังเปิดสอนวิชากัญชาศาสตร์ เเห่งเเรกในไทย เพื่อป้อนบุคลาการในวงการเเพทย์ให้ครบวงจร

เช่นเดียวกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการทำวิจัยด้านกัญชา ตั้งแต่การปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ และกระบวนการสกัดสาร โดยคำนึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้ในคน เพื่อไม่เกิดการติดหรือการนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงผลข้างเคียงในการใช้ยาต้องมีมาตรฐาน และคุณภาพ ใช้ได้จริง ซึ่งมีการร่วมมือกับ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ในการนำกัญชามาใช้ในแง่ของแพทย์แผนไทยว่าใช้กับโรคและอาการต่างๆ ได้ผลชัดเจนหรือไม่

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ใช้กัญชาในการรักษาโรค ในประเทศไทยอยู่ในชมรมจิตอาสาหรือชมรมใต้ดิน ซึ่งไม่ใช่แพทย์ โดยโรคที่ใช้กัญชารักษาได้ ได้แก่ อาการปวด แบ่งเป็นปวดจากระบบประสาทผิดปกติ และปวดนอกระบบประสาท เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก อาการเกร็ง บิด ที่เกิดจากโรคลมชัก โรคสมองเสื่อม และเรื่องอารมณ์ เช่น ถูกแฟนทิ้ง สามารถใช้ได้ ยกเว้นโรคไบโพลาร์ ที่ใช้กัญชารักษาไม่ได้

...

ส่วนโรคมะเร็ง เมื่อผู้ป่วยรู้ว่าเป็นมะเร็งจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ ยิ่งทำให้ลุกลาม โดยสามารถใช้กัญชารักษาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ระยะที่หนึ่ง ส่วนระยะสุดท้าย จะทำให้ผู้ป่วยสั่งเสียครอบครัวได้ เสียชีวิตโดยไม่ทรมาน บางรายใช้แล้วมะเร็งบางชนิดยุบลง หรือหยุดการแพร่กระจายได้ แต่ไม่ปฏิเสธหรือสนับสนุนว่ากัญชาช่วยเรื่องมะเร็งได้ แต่กัญชาจะช่วยได้ในบางราย บางระยะ แต่ไม่ใช่ทุกคน ต้องรักษาควบคู่ด้วยยาแผนปัจจุบันและกัญชา

ตำรับยาผสมกัญชา มีมานานสมัยพระนารายณ์ฯ

ขณะที่ฝั่งแพทย์แผนไทย ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า กัญชาอยู่ในตำรับตำราการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ใบ ช่อดอก ราก เมล็ด ก้าน ทั้งแบบสดและแห้ง นำมาทำตำรับยาในหลายรูปแบบ ทั้งลูกกลอนเม็ด ปั้นแท่ง ผง ต้ม ดอง น้ำมัน โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ได้นำตำรับยามารื้อฟื้นและคัดเลือกได้ 16 ตำรับ ประกาศใช้ในการแพทย์แผนไทย ยังไม่รวมตำรับยาปรุงเฉพาะรายและตำรับหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะดำเนินการประกาศเพิ่มเติมภายหลัง

นอกจากนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดตั้งสำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย เป็นศูนย์ประสานนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย และทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลิตยาเพื่อใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงผลิตเครื่องยาผสมกัญชากลาง เพราะเกรงว่าอาจมีการนำมาใช้เพื่อสันทนาการ และใช้ในทางที่ผิด รวมถึงจัดอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ก.ม.ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ สายเขียวไม่เกี่ยว

ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือส่งออก เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ส่วนการเสพนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ เว้นแต่เสพเพื่อรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย และด้านบทนิรโทษกรรม ผู้ใดครอบครองกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ หากยื่นคำขอใบรับอนุญาตต่อเลขาธิการ อย. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ นี้ใช้บังคับ และให้สามารถครอบครองไปจนกว่าการพิจารณาอนุญาตจะแล้วเสร็จ ในกรณีไม่ได้รับอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลาย

นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ซึ่งเพิ่งประกาศไป มีกัญชาเข้าข่ายเป็นสมุนไพร เพื่อควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับมนุษย์ อย่างเป็นระบบและครบวงจร เพิ่มมูลค่าในการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น แต่อาจไม่เข้าความหมายของผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกฎหมายยาเสพติดให้โทษ โดยต้องมีการออกแบบกฎหมายให้สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านที่เป็นยาเสพติดและด้านที่เป็นเชิงการรักษาต่อไป

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม

นำร่องสกัดน้ำมันกัญชา ทดสอบผู้ป่วยมะเร็ง

ด้านความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ปลูกเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ในอ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ออกมาระบุ ขณะนี้ต้นกัญชาทั้งหมด 140 ต้น เจริญเติบโตเริ่มออกดอกแล้ว โดยร้อยละ 98 เป็นตัวเมีย คาดประมาณต้นเดือน ก.ค. ดอกจะโตเต็มที่ สามารถนำไปผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น ขวดขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด นำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ขณะที่นายวิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยและการปลูกกัญชา จะเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีจำนวนปริมาณที่เหมาะสมให้เท่าสายพันธุ์ในต่างประเทศ พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การเพาะปลูกกัญชา ไม่ควรหวังเรื่องความร่ำรวย เพราะขณะนี้ในตลาดโลกสารสกัดจากกัญชา มีราคาถูกลง เหลือกิโลกรัมละ 5 แสนบาท ดังนั้นการปลูกจึงควรเห็นประโยชน์ของการแพทย์น่าจะดีกว่า.