กรมการค้าต่างประเทศ แจงการปลดล็อกส่งออกช้าง ไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เพื่อการวิจัยและทูตสันถวไมตรี อนุญาตให้แค่หน่วยงานราชการเป็นผู้ส่งออก ห้ามเอกชน พ่อค้า พร้อมถ่ายโอนอำนาจให้กรมอุทยานเป็นผู้ออกใบอนุญาตหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งออก เผยหากมีผู้ขอไปเลี้ยงแล้วดูแลไม่ได้ไทยสามารถขอคืนช้างได้

การปลดล็อกส่งออกช้างครั้งนี้ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2562 และเข้าใจผิดว่าจะเป็นการส่งออกเพื่อการค้า ว่า การออกระเบียบดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้ส่งออกใน 3 กรณีเท่านั้น คือ 1.ส่งช้างเพื่อการศึกษาวิจัย 2.ส่งช้างเพื่อสัมพันธไมตรี และ 3.ส่งส่วนต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาจากช้าง เพื่อศึกษาวิจัยทางวิชาการ เพื่อเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่สำคัญ ช้างที่จะส่งออกได้ต้องจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้ส่งออกเพื่อการค้าอย่างที่เข้าใจในขณะนี้ ผู้ที่จะส่งออกได้ต้องเป็นหน่วยงานราชการ ส่วนภาคเอกชนหรือผู้ค้าไม่สามารถส่งออกได้

นายอดุลย์กล่าวอีกว่า เมื่อกระทรวงพาณิชย์ ออกระเบียบดังกล่าว กระทรวงฯให้อำนาจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้ออกใบอนุญาตส่งออก ระหว่างนี้ กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างการออกประกาศกรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ ในการอนุญาตส่งออก คาดว่าการออกประกาศดังกล่าวจะแล้วเสร็จ มีผลบังคับใช้กลางปี 62 หลังมีผลบังคับใช้แล้ว จึงจะออกใบอนุญาตให้ได้ ระเบียบฉบับนี้ เป็นการปลดล็อกเพื่อให้ส่งออกช้างเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อสัมพันธไมตรี ไม่ใช่เพื่อการค้าได้ ผู้ที่จะขออนุญาตส่งออกได้ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น คือ กรมอุทยาน องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยจะต้องจัดทำความตกลง มีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานกำหนด ช้างที่ส่งออกต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานที่ขอส่งออก ไม่น้อยกว่า 1 ปี

...

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวอีกว่า การส่งช้างมีชีวิตเพื่อการวิจัยเพื่อสัมพันธไมตรี ยังต้องมีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานจะกำหนดและเป็นประกาศกรมเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป เบื้องต้น ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น มีสำเนาใบอนุญาตให้นำเข้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เพื่อแสดงว่าประเทศผู้นำเข้ามีความพร้อมในการเลี้ยงช้าง มีเกณฑ์การตรวจสภาพความเป็นอยู่ของช้าง โดยใช้หลักสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) เป็นมาตรฐานสากล เป็นต้น

นายอดุลย์ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปลดล็อกการส่งออกช้างว่า เป็นไปตามข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้หารือร่วมกันว่าควรจะยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้ช้างเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2555 หรือไม่ เนื่องจากกรมอุทยานแจ้งว่า ประเทศญี่ปุ่นต้องการนำเข้าช้างไทยเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ จึงจำเป็นต้องอนุญาตให้ส่งออกช้าง ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นว่าให้คงประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2555 เอาไว้ และให้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ฉบับปี 2562 ขึ้นมาแทน เพื่อให้สามารถอนุญาตส่งออกช้างได้ ระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างการยกร่างโดยกรมปศุสัตว์ แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกรมอุทยาน

นายอดุลย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมฯยังได้สรุปความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่กรมอุทยาน เพื่อประกอบการยกร่างประกาศของกรมอุทยาน เช่น หากต่างประเทศไม่สามารถดูแลช้างได้ ต้องขอช้างคืนได้ โดยจะต้องติดตามเป็นระยะ กรณีการวิจัยต้องมีรายละเอียดโครงการวิจัยที่ชัดเจน ไม่ใช่เพื่อการแสดง ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ไทยควรมีส่วนร่วมในการวิจัยและต้องได้รับประโยชน์จากการวิจัยด้วย หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ไทยสามารถยับยั้งโครงการและขอช้างกลับคืนได้