ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) เพื่อประสิทธิภาพงานทะเบียนราษฎร ความมั่นคงแห่งรัฐ อำนวยความเป็นธรรมประชาชน มาตรา 13 กำหนดให้ผู้ถูกศาลออกหมายจับ หากยังตามจับไม่ได้ใน 180 วัน ให้คัดชื่อออกจากทะเบียนบ้านเดิม ไปอยู่ในทะเบียนกลาง รองรับประชาคมอาเซียน แก้ปัญหาเด็กที่ไร้รากเหง้า ไร้รัฐ ไร้สัญชาติในไทย ให้สิทธิยื่นคำร้องพิสูจน์ขอสัญชาติไทย บนหลักสิทธิมนุษยชน

ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) เพื่อประสิทธิภาพงานทะเบียนราษฎร เพื่อความมั่นคง เป็นธรรมกับประชาชน

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ระบุว่า พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 38 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การทะเบียนราษฎรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความเป็นธรรม การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน การตรา พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ มาตรา4 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงในราชอาณาจักร รมว.มหาดไทยจะอนุมัติให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียนตามวรรคสอง เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติของ รมว.มหาดไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ รมว.มหาดไทยประกาศกำหนด”

...

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ มาตรา 16 ให้ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่ผู้มีสัญชาติไทย หรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนคนเกิด ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขประจำตัวให้เป็นไปตามระเบียบที่ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทย และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19/2 และมาตรา 19/3 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 19/2 เมื่อได้รับแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 แล้ว ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง แล้วดำเนินการต่อไปตามมาตรา 20 ทั้งนี้ ให้ผู้พบเด็ก ผู้รับเด็กไว้ และผู้แจ้งการเกิด ให้ความร่วมมือกับนายทะเบียนผู้รับแจ้งในการดำเนินการพิสูจน์ตามที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งร้องขอ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทําทะเบียนประวัติ และออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน เว้นแต่เด็กนั้นมีอายุครบ 5 ปีแล้ว ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกบัตรประจำตัว ให้แทนตามระเบียบ และภายในระยะเวลาที่ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนด

ผู้ซึ่งได้รับการจัดทําทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีคุณสมบัติอื่นตามที่ รมว.มหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยได้ และเมื่อ รมว.มหาดไทยพิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีสถานะถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ให้ รมว.มหาดไทยประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องและให้ถือว่าผู้นั้นมีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีประกาศระยะเวลา 10 ปีตามวรรคสองให้นับแต่วันที่จัดทําทะเบียนประวัติหรือออกเอกสารแสดงตน เว้นแต่จะมีหลักฐานอันชัดแจ้งแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรมาก่อนหน้านั้นตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกําหนด ก็ให้นับแต่วันที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามที่ปรากฏจากหลักฐาน ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคสอง ถ้าภายหลังปรากฏหลักฐานว่ามีกรณีไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข หรือขาดคุณสมบัติให้ รมว.มหาดไทย ประกาศเพิกถอนการให้สัญชาตินั้นโดยพลัน โดยให้นําความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับบุคคลที่เคยอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนตามมาตรา 19/1 แต่หน่วยงานดังกล่าวได้อนุญาตให้บุคคลอื่นรับไปอุปการะ และบุคคลที่มิได้แจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 ซึ่งได้ยื่นคําร้องตามมาตรา 19/3 หรือขอเพิ่มชื่อตามมาตรา 37 แต่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ด้วยโดยอนุโลม

รวมถึงมาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ในกรณีที่ศาลออกหมายจับผู้ใดตามคําร้องขอของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ หรือในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายใน 180 วันนับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจแจ้งให้ ผอ.ทะเบียนกลางทราบ และให้ ผอ.ทะเบียนกลางดําเนินการให้นายทะเบียน ผู้รับแจ้งย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน และเพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และให้หมายเหตุไว้ในรายการของบุคคลนั้นว่าอยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับด้วย การหมายเหตุดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรา 13 (2) ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ผู้นั้นต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียนที่จัดทําทะเบียนบ้านกลางนั้น พร้อมทั้งหลักฐานอันแสดงว่าหมายจับนั้นได้ถูกเพิกถอน หรือได้มีการปฏิบัติตามหมายจับนั้นเสร็จสิ้นแล้ว

ขณะที่การแจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้ผู้ถูกออกหมายจับ หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ตามวรรคสอง ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น หรือปิดหมายไว้ ณ ภูมิลําเนา หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนที่ปรากฏครั้งสุดท้าย ก่อนย้ายมาในทะเบียนบ้านกลาง ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น ส่ง หรือปิดโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้นั้นได้รับทราบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในท้าย พ.ร.บ.ระบุหมายเหตุว่า เหตุผลประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือเห็นสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติทะเบียนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อํานวยความเป็นธรรม และอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการจัดการประชากร ของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกในประชาคมอาเซียน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกําหนดสิทธิการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยของเด็ก และบุคคลตามมาตรา 19 มาตรา 19/1 มาตรา 19/3 และมาตรา 37 จะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ไร้รากเหง้า ที่ไร้รัฐ และไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และหลักสิทธิมนุษยชน

...