“รายงานวันจันทร์”-ลดฝุ่น 2.5 ต้องลดที่แหล่งกำเนิดฝุ่น
กรุงเทพฯช่วงนี้ยังเป็นช่วงเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาด pm 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกเช้าจะมีการรายงานผล การตรวจวัดคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ในสื่อหลักและสื่อโซเชียล
“รายงานวันจันทร์” วันนี้จะไปพูดคุยกับ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศ และเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. “เติมศิริ จงพูนผล” ว่า การตรวจวัดคุณภาพ อากาศของ กทม. มีการทำงานกันอย่างไร
-------------------------
ถาม-ปัจจุบัน กทม. มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกี่จุด
เติมศิริ-ขณะนี้ กทม.มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเสา ที่บรรจุเครื่องตรวจวัดไว้บนเสา 46 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาด pm 2.5 ได้ 23 เสา และแบบตรวจวัดค่าฝุ่นละออง ขนาด pm 10 รวม 23 เสา นอกจากนี้ ยังมีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ 4 คัน สามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละออง pm 2.5 ได้ทั้ง 4 คัน และยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์อีก 4 จุด คือ ที่เขตราชเทวี, เขตราษฎร์บูรณะ, เขตดินแดง และเขตพระโขนง แต่สามารถวัดค่าฝุ่นละออง pm 2.5 ได้ในเขตราชเทวีแห่งเดียว
...
ถาม-กรณีที่พื้นที่ที่ไม่มีเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละออง pm 2.5 กทม.ทำอย่างไรบ้าง
เติมศิริ-กทม.จะใช้รถเคลื่อนที่ในการออกตรวจในจุดพื้นที่เสี่ยง รวมถึงไปตามจุดที่ได้รับการร้องเรียน ที่ผ่านมา มีการตรวจวัดและรายงานผลให้ผู้บริหาร กทม.ทราบมาโดยตลอด ไม่เฉพาะช่วงที่ต้องเฝ้าระวังฝุ่นละอองเท่านั้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2562 กองจัดการคุณภาพอากาศฯได้เสนอขอจัดสรร งบประมาณสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองให้สามารถ ตรวจวัดค่าฝุ่น pm 2.5 ได้ทุกสถานีตรวจวัด หรือทุกจุด
ถาม-การฉีดละอองน้ำขึ้นบนอากาศช่วยได้หรือไม่
เติมศิริ–ละอองน้ำจะจับฝุ่นขนาดใหญ่มากกว่า แต่เป็นวิธีแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้าควบคู่ไปกับการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยการแก้ไขต้องหาสาเหตุการเกิดฝุ่นเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาด pm 2.5 เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งจากรถยนต์ การเผา หรือโรงงาน แต่ช่วงฤดูหนาว ที่มีความกดอากาศต่ำ อากาศไม่ลอยตัว ฝุ่นละอองจึงไม่กระจายตัว ส่วนนี้ เราควบคุมความกดอากาศไม่ได้ แต่ที่เราทำได้คือควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น
ถาม-การฉีดน้ำใกล้ๆกับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ จะมีผลกระทบต่อการตรวจวัดหรือไม่
เติมศิริ–กทม.ไม่เคยมีแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเข้าไปในเครื่องโดยตรงหรือใกล้ตัวเครื่อง สำหรับภาพที่ปรากฏบนสื่อโซเชียลเกี่ยวกับ การฉีดละอองน้ำบริเวณที่มีเครื่องตรวจวัดนั้น เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่มี เจตนาในการฉีดใกล้เครื่อง แต่อาจไม่ทันสังเกตหรือไม่ทราบว่า เสาที่ตั้งนั้นเป็นที่ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง ขณะนี้ได้ชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติงาน ทราบถึงวิธีปฏิบัติ หรือข้อควรระวังในการฉีดละอองน้ำใกล้เครื่อง ตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้ว ทั้งนี้ ในแต่ละวันเมื่อค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในรอบ 24 ชม. มีผลออกมา กองจัดการคุณภาพอากาศจะรายงานให้แต่ละเขตทราบ หากพื้นที่ใดมีค่าเกินค่ามาตรฐานก็จะดำเนินการตามแผนการบรรเทาปัญหา ลดฝุ่น หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ.