"อดุลย์" เผย สนช. เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน รับสัตยาบันไอแอลโอ ฉบับที่ 188 เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานประมง พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสากล ถือเป็นชาติแรกในอาเซียน...

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าว การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 โดยมีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเกรม บักเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประจำประเทศไทย กัมพูชาและลาว พร้อม นายหลุยส์ แพรทส์ หัวหน้าหน่วยการต่างประเทศ สหภาพยุโรป ร่วมแถลงด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ. 2007) ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และในภูมิภาคเอเชีย ที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปทั่วโลกว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐาน การคุ้มครองดูแลแรงงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคประมงของไทยให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำคัญ ในการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 5 หมื่นคน

ทั้งนี้ จะส่งผลต่อภาพรวม ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลของไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าประมงไทย เป็นสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล

...

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้รับฟังความเห็น ทั้งนายจ้างลูกจ้างภาคประชาสังคมและภาควิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาหลายรอบ และได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่สะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วน มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทย และสินค้าประมงไทย คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายในเรื่องกลางปีหน้า ขอย้ำว่าจะไม่กระทบกลุ่มประมงพื้นบ้าน จะใช้บังคับเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาด 30 ตันกรอสส์ ขึ้นไป ที่มีกว่า 5,000 ลำ

ส่วนโครงสร้างเรือจะใช้บังคับเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ ที่เป็นเรือต่อใหม่ขนาด 300 ตันกรอสส์ ขึ้นไป และขนาดความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตร ขึ้นไปเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงนอกน่านน้ำไทย และหลายเรื่องไม่ได้เร่งให้ เจ้าของเรือต้องดำเนินการในทันทีทันใด แต่จะค่อยเป็นค่อยไป เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้าง สภาพการจ้าง รวมทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การให้สัตยาบัน ฉบับที่ 188 ไม่ได้สร้างภาระให้ชาวประมง อย่างที่ในอดีตเคยมีบางท่านแสดงความห่วงกังวล เพราะปัจจุบันไทยมีการบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว กฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ เช่น อายุขั้นต่ำ การตรวจสุขภาพ อัตรากำลัง ชั่วโมงพัก รายชื่อลูกเรือ สัญญาจ้างงาน หลายเรื่องที่ระบุในอนุสัญญา 188 ไทยดำเนินการอยู่แล้ว อนุสัญญาฉบับนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจน สร้างความเชื่อมั่น ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ จะช่วยให้ส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ผมจะเดินทางไปให้สัตยาบันด้วยตัวเอง ช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า.