ดีเอสไอ ชี้แจงกรณีจับกุมสินค้าแก้วน้ำปลอมที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย เหตุกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ อีกทั้งอยู่ในข่าย เพราะมูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท...
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 มิ.ย. คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชน ว่า ตามที่ปรากฏข่าวคอลัมน์ "คัดข่าวกรอง" ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 มิ.ย. 61 ได้นำเสนอเกี่ยวกับข่าวการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรณีแก้วน้ำปลอมเครื่องหมายการค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ ของดีเอสไอ พร้อมแสดงความเห็นว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ กับเสนอแนะว่าควรไปทำการสอบสวนคดีพิเศษอื่นๆ นั้น
ดีเอสไอ ขอชี้แจงต่อสาธารณชนว่า การกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา อันประกอบด้วย ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าของประเทศในด้านต่างๆ
...
ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้ง ดีเอสไอ พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ความผิดในเรื่องดังกล่าว ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ หรือที่กระทำเป็นลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม รวมถึงที่มีผู้มีอิทธิพลที่สำคัญอยู่เบื้องหลังการกระทำผิด เป็นคดีพิเศษ โดยดีเอสไอได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่ง ดีเอสไอ มีการปราบปรามจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นคดีพิเศษอย่างต่อเนื่อง
โดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนหลายองค์กร รวมถึงผู้แทนผู้เสียหายทั้งในและต่างประเทศ จนเมื่อ พ.ศ. 2560 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปลดประเทศไทยพ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามความผิดประเภทนี้อย่างต่อเนื่องของทุกฝ่าย และยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ในการปราบปรามจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามที่เป็นข่าว มีมูลค่าความเสียหาย หากคำนวณตามมูลค่าสินค้าแท้ เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท จึงอยู่ในข่ายที่ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย สำหรับประเด็นข้อเสนอแนะที่ให้ดีเอสไอเร่งทำคดีพิเศษอื่นๆ นั้น ขอชี้แจงว่า กรมมีการเร่งรัดดำเนินการในทุกคดี โดยมีคณะกรรมการระดับกรมกำกับติดตาม และต้องรายงานข้อมูลด้านคดีต่อคณะกรรมการคดีพิเศษด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมากรมไม่ได้มีการเสนอข่าวต่อสาธารณชน นับจนถึงปัจจุบัน ดีเอสไอ มีการสืบสวนคดีพิเศษเสร็จสิ้นไปกว่า 2,500 คดีแล้ว.