สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่เป็นกระแสร้อนแรงเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วย “การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ซึ่งแก้ไขใหม่และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 120 วันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ที่ผ่านมา การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 พนักงานสอบสวน หรือทนายความ มักจะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) มาใช้ร่วมกันด้วย โดยตีความว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งที่ กฎหมายทั้งสองฉบับนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นคดีความผิดอัน “ยอมความกันได้” ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) เป็น “ความผิดอันยอมความกันไม่ได้” และในส่วนของอัตราโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่ในส่วนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ทำให้นักกฎหมาย หรือแม้แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยไปในหลายรูปแบบ บางคดีก็ยกฟ้องทั้งหมด บางคดีก็พิพากษาลงโทษเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 บางคดีก็พิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วย

กฎหมายฉบับใหม่จึง “แก้ไข” พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการทุจริตหรือการฉ้อโกงในระบบคอมพิวเตอร์ และตามมาตรา 14 วรรคสุดท้าย หากการกระทำดังกล่าวนั้น มิได้กระทำต่อประชาชน ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ซึ่งในส่วนท้ายของมาตรา 14 (1) ระบุไว้ชัดเจน “อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา"

...

ส่วนในกรณีที่กระทำความผิดต่อประชาชน โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์การประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งยังเป็นความผิดอันยอมความกันไม่ได้นะครับ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

จากประสบการณ์ของผม การกระทำในลักษณะดังต่อไปนี้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1)

1. การหลอกลวงหรือชักชวนผู้อื่น/ประชาชน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook, LINE ฯลฯ ให้ร่วมเล่นแชร์ หรือลงทุนในธุรกิจด้านต่างๆ โดยผู้ชักชวนมีเจตนาทุจริต หรือไม่มีเจตนาจะตั้งวงแชร์จริงๆ หรือไม่มีเจตนาจะให้ร่วมลงทุนด้านธุรกิจจริงๆ

2. การหลอกลวงขายสินค้าให้แก่ ผู้อื่น/ประชาชน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook, LINE ฯลฯ โดยมีเจตนาทุจริต หรือไม่มีเจตนาจะขายสินค้าจริงๆ หรือไม่มีสินค้าอยู่จริง หรือนำภาพสินค้าของผู้อื่นมาโพสต์ เพื่อจำหน่ายและหลอกเหยื่อ

3. การหลอกลวงผู้อื่น/ประชาชน ว่าจะให้กู้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยหลอกให้ผู้อื่น/ประชาชน โอนเงินมัดจำไปก่อนที่จะตกลงให้กู้ยืมเงิน

4. การหลอกลวงผู้อื่น/ประชาชน ว่าจะดำเนินการแก้ไขสถานะเกี่ยวกับเครดิตทางการเงิน จากเดิมมีสถานะค้างชำระให้กลับมาเป็นสถานะปกติ หรือ หลอกลวงว่าสามารถดำเนินการจัดให้สถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ยืมหรือสินเชื่อ ทั้งที่ผู้ขออนุมัติสินเชื่อมีเครดิตทางด้านการเงินไม่น่าเชื่อถือ โดยจะเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายไปก่อน

5. การหลอกลวงผู้อื่น/ประชาชน ด้วยการตีสนิทหรือหลอกจีบ และหลอกว่าส่งสิ่งของมาให้ ต่อมาจะมีบุคคลแอบอ้างเป็นพนักงานในบริษัทขนส่งหลอกให้โอนเงินค่าใช้จ่าย เพื่อดำเนินการนำพัสดุออกจากด่านศุลกากร โดยมักอ้างว่ามีเงินสดอยู่ในพัสดุเป็นจำนวนมาก

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com  ได้เลยครับ

Facebook: ทนายเจมส์ LK

...