ถึงเวลาแล้ว ที่ “ผู้ใช้” อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ อย่างเราๆ ควรจะศึกษา สารพัดรูปแบบกลลวงจากอาชญากรตุ๋นในโลกไซเบอร์ เพราะหากมัวแต่หลงระเริง บันเทิงใจกับความสะดวกสบายของเทคโนโลยี อาจพลั้งเผลอ จนเงินในบัญชีหมดไปโดยไม่รู้ตัวได้...
ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ คดี “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” เรียกว่า เกิดขึ้นถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเสียหาย ซึ่งมีให้เห็นมาเป็นระยะๆ แม้ว่าจะเกิดอุทาหรณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยสารพัดวิธีการหลอกลวงเหยื่อนั้นหลากหลายมากขึ้น ต่อให้เราต่างระแวดระวังแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นเงื้อมมืออาชญากร ตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวจนได้... ฉะนั้นแล้ว ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ชาวไฮเทคอย่างเราต้องรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อไปมากกว่านี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เชื้อเชิญ พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มาเป็นวิทยากรบอกเล่าถึงสารพัดรูปแบบ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” ที่ใกล้ตัวและประชาชนควรรู้! โดยเฉพาะท่านใดที่หวังพึ่งเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารในมือไว้เพื่ออำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียว จนแทบไม่เคยระแวดระวังใดๆ รายงานพิเศษชิ้นนี้กำลังจะบอกคุณว่า “ภัยโลกไซเบอร์นั้น...น่ากลัวว่าที่คิด...”
...
แฉสารพัดวิธีลวงเหยื่อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” ที่คุณต้องรู้!
อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์... “ภัยใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด” ... พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยอมรับว่า ปัจจุบันคดีหลอกลวงให้โอนเงินบนอินเทอร์เน็ตเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมิจฉาชีพอาจจะเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกันซึ่งเปลี่ยนเหยื่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น การหลอกว่ากำลังเดือดร้อน ต้องการขอยืมเงินด่วน โดยจำเป็นต้องให้หมายเลขบัญชีของญาติ หรือการขอให้เพื่อนเติมเงินมือถือให้ซึ่งมีตั้งแต่จำนวนเงินน้อยๆ ไปจนถึงหลักพัน
โดย “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” ที่ใกล้ตัวและประชาชนควรรู้! มี 3 ประเภทด้วยกัน ...
ประเภทแรก “คอมพิวเตอร์ตกเป็นเป้าหมาย” หรือ การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง อาชญากรจะใช้วิธีการเข้าไปแฮกระบบต่างๆ ของระบบเน็ตเวิร์ก เช่น อีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ฯลฯ โดยผู้ที่เป็นแฮกเกอร์จะพุ่งเป้าไปที่ “คน” หรือ “ผู้ใช้” เพราะเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด และง่ายกว่าการไปเจาะระบบเน็ตเวิร์กนั้นๆ ซึ่งเหยื่อร้อยละ 90 ก็คือ ผู้ใช้ที่ตั้งรหัสผ่านง่ายๆ เช่น เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน ฯลฯ เนื่องจากว่าเป็นช่องโหว่ด่านแรกที่มิจฉาชีพสามารถเข้าไปแฮกข้อมูลได้ง่ายที่สุด
แฮกเฟซบุ๊ก เปลี่ยนพาสเวิร์ด สวมรอยแชตหลอกยืมเงิน
ขอเริ่มจากระบบเน็ตเวิร์กที่ใกล้ตัวประชาชน และเป็นช่องทางที่เข้าถึงเหยื่อได้ง่ายที่สุด... ก็คือ “เฟซบุ๊ก” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ยอมรับว่าขณะนี้มีคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านเฟซบุ๊กเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ใช้ หรือคนส่วนใหญ่ที่ใช้งานเฟซบุ๊ก มักจะใช้เพื่อความบันเทิง หลงระเริง โดยที่ไม่ได้ระวังถึงภัยร้ายต่างๆ ที่แอบแฝงเข้ามา โดยเฉพาะการตั้ง “รหัสผ่าน” หรือ “พาสเวิร์ด” ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันยังมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยที่ตั้งรหัสผ่านง่ายๆ เช่น เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด บ้านเลขที่ ชื่อเล่น หรือชื่อเล่นตามด้วย 1234 ฯลฯ รหัสผ่านเหล่านี้ ถือเป็นช่องโหว่ด่านแรกที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถคาดเดาได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึง “ผู้ใช้” งานบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ มักทิ้งร่องรอยไว้โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การโพสต์ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ หรือมีการแชตคุยกับเพื่อน โดยทิ้งท้ายเบอร์โทรศัพท์ไว้ มิจฉาชีพก็สามารถนำไปล็อกอินเพื่อเข้าไปแฮกเฟซบุ๊กเหยื่อได้ไม่ยาก
...
ทั้งนี้ ถามว่าเมื่อมิจฉาชีพแฮกเฟซบุ๊กไปแล้ว ทำอย่างไรต่อ? วิธีการหลังจากนั้น มิจฉาชีพจะเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทันที และสวมรอยแชตโดยใช้กลอุบายสารพัดเข้าไปหลอกลวงเพื่อนในลิสต์ เพื่อยืมเงิน เช่น หลอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องการขอยืมเงินด่วน โดยจะอ้างว่าเป็นหมายเลขบัญชีของญาติ และมีการหลอกตั้งแต่จำนวนเงินน้อยๆ ไปจนถึงหลักพัน ซึ่งเหยื่อหลายคนก็หลงโอนเงินให้เพราะเชื่อว่าเพื่อนกำลังเดือดร้อนจริงๆ ดังนั้นกรณีนี้ แนะนำว่า ก่อนที่จะโอนเงินไป ก็ควรจะโทรศัพท์เช็กก่อนว่าเป็นเพื่อนเราจริงๆ หรือไม่
“รวมไปถึงกรณีที่เป็นเฟซบุ๊กแฟนเพจขายของออนไลน์ มีผู้ติดตามจำนวนมาก มิจฉาชีพก็จะใช้วิธีการสวมรอยและโพสต์เลขบัญชีใหม่ เพื่อให้เหยื่อที่สั่งสินค้าโอนเงินเข้ามาบัญชีของมิจฉาชีพแทน กรณีนี้ ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ก็ควรจะต้องโทรศัพท์เช็กกับทางร้านเพื่อทวนเลขบัญชีก่อนโอนทุกครั้ง” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าว
แฮกไลน์ ขโมยบัญชีไลน์ สวมรอยหลอกตุ๋นเงินเพื่อน
...
เช่นเดียวกับกรณีการแฮกเฟซบุ๊ก อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นที่ใกล้ตัวคนไทยและได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน “แอพพลิเคชั่นไลน์” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ เผยกับทีมข่าวฯ ว่า ที่ผ่านมาก็เกิดกรณีขโมยบัญชีไลน์ หรือแฮกบัญชีไลน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง...
โดยวิธีการและกลอุบายก็จะคล้ายๆ กับกรณีการแฮกเฟซบุ๊กและมีจุดประสงค์เพื่อสวมรอยยืมเงินเช่นกัน แต่ทั้งนี้ รูปแบบของแอพพลิเคชั่นไลน์นั้น เมื่อมีการเปลี่ยนโทรศัพท์แล้วล็อกอินเข้าใหม่ ข้อมูลในบัญชีเดิมก็จะหายไป ทำให้หลายคนรู้สึกว่าปลอดภัยและน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นนี้ให้ความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น โดยสามารถลงทะเบียนด้วยอีเมลได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ที่แม้จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่เมื่อคุณล็อกอินด้วยอีเมลก็จะหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ เอาไว้
“หลายคนคงรู้สึกว่า การล็อกอินด้วยอีเมล ทำให้การเชื่อมต่อเข้าระบบเน็ตเวิร์กทุกอย่างสะดวกและง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักตั้ง “รหัสผ่าน” เดียวกันทุกบัญชี ไม่ว่าจะเป็นอีเมล เฟซบุ๊ก และไลน์ ถามว่า ถ้ามิจฉาชีพสามารถคาดเดารหัสผ่านและเข้าถึงข้อมูลในบัญชีใดบัญชีหนึ่งได้ ก็สามารถเข้าได้ทั้งหมด”
พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์ส่วนตัวล็อกอินเข้าระบบไลน์ของเหยื่อ ระบบก็จะถามว่า “คุณแน่ใจหรือไม่ว่าจะล็อกอินด้วยเครื่องนี้ ?” มิจฉาชีพก็กด “ตกลง” ทันทีที่กด นั่นหมายถึงระบบก็จะมูฟบัญชีไลน์ของเหยื่อมาอยู่ในเครื่องของมิจฉาชีพ หลังจากนั้นก็เข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ และก็ใช้กลอุบายต่างๆ ในการเข้าไปหลอกยืมเงินเช่นเดียวกับกรณีแฮกเฟซบุ๊ก
...
ทำความรู้จัก “อีเมลสแกม” หรือ อีเมลต้มตุ๋น ภัยร้ายไซเบอร์ที่นักธุรกิจต้องรู้!
พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวกับทีมข่าวฯ อีกว่า ปัจจุบันรูปแบบอาชญากรรมทางการเงินบนอินเทอร์เน็ตที่พบมากที่สุดและมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดก็คือ อีเมลสแกม หรือ อีเมลต้มตุ๋น เพราะมักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยมิจฉาชีพจะเข้าไปแฮกอีเมลของบริษัทที่ทำการซื้อขายกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องโอนเงิน มิจฉาชีพจะทำการเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือแจ้งให้ลูกค้าติดต่อผ่านอีเมลใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับบริษัทที่ค้าขายระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการเสียหายมูลค่ามหาศาลหลายสิบล้าน และมีการแจ้งความเข้ามาเยอะมาก
“โดยรูปแบบการหลอกลวงผ่านอีเมลนั้น มิจฉาชีพจะล็อกอินเข้าไปแฮกอีเมลของบริษัทที่ทำการซื้อขายกันระหว่างประเทศ และมีการจะเปลี่ยนอีเมลให้คล้ายอีเมลเดิมให้มากที่สุด เพื่อแทรกแซงการส่งอีเมล เช่น 000000@xxxx.com เปลี่ยนเป็น OOOOOO@xxxx.com ซึ่งหากผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ตรวจสอบชื่ออีเมลให้ละเอียด ก็อาจตกเป็นเหยื่อและโอนเงินไปตามเลขบัญชีที่ระบุมา กว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกหรือโดนต้มตุ๋นก็เสียเงินไปมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเคยมีมูลค่าความเสียหายมาแล้ว มากถึง 30 ล้านบาทเลยทีเดียว”
พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ฝากถึงประชาชนถึงภัยการแฮกบัญชีผู้ใช้ระบบต่างๆ ด้วยว่า “จากหลายๆ เคสที่เกิดขึ้น พบว่า วิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในการเข้าไปแฮกระบบเน็ตเวิร์กต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ ศูนย์รวมหรือหัวใจหลักในการเข้าถึงข้อมูลระบบได้ก็คือ “อีเมล” เพราะเปรียบเสมือนบัตรประชาชนทางไซเบอร์ที่ใช้ในการล็อกอินเข้าระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกบัญชีเลยก็ว่าได้ ฉะนั้น อยากให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการใช้อีเมล หากใครที่มีอีเมลที่ไม่ได้ใช้ หรือห่างหายจากการใช้นานแล้ว ให้รีบเข้าไปดำเนินการปิดการใช้เสีย เพราะหากอาชญากรไซเบอร์รู้ว่ามี account นี้อยู่ พวกแฮกเกอร์จะมีความสามารถในการเจาะเข้าถึงข้อมูลบัญชีได้”
ปอท. แนะวิธีป้องกันภัย? “ผู้ใช้” อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ต้องรู้!
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ แนะถึงวิธีการป้องกันภัยสำหรับ “ผู้ใช้” อินเทอร์เน็ตยุคใหม่อีกว่า 1.การตั้ง “รหัสผ่าน” ในระบบเน็ตเวิร์กทุกบัญชี ไม่ว่าจะเป็นอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ ควรตั้งให้มีความซับซ้อนและยากขึ้น รวมถึงไม่ควรใช้รหัสผ่านเดียวกัน และ 2.ควรตั้งพาสเวิร์ดดับเบิ้ลล็อก หรือพาสเวิร์ด 2 ชั้น เพื่อให้มาตรการป้องกันที่มากกว่า 1 ขั้นตอน โดยการเข้าไปตั้งค่าเป็นการล็อกอิน 2 ขั้นตอน เมื่อมีการล็อกอินเข้าระบบในครั้งแรก ระบบจะส่งรหัสผ่าน 6 หลัก สามารถใช้ได้ 30 วินาที มายังโทรศัพท์ผู้ใช้ทุกครั้งที่มีการล็อกอินเข้าระบบ ก็จะช่วยป้องกันมิจฉาชีพเข้าไปแฮกระบบต่างๆ ได้
อย่างไรก็ดี พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การตามจับกุมอาชญากรทางไซเบอร์ในปัจจุบันยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนในการหาข้อมูลที่ซับซ้อนและสืบสาวถึงตัวอาชญากร ยิ่งถ้าเซิร์ฟเวอร์นั้นอยู่ต่างประเทศด้วยแล้ว ก็ทำให้ติดตามได้ยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตำรวจปอท. ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่
ทันเล่ห์อาชญากรตุ๋นไซเบอร์ แฮกอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ก่อนเงินหมดบัญชีไม่รู้ตัว!
นอกจากนี้ พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวถึงอีกหนึ่งรูปแบบการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่น่าสนใจและใกล้ตัวประชาชนอีกช่องทางหนึ่งก็คือ “อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง” ที่ใช้สำหรับการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่น โดยวิธีการหลอกลวงจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ...
- มิจฉาชีพหลอกขอรหัสผ่านแอพพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โอนเงินจากบัญชีธนาคารเหยื่อจนหมดบัญชี โดยวิธีการที่ใช้คือ ไปแจ้งกับทางผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่าซิมหาย ต้องการขอซิมใหม่ โดยใช้เอกสารปลอม สำเนาบัตรประชาชนปลอมที่ทำขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนซิมให้เป็นหมายเลขโทรศัพท์คนร้ายแทน จากนั้นก็โทรไปยัง call center ธนาคาร เพื่อรับรหัสผ่านเข้าแอพพลิเคชั่นอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โดยใช้ข้อมูลในบัตรประชาชนเหยื่อตอบคำถามยืนยันตนกับธนาคาร
“วิธีการป้องกันภัยในกรณีดังกล่าวนี้ หากคุณรู้ว่าซิมการ์ดใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตาม ผู้ใช้ต้องรีบดำเนินการติดต่อไปยังศูนย์บริการเครือข่ายเพื่อแจ้งระงับการใช้งานทันที หรือหากรู้สึกว่าจู่ๆ ก็ไม่มีสัญญาณเป็นเวลานาน ให้รีบแจ้งศูนย์ เพื่อตรวจสอบ ถ้าพบว่ามีการไปจดทะเบียนอยู่ที่อื่นให้รีบแจ้งระงับทันที”
- มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกถามเหยื่อ ในกรณีที่รู้ว่าเหยื่อทำธุรกิจ ก็จะเข้าไปทำทีหลอกคุยว่าสนใจจะซื้อ-ขายสินค้า สนใจจะทำธุรกิจร่วมกัน และมีการออกอุบายว่า แต่คุณต้องลงทะเบียนไว้กับทางบริษัท เพื่อหลอกขอเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
เมื่อได้เลขบัตรประจำตัวประชาชนเหยื่อมาแล้ว มิจฉาชีพก็ใช้วิธีการแจ้งเปลี่ยนซิมโทรศัพท์ทันที ขณะเดียวกันซิมการ์ดตัวนี้ผูกกับอีเมลในการรับรหัสผ่าน มิจฉาชีพก็เข้าไปแฮกอีเมลเหยื่อ และติดต่อไปยัง call center ธนาคารว่า ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งบัญชีนี้ได้ ให้ส่งรหัสผ่านมาให้ใหม่อีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลในบัตรประชาชนเหยื่อในการตอบคำถามยืนยันตนได้ทั้งหมด เพราะทาง call center ธนาคาร ไม่ได้มีมาตรการป้องกันใดๆ กระทั่งมิจฉาชีพได้รับรหัสผ่านใหม่ และเข้าไปโอนเงินหมดบัญชี
“โดยปัจจุบันการแฮกอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเกิดขึ้นมาก จึงอยากเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง ช่องโหว่อยู่ตรงไหน อาชญากรก็เลือกตรงนั้น ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้ใช้ ควรมีเวทีเสวนาร่วมแก้ปัญหาช่องโหว่ของระบบเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น ควรจะมีวิธีการระงับและป้องกันในกรณีแจ้งเปลี่ยนซิมการ์ด ควรมีการตรวจสอบมากกว่าเลขบัตรประชาชนและใบมอบอำนาจ หรือควรจะหน่วงระยะเวลาการเปลี่ยนซิมไว้ให้นานขึ้น หรือภายใน 24 ชม. เพื่อให้เจ้าของเลขหมายรู้ตัวก่อน เป็นต้น” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ระบุ
Hacker อาชญากรเหล่านี้เป็นใคร?
ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับ รูปแบบอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ประเภทที่ 2 ผู้สื่อข่าวยิงคำถามกับ พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ว่า อาชญากรส่วนใหญ่เป็นใคร? ได้รับคำตอบว่า “ลักษณะของอาชญากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีช่วงอายุระหว่าง 19-30 ปี ไม่มีงานการทำ ชอบเล่นเกมและรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีเป็นอย่างดี รวมถึงมักได้แรงบันดาลใจจากการเล่นเกม การโกงเกมคอมพิวเตอร์ ก็จะใช้วิธีการเหล่านี้เข้าไปแฮกข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้ โดยเรียนรู้วิธีการเหล่านี้มาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีการถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ”
“อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรตุ๋นโลกไซเบอร์ การสร้างความตระหนักรู้หรือสร้างความเข้าใจ ต้องเริ่มสร้างที่ “ผู้ใช้” เพราะแม้ระบบจะสร้างวิธีการป้องกันมากแค่ไหน แต่เมื่อไรก็ตามที่ผู้ใช้ยังคงตั้งรหัสผ่านล็อกอินง่ายๆ ก็อันตรายต่อการเข้าถึงการเจาะระบบได้อยู่ดี...” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าว
ตื่นค่ะ! หากคุณกำลังแชตคุยกับ “เทพบุตร โปรไฟล์ดี” ฟังทางนี้! ก่อนจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป...
ประเภทที่ 2 “อาชญากรใช้คอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิด” เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยอีกประเภทหนึ่ง และประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะ “ผู้ใช้” ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ รูปแบบการล่อลวงที่มิจฉาชีพประเภทนี้ใช้ ก็มีรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกขายของบนอินเทอร์เน็ต การสวมรอยเข้าไปพูดคุยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยออกกลอุบายให้เหยื่อหลงเชื่อว่ามีตัวตนจริง โปรไฟล์ดี มีอาชีพการงานดี ทำให้เกิดความสนใจ หลงเชื่อ จนนำไปสู่เชิงชู้สาว
- อย่างกรณีที่พบอยู่บ่อยครั้ง จะเป็นกรณีการรู้จักกันผ่านเฟซบุ๊ก มีการขอเป็นเพื่อนและพูดคุยโต้ตอบกัน จนเริ่มมีความสัมพันธ์และสนิทสนมกันมากขึ้น โดยผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นสาวไทย วัยทำงาน ผู้หญิงขี้เหงา หรือผู้หญิงม่าย ที่อยากหาเพื่อน หาแฟน หรือต้องการหาสามีต่างชาติ เมื่อเห็นว่าชาวต่างชาติมีฐานะก็ตาลุกวาว โดยอาชญากรจะใช้การออกอุบายหลอกลวงว่าจะส่งของมาให้ มีทั้งของขวัญและเงินสดจำนวนมาก แต่เหยื่อจะต้องไปจ่ายภาษีที่ศุลกากร หรือการโอนเงินข้ามประเทศที่ต้องใช้ค่าแปลงสกุลเงิน ด้วยความที่ฝ่ายหญิงรู้สึกว่าอยากได้อยู่แล้ว ก็หลงเชื่อด้วยการโอนเงินไป บางรายโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็โอนเงินไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวว่าโดนตุ๋น สูญเงินไปเป็นหมื่นเป็นแสน หรือบางรายสูญเงินเป็นล้านก็มีมาแล้ว
- อีกกรณีที่คล้ายๆ กัน คือ ผู้เสียหายหลายคนถูกชาวต่างชาติเชิญชวนให้เป็นเพื่อนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และแสดงความรักผ่านสื่อนั้นๆ จนนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว มีการแสดงภาพที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสังคมเหล่านั้นไป โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รู้เลยว่าอีกฝ่ายได้บันทึกภาพเหล่านั้นเก็บไว้เพื่อแบล็กเมล์ เรียกเงินเป็นจำนวนหลายแสนบาท แลกกับการไม่นำไปเผยแพร่
- และอีกกรณีที่พบอยู่บ่อยครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน คือ การโพสต์ขายสินค้าลงเว็บบอร์ดต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เมื่อเหยื่อโอนเงินไปแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้สินค้า มิจฉาชีพก็จะปิดช่องทางติดต่อหนีทันที ซึ่งกรณีดังกล่าวมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากฝากถึงประชาชนว่า ก่อนจะโอนทุกครั้ง ให้นำชื่อ-นามสกุล หรือเลขบัญชี ไปเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก่อนว่า บุคคลนี้เป็นใคร เคยมีประวัติอะไรมาก่อนหรือไม่ เพราะอาจเคยมีการโพสต์ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับบุคคลนี้มาก่อน ฉะนั้น ย้ำว่าควรเช็กก่อนโอนทุกครั้ง!
และรูปแบบอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ประเภทที่ 3 “อาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคอมพิวเตอร์” เช่น ก่อคดีอาชญากรรมต่างๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่า ปล้น ยาเสพติด ระเบิด แต่เป็นลักษณะที่อาชญากรใช้คอมพิวเตอร์ในการรวบรวมพยานหลักฐานหรือข้อมูลต่างๆ ที่คนร้ายเก็บเอาไว้ เช่น ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ สลิปการโอนเงิน หรือแม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือในกรณีที่พบว่าขณะเกิดเหตุคนร้ายจะใช้โทรศัพท์มือถือ โทรวิดีโอคอล หรือสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ยอมรับว่าทุกวันนี้การก่ออาชญากรรมทางโลกไซเบอร์มีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีต้องการตอบสนองให้ประชาชนใช้งานอย่างสะดวกสบายมากขึ้น การเพิ่มจำนวนของสื่อออนไลน์ชนิดต่างๆ มีมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการติดต่อสื่อสารผ่านโปรแกรมบนมือถือที่มีลักษณะเป็นส่วนตัว หรือเป็นกลุ่มมากขึ้น ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตรวจสอบบัญชีเงินฝากดังกล่าว และประสานมายังปอท. เพื่อทำการตรวจสอบผู้โพสต์ข้อมูลต่อไป
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทาง ปอท. ได้มีการเผยแพร่ความรู้ด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการระวังการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในสถานศึกษาและตำรวจท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ ประชาชนก็ต้องมีวิจารณญาณและความระมัดระวังการใช้งานด้วย เพราะภัยแฝงนั้นอาจจะมาในรูปแบบใหม่ๆ ทุกวัน แต่หากเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือแจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“หลายครั้งที่การก่ออาชญากรรมทางโลกไซเบอร์เกิดจากความไว้วางใจผู้อื่นและความโลภเป็นสำคัญ ซึ่งหากมีความยับยั้งชั่งใจในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็จะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึง "ผู้ใช้" ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
“เทคโนโลยี มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย อย่ามัวหลงระเริง บันเทิงใจกับความสะดวกสบาย และหวังที่จะเข้าถึงบริการเร็ว จนละเลยความปลอดภัย รวมถึงอยากย้ำเตือนประชาชนอีกครั้งว่า เช็กทุกครั้งก่อน "โอนเงิน" มิเช่นนั้น เหยื่อรายต่อไปอาจเป็นคุณ” ...
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ