“แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานซุกซน วันหนึ่งมันถูกฝน ไหลหล่นจากบนหลังคา พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว” เมื่อพูดถึงแมงมุม เพลงนี้ก็ดังกึกก้องเข้ามาในหูผู้สื่อข่าวทันที... 

หากพูดถึง 'แมงมุม' หลายคนอาจนึกถึงการชักใยระโยงระยางตามที่ที่มีฝุ่นหนาๆ แต่ใครจะรู้ว่า แมงมุมบางสายพันธุ์นั้น กลับมีพิษร้ายแรง ถึงขั้นทำให้ “มนุษย์” อย่างเราๆ ตายได้เหมือนกัน... อย่างกรณีที่เคยเป็นข่าวครึกโครมมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน หากใครจำได้ กับกรณีหนุ่ม จ.แพร่ ที่โดน ‘แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล’ กัดจนเกิดแผลเหวอะหวะน่ากลัว และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากฤทธิ์ของสัตว์มีพิษ ซึ่งคาดว่าเป็น ‘แมงมุมพิษ’ เช่นเดียวกัน...


จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายคนค่อนข้างตื่นตระหนกและวิตกกังวลว่า เอ๊ะ! แมงมุมมีพิษที่ว่านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร? แล้ว 'พิษแมงมุม' นี่รุนแรงถึงขั้นทำให้เราเสียชีวิตได้เลยหรือ? รวมถึงเมื่อถึงคราวเราถูกกัดขึ้นมา จะมีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร? ทุกประเด็นเหล่านี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง...

...

ทำความรู้จัก ‘แมงมุมพิษ’ 3 ชนิด มหันตภัยร้าย ในเมืองไทย ที่คุณเองก็ต้องระวัง!

ภายหลังจากกรณีการเสียชีวิต จากหัวใจล้มเหลวและกระแสโลหิตเป็นพิษจากฤทธิ์ของ ‘แมงมุมพิษ’ ชนิดหนึ่ง ตามที่เป็นข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคน ค่อนข้างตื่นตระหนกและหวาดกลัวว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแมงมุมชนิดไหนมีพิษ และควรเลี่ยงออกห่าง? นายประสิทธิ์ วงษ์พรม ผอ.ศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย อธิบายความรู้เกี่ยวกับแมงมุมพิษให้ฟังว่า จากรายงานความรู้เรื่องแมงมุมในประเทศไทยพบแมงมุมมีพิษที่ประชาชนควรรู้ อยู่ 3 ชนิด 1.แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล 2.แมงมุมแม่ม่ายหลังแดง และ 3.แมงมุมพิษสีน้ำตาล โดยลักษณะที่เด่นชัดของแมงมุมมีพิษให้สังเกตตรงบริเวณท้องจะป่องขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากแมงมุมที่เราเจอตามบ้านทั่วไป

สำหรับ 1. แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แถบฟลอริดา เทกซัส และบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร ซึ่งปัจจุบันแมงมุมชนิดนี้ได้ขยายพันธุ์กระจายไปทั่วโลกแล้ว และได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยแล้วด้วย และที่สำคัญ ปัจจุบันสามารถพบเจอได้ง่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสาเหตุการแพร่ระบาดนั้น คาดว่า จะเข้ามากับเรือสินค้าเป็นหลัก และมีรายงานด้วยว่า มีพ่อค้าบางคนนำมาขายให้คนที่ชอบเลี้ยงสัตว์แปลก โดยไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรง

ทั้งนี้ ลักษณะของแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล สังเกตง่ายๆ จะมีลายตรงหน้าท้องเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแสด หรือสีแดง และหากสังเกตหน้าท้องด้านบนจะมีสีน้ำตาลเป็นลักษณะครึ่งวงกลม ซึ่งบริเวณท้องจะมีสัดส่วนใหญ่กว่าส่วนหัวชัดเจนมาก โดยจะมีลายนูนบนท้องเป็นริ้วสีน้ำตาลสลับสีขาวอ่อนๆ ตรงริ้วเป็นจุดสามจุดเรียงกันสองแถว และจะมีถุงไข่เกาะรวมกันเป็นกลุ่ม มีลักษณะสีขาว คล้ายสำลีจุ่มน้ำ มีขนาด 1.5 เซนติเมตร และแมงมุม 1 ตัว สามารถวางไข่ได้มากถึง 20 ถุง ถุงละ 200-400 ฟอง

โดยแมงมุมชนิดนี้จะชอบชักใยทำรังอยู่ตามบริเวณที่รก เช่น ใต้ถุนบ้าน โรงรถ ห้องน้ำเก่า โรงไม้เก่า ลังไม้ รองเท้าเก่าๆ ใต้กะละมังเก่าๆ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้เก่าที่วางไว้นานๆ และต้องให้ความรู้อีกว่า ปัจจุบันแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล มีโอกาสที่คนจะพบเจอได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ พบเจอได้ทุกเขตพื้นที่ ซึ่งเขตที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งก็คือ เขตจตุจักร และสามารถพบได้ทุกช่วง แต่ช่วงที่แมงมุมกระจายตัวมากที่สุดคือช่วงหน้าหนาว เพราะจะอาศัยแรงลมในการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่

สำหรับลักษณะอาการที่เกิดขึ้น หลังจากโดนแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลกัดแล้ว ภายใน 15-30 นาทีแรก จะต้องมีอาการปวดร้อนและรู้สึกชาหรือตึงที่บริเวณแผล โดยลักษณะของแผลจะแดงเป็นจ้ำๆ ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะพิษของแมงมุมชนิดนี้จะเข้าไปทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชาขึ้นมา

...

2. แมงมุมแม่ม่ายหลังแดง ลักษณะของแมงมุมชนิดนี้ จะมีพิษอยู่บริเวณหลัง ลักษณะคล้ายเพลิงสีแดง ใต้ท้องจะมีสีส้ม แมงมุมชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่บริเวณใต้โพรงดิน สามารถพบเจอได้ตามภาคตะวันออก ภาคกลาง เป็นต้น

โดยลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ภายหลังจากโดนกัด จะมีอาการร้อนและชาที่แผล ซึ่งบริเวณแผลจะมีลักษณะแดงเป็นจ้ำๆ เล็กน้อย แต่ไม่มีแผลเหวอะวะ ซึ่งจากเคสที่เคยถูกแมงมุมแม่ม่ายหลังแดงกัด เมื่อเข้ารับการรักษาจะอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและระมัดระวังไม่ให้แผลติดเชื้อ

3. แมงมุมพิษสีน้ำตาล แมงมุมชนิดนี้ไม่ใช่สายพันธุ์แม่ม่าย มักจะกระจายตัวอยู่ในถ้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบตามหมู่บ้านแต่อย่างใด ซึ่งพิษของแมงมุมชนิดนี้จะทำลายระบบเลือด มีอาการร้อนและชาที่แผล โดยภายหลังจากที่โดนกัดไปแล้ว 2 วัน แผลจะเริ่มเกิดการอักเสบ มีลักษณะเหวอะหวะคล้ายกับงูกระบะกัด ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้นาน 10-20 วัน แผลจะเน่าได้ และในบางรายที่แพ้พิษก็อาจมีไข้ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ แมงมุมสายพันธุ์แม่ม่ายอีกชนิดที่พิษค่อนข้างรุนแรงคือ ‘แมงมุมแม่ม่ายดำ’ พิษของแมงมุมชนิดนี้จะรุนแรงพอๆ กับ 'แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล' แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าพบแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย แต่ถ้าหากมี ก็อาจจะมาจากคนที่แอบนำมาเลี้ยงไว้

...

รู้ไว้จะได้ระวังถูก! เช็กความต่างระหว่าง ‘แมงมุมพิษ’ VS ‘แมงมุมบ้านทั่วไป’

ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม อธิบายถึงข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างแมงมุมทั่วไปกับ 'แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล' เพิ่มเติมว่า นอกจากลักษณะลำตัวที่แตกต่างตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ให้สังเกตลักษณะของการทำรังหรือการชักใย เนื่องจากแมงมุมทั่วไปจะชักใยค่อนข้างสวยงามเป็นระเบียบและชักใยอยู่ที่สูง เช่น ตามขื่อ ตามคาน หรือหลังคาบ้าน แต่แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะทำรังอยู่ที่ต่ำ สูงไม่เกิน 1 เมตร และลักษณะรังหรือการชักใยจะยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ

‘พิษแมงมุม’ ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ จริงหรือ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า แมงมุมสายพันธุ์แม่ม่าย จะมีพิษรุนแรงทำลายระบบประสาท ระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้มนุษย์อย่างเราๆ เจ็บปวดทรมานได้หากถูกกัด แต่ก็ยืนยันว่าพิษของมัน ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงให้นำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกเสียจากว่า แผลไม่สะอาดจนนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีโรคประจำตัว ดื่มเหล้าอย่างหนักแล้วถูกแมงมุมตระกูลแม่ม่ายกัดจนกระทั่งพิษเข้าสู่กระแสเลือด หรือทำลายระบบประสาท จนหัวใจวาย เป็นต้น

ขณะที่ อ.พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช อธิบายความรู้เรื่องพิษของแมงมุมที่พบในประเทศไทยว่า แมงมุมเป็นสัตว์ตัวเล็ก เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำพิษแมงมุม เมื่อกัดและปล่อยเข้าไปสู่คนจะมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานหรือวินิจฉัยอย่างจริงจังว่า พิษแมงมุมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกรณีของการเสียชีวิตจากพิษแมงมุมโดยตรง ดังนั้น ยืนยันว่า พิษแมงมุมในประเทศไทย ไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตแน่นอน

...

แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ภายหลังจากที่โดนแมงมุมพิษกัดได้ก็คือ ภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อจากแผล เนื่องจากความสกปรกของสัตว์ที่เข้าไปในผิวหนัง และเรื่องของอาการแพ้พิษในบางราย เช่น ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง มีไข้ หรือบางคนแพ้มากถึงขั้นหายใจไม่ออก

เจาะพิษแมงมุมรุนแรงกว่าพิษงู จริงหรือ?

ส่วนประเด็นที่หลายคนอาจเคยได้ยินมา และสงสัยว่า จริงหรือไม่ว่า พิษของแมงมุมรุนแรงกว่าพิษงู? อ.พญ.ธัญจิรา ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า หากเทียบปริมาณของพิษที่เท่ากัน พิษแมงมุมรุนแรงกว่าพิษงู เพียงแต่ว่าด้วยปริมาณของพิษแมงมุมที่ปล่อยสู่เหยื่อหรือคนนั้นมีปริมาณน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณพิษของงูที่ปล่อยเข้าสู่เหยื่อ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ไม่อยากให้หลายคนวิตกกังวล เพราะโดยรวมแล้วพิษแมงมุมที่มีปริมาณน้อยมาก พิษจะไม่รุนแรงและอันตราย

อ.พญ.ธัญจิรา กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปลักษณะอาการของแมงมุมกลุ่มแม่ม่าย ภายหลังจากที่ถูกกัด อาการที่เกิดขึ้นจะปวดมาก เพราะด้วยกลไกของพิษในกลุ่มนี้ จะไปทำให้เส้นประสาทมีการหลั่งตัวสารเคมีออกมา จึงทำให้มีการปวดได้มาก ในบางรายจะมีอาการอื่นๆ ที่เป็นเฉพาะตัวบุคคล เช่น ท้องแข็งเกร็ง มีคลื่นไส้อาเจียนได้ มีเหงื่อออก ขนลุก นอกจากนี้อาจมีอาการที่เกิดจากการแพ้ เช่น คัน มีผื่น มีไข้ ฯลฯ

ส่วนลักษณะของแผลจะเกิดเป็นจุดเล็กสองจุด ไม่ห่างกัน หรือในบางรายที่อาจจะเกิดแผลเหวอะหวะได้ ด้วย 2 กรณี คือ 1.จากการที่แผลมีการติดเชื้อ เนื่องจากปล่อยผ่านไปหลายวัน จนแผลมีการบวม อักเสบ จนกระทั่งเหวอะหวะ แต่โดยทั่วไปพิษของแมงมุมโดยตรงนั้น ไม่มีฤทธิ์ละลายเนื้อเยื่อ และ 2.กรณีโดนแมงมุมพิษสีน้ำตาลกัด ลักษณะของแผลก็จะแห้งๆ เนื่องจากตัวกลไกของพิษชนิดนี้จะทำลายเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ ซึ่งจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าแผลจะค่อยๆ แห้ง คล้ายแผลคนไข้ที่เป็นเบาหวาน

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ต้องรู้! แมงมุมพิษกัดปุ๊บ ต้องทำยังไง?

เพราะฉะนั้น ถามว่า เมื่อโดนแมงมุมพิษกัด ต้องทำอย่างไร? อ.พญ.ธัญจิรา แนะความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ฟังว่า “ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า ถ้าโดนแมงมุมพิษเหล่านี้กัด ให้รีบล้างน้ำที่สะอาด หรืออาจถูสบู่ร่วมด้วย ในบริเวณที่ถูกกัดทันที เพื่อทำความสะอาดแผลไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หลังจากนั้นก็คอยสังเกตอาการ หากไม่มีอาการหรือรู้สึกปวดเล็กน้อย กรณีนี้สามารถรอสังเกตดูอาการที่บ้านเองได้ โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่หากว่ายังไม่หายภายใน 24 ชม. หรือเริ่มรู้สึกปวดแสบ ปวดร้อน ตึง และมีอาการชาขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีไข้ ให้ไปโรงพยาบาลทันที”

ถามว่า จำเป็นต้องเอาแมงมุมไปด้วยหรือไม่? “กรณีที่ตีจนแมงมุมตายแล้วก็ควรนำมายังโรงพยาบาลด้วย เพื่อการรักษาที่ชัดเจนว่าเป็นแมงมุมชนิดใด หรือหากยังไม่ตายก็ควรนำใส่ขวด หรือภาชนะอื่นๆ มา เพื่อความชัดเจนในการวินิจฉัยและรักษา แต่เน้นย้ำว่า ห้ามเอามือหรืออวัยวะใดๆ ไปจับอย่างเด็ดขาด และหากไม่เจอตัวแมงมุมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องหาหรือไล่ล่ามา” ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ระบุ

สำหรับกระบวนการรักษา แพทย์ก็จะวินิจฉัยจากลักษณะของแผลอันดับแรกว่า แผลมีการอักเสบติดเชื้อหรือไม่ หากมีการติดเชื้ออาจต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ และลำดับต่อมาจะต้องมีการควบคุมอาการปวดในเบื้องต้น แต่ในกรณีที่ลักษณะของแผลอักเสบและรุนแรงมาก จำเป็นต้องมีการกรีดแผล หรือทำการผ่าตัด ซึ่งการรักษาก็ต้องดูเป็นกรณีๆ ไปตามอาการที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่ม หรือยาต้านพิษ เนื่องจากพิษแมงมุมในประเทศไทยไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เหมือนกับในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านพิษ

ผู้เชี่ยวชาญแมงมุมแนะ ป้องกันได้ โดยการหมั่นทำความสะอาดบ้าน

อย่างไรก็ดี นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนสามารถกำจัดแมงมุมพิษเหล่านี้ได้ ด้วยการดูแลรักษาทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากพบแมงมุมชนิดมีพิษอยู่ในบริเวณใด ยิ่งต้องหมั่นทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น วันละ 3 ครั้งได้ยิ่งดี เพราะเมื่อแมงมุมพิษเหล่านี้ มาอาศัยอยู่จะต้องวางไข่ โดยเฉลี่ยแมงมุม 1 ตัว สามารถออกไข่ได้ 20 ถุง ถุงละประมาณ 200-400 ฟอง ดังนั้น ควรกวาดบ้านบ่อยๆ เพื่อเป็นการรบกวนแหล่งที่อยู่ แมงมุมเหล่านี้ก็จะหายไปเอง แต่ไม่ควรนำสารเคมี อาทิ ยาฉีดยุง ฉีดปลวก มด หรือแมลง ไปฉีด เพราะแมงมุมไม่ตาย แถมยังสามารถซ่อนตัวได้

“ดังนั้น อยากเตือนประชาชนว่า ณ วันนี้ เรื่องของแมงมุมพิษนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่และสามารถพบเจอได้ทั่วไป ไม่อยากประชาชนตื่นตระหนกกันมากเกินไป แต่ควรจะต้องรู้และทำความเข้าใจว่า แมงมุมมีพิษหน้าตาเป็นอย่างไร พบเจอได้ง่ายตามสถานที่ใดบ้าง เพื่อให้ระมัดระวังและอย่าเข้าใกล้ รวมถึงเมื่อโดนกัดแล้ว จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร เพราะหากเราดูแล รักษาถูกต้อง ก็อย่าไปกังวลว่าเมื่อโดนแมงมุมกัดแล้วจะเสียชีวิตทันที ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโอกาสการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย” ผอ.ศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย กล่าวทิ้งท้าย.

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
    

reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ