เรียกว่าเป็นยุคที่น่าหวั่นเกรงสุดๆ สำหรับ เหล่าร้าย หรือใครก็ตามที่คิดจะทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเมื่อไหร่ ที่ใด แต่หากสมพงศ์ถึงเวลาชี้ชะตาช่วงนี้ก็มัก "ไม่รอด" แม้แต่รายเดียว แม้เขาผู้นั้นจะยิ่งใหญ่ มากบารมีแค่ไหนก็ตาม ใช่แล้ว... วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กำลังกล่าวถึงคดี "ปอ ประตูน้ำ" หรือ นายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ผู้กว้างขวางการพนัน ในวัย 75 ปี แต่กลับมา "ตกม้าตาย" ในคดี "รุกที่ถมทะเล" กฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันสร้างสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในทะเลในเขตน่านน้ำไทย จ.ตราด อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต

ผู้กว้างขวางวงการพนัน ถูกจับเข้าซังเต คดีรุกที่ถมทะเล!

ในคดีนี้ ศาลฎีกาได้ตัดสิน ตั้งแต่ "ปีมะโว้" ซึ่งก็เกือบ 2 เดือนที่แล้ว คดีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลังถูกกล่าวหาร่วมกันสร้างสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในทะเลในเขตน่านน้ำไทย พื้นที่หมู่ 6 ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด รวมเนื้อที่กว่า 40 ไร่ แถมยังถูกดำเนินคดีตามความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า "ปอ ประตูน้ำ" มีความผิดจริงพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรม โดยสั่งจำคุก 12 ปี และปรับ 69,255,000 บาท จากนั้น อดีตผู้กว้างขวางย่านประตูน้ำ ได้ยื่นอุทธรณ์ พร้อมใช้หลักทรัพย์ขอประกันตัวชั่วคราว ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้คำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยกรรมเดียว จำคุก 5 ปี จนสุดท้ายโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา

...

กลับลำ “ถอนคำให้การเดิมจาก “ปฏิเสธ” เป็น​ “รับสารภาพ”

เมื่อถึงชั้นศาลฎีกา ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา ที่ศาลจังหวัดตราด ตามคดีอาญาดำหมายเลข 359/50 คดีอาญาแดงหมายเลข 1879/50 ซึ่งนายไพจิตร ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ เจ้าตัวได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นศาลฎีกา และขอให้ลงโทษสถานเบา ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องประการหนึ่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ได้ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

อีกทั้งตามฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการรับโทษนั้นพิจารณาเห็นว่า การที่จำเลยถมดินลงไปในทะเลเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขให้มีสภาพกลับมาดีดังเดิมได้อีก แม้จะมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางส่วนออกตามที่จำเลยอ้างแล้วก็ตาม แต่สภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลก็ต้องเปลี่ยนแปลงไม่อาจกลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งจำนวนเนื้อที่ที่มีการบุกรุกถมทะเลเป็นเนื้อที่จำนวนมาก ตามคำฟ้องปรากฏว่ามากถึง 69,255 ตารางเมตร เดิมที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุมีป่าชายเลนขึ้นอยู่ แต่จำเลยกระทำการบุกรุกถมดินเข้าครอบครอง เป็นการแสวงหาประโยชน์ เพียงเพื่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ทรัพยากรทางธรรมชาติอันเป็นของส่วนรวม เป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก จำเลยกระทำอย่างอุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษจำคุกจำเลยเพียง 5 ปี ยังนับว่าเป็นโทษที่เบาเกินไป

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเมื่อพิจารณากำหนดโทษจำคุกของจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดคือ 12 ปีแล้ว จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้อีก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

แหล่งข่าวภายในเรือนจำ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว "ไทยรัฐ" ว่า อดีตผู้กว้างขวางคนดังถูกจองจำเหมือนนักโทษทั่วไป โดยไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น ล่าสุด นายไพจิตรป่วยเป็นอัมพฤกษ์ที่ขา ต้องนอนพักรักษาตัวที่เรือนพยาบาลภายในเรือนจำ โดยมีญาติและคนสนิทเดินทางไปเยี่ยมไม่ขาดสาย เพราะญาติเป็นห่วงที่นายไพจิตรป่วย ต้องรักษาตัวอย่างใกล้ชิด

เปิดประวัติเส้นทางผู้ยิ่งใหญ่ประตูน้ำ

สำหรับ “ปอ ประตูน้ำ” นั้น เกิดเมื่อปี 2487 ปัจจุบัน อายุ 72 ปีแล้ว นายไพจิตร เดิมทีมีอาชีพขายหมู และต่อมา ได้ทำงานที่โรงน้ำชา ย่านทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ต่อมาก็ได้มาเป็นคนสนิทของ “เสี่ยโง้ว” เจ้าของบ่อนย่านนั้น และได้ย้ายบ่อนมาอยู่ที่ “ประตูน้ำ” 

ตัวอย่างคดีคล้ายกัน “รื้อบาร์เบียร์” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กลับลำ จำคุก 2 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี (28 ม.ค.59) ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กับพวก รื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิท เมื่อปี 2546 คดีหมายเลขดำ ด.2150/2546 ตามที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ และกลุ่มผู้ค้า รวม 44 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชูวิทย์, พ.ท.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือ เสธ.หิ และ พ.ต.ธัญเทพ ธรรมธร หรือ เสธ.แอ๊ป และพวกรวม 130 คน เป็นจำเลยที่ 1-130 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์, บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากเสรีภาพ

...

“ผมไม่เคยคิดแม้วินาทีเดียวจะหลบหนีไปนั่งจิบไวน์บนเรือยอชต์ ถ้าวันนี้จะติดคุก ถูกสื่อมวลชนนำไปพาดหัวยังไงก็พร้อม วันนี้พร้อมที่จะฟังคำพิพากษาโดยนำพระติดตัวมาด้วย เชื่อว่าปาฏิหาริย์มีจริง และหากถูกพิพากษาลงโทษให้จำคุก จะขอใช้ชีวิตในคุก ไม่ขออภัยโทษ จะขึ้นรถบัส ไปใช้ชีวิตนักโทษในเรือนจำ ตามปกติ เพราะเคยเป็นมาหมดแล้วทั้งเจ้าพ่อ หัวหน้าพรรค ตนเป็นได้ทุกอย่าง" นายชูวิทย์ กล่าวหลังจากสักการะศาลพุทธธรรมาภินายก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนฟังคำพิพากษา

ต่อมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามีใจความว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่นายชูวิทย์จำเลยขอถอนคำให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพนั้น ซึ่งการแก้คำให้การนั้นจะต้องทำก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า หลังเกิดเหตุ นายชูวิทย์ ได้มีการเยียวยาผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว และภายหลังได้นำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่านายชูวิทย์กับพวกจำเลย รู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุให้ปรานี ศาลจึงเห็นควรปรับบทลงโทษให้เหมาะสม ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ว่า ให้จำคุกนายชูวิทย์ พ.ท.หิมาลัย, พ.ต.ธัญเทพ เป็นเวลา 2 ปี ส่วนจำเลยอื่นๆ ศาลลงโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี 15 วัน ถึง 4 ปี (จากเดิมชั้นอุทธรณ์ลง 5 ปี)

...

16 ปีแห่งความหลัง คดีโคตรโกงเลือกตั้ง! ส่ง ผู้กว้างขวางปากน้ำ “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” เข้าเรือนจำ

เรื่องนี้เหตุเกิดเมื่อปี 2542 ช่างภาพ ITV ทีวีเสรี ได้ไปเกาะติดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) นครปากน้ำ หลังได้รับการยกฐานะจากเทศบาลเมือง มาเป็นเทศบาลนคร โดย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม รักษาการนายกเทศมนตรีนครปากน้ำ

ในระหว่างที่กำลังเปิดให้มีการหย่อนบัตรลงคะแนน ที่คูหาเลือกตั้งแห่งหนึ่งก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อพบว่า จู่ๆ ได้มีชาย 2 คน สวมหมวกกันน็อก วิ่งปรี่เข้าไปในคูหาเลือกตั้งที่ 7 หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 2 พ.ค.2542 จากนั้นได้กระทำการที่สุดจะอุกอาจเกินกว่าที่จะมีใครคาดหมาย โดยชายคนแรกตรงเข้าใช้กุญแจที่พกติดตัวมา เปิดหีบบัตรเลือกตั้งอย่างง่ายดาย ส่วนชายคนที่ 2 ได้นำถุงกระดาษที่เตรียมมา ซึ่งภายในบรรจุบัตรเลือกตั้งที่มีการกาเลือกเบอร์แล้ว รวมกว่าร้อยใบลงไปในหีบบัตรเลือกตั้ง ต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำคูหาเลือกตั้ง

...

ในเวลาต่อมา ได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ และได้ผลที่น่าสนใจ 3 ประเด็น คือ 1. มีการทุจริต กระทำผิดกฎหมาย โดยมีการเปิดหีบเลือกตั้งทั้งหมด 5 หน่วยเลือกตั้ง 2. มีการกระทำส่อไปในเชิงทุจริตลักษณะอื่น เช่น ใช้บัตรปลอม นำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้งหนึ่งไปใช้อีกหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง จำนวน 15 หน่วยเลือกตั้ง และ 3. พนักงานเจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เมื่อพบเห็นการกระทำผิด  

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ นายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มเมืองสมุทร ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่า การเลือกตั้งมีการทุจริตเกิดขึ้น กระทั่ง 3 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ยื่นฟ้อง นายชนม์สวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มปากน้ำปี 2000 ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและปลอมแปลงเอกสารราชการ

โดยในคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2542 ถึง 2 พ.ค. จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ ในสมัยนั้น เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาลนครสมุทรปราการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นพนักงานตามกฎหมาย ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและปลอมแปลงเอกสารราชการ

กระทั่งวันที่ 4 ส.ค.2558 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 6 ซึ่งนายชนม์สวัสดิ์เดินทางมารับฟังคำตัดสินด้วยตัวเอง แต่กลับไร้เงานายปิติชาติ โดยแจ้งว่าเจ็บป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายปิติชาติ เนื่องจากเคยกำชับแล้วว่าคดีนี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง และขอให้จำเลยทั้งสองเลี่ยงการไม่มาตามนัดศาล

ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษากว่า 2 ชม. ระบุว่า จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 มาศาล แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ยังจับตัวไม่ได้และพ้นระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ออกหมายจับแล้ว จึงได้มีการอ่านคำพิพากษาฎีกาลับหลังจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ให้จำคุกทั้งสองคนโดยไม่รอลงอาญา โดยลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้งสองคน คนละ 4 ปี เป็นอันสิ้นสุดคดี “โคตรโกง” ที่ยาวนานมาราธอนถึง 16 ปี

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่

 reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ