“เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การคงสภาพวิถีเดิมก็เป็นเรื่องยาก แต่การหยุดไม่ให้มีการทำลายป่าไปมากกว่านี้จึงน่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งปัญหาได้” โดย บัณฑูร ล่ำซำ

สภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำน่านล่าสุด ในพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน แทบไม่เหลือความเป็นป่าดังเช่นเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา หากมองออกไปสุดลูกหูลูกตาจนถึงสันเขาแนวชายแดนไทยลาว จะเห็นเป็นภูเขาหัวโล้นสลับกับผืนป่าสมบูรณ์ที่หลงเหลือค่อนข้างน้อยมาก และบางจุดมีการเผาป่าจนสามารถมองเห็นกลุ่มควันไฟลอยขึ้นเหนือท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน...

ภูเขาหัวโล้น ภูเขาที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าจนเป็นที่เลื่องลือของจังหวัดน่าน แต่ในวันนี้ป่าเหล่านี้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จนแทบจะปลูกป่าไม่ทันการตัดไม้ทำลายป่าด้วยซ้ำไป...? สถานการณ์ป่าต้นน้ำน่านที่เคยมีสภาพดินดี น้ำดี สีเขียวขจี กำลังเข้าสู่ห้วงวิกฤติ เหลือเพียงภูเขาโล้นแล้ง เนื่องด้วยปัญหาตัวแปรประชากรที่หนาแน่นขึ้น ตลาดทุนนิยมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าเข้าไปเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา  

...

ภูมิประเทศของจังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 7,601,880.49 ไร่ หรือ 12,163.04 ตร.กม. โดยร้อยละ 87.2 ของพื้นที่เป็นภูเขา และร้อยละ 12.8 เป็นพื้นที่ราบ ทั้งนี้ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 6,496,231.62 ไร่ ขณะที่มีการปลูกพืชไร่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,180,859.49 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.41 ของพื้นที่ป่าในจังหวัดทั้งหมด ทำให้จังหวัดน่าน เหลือพื้นที่ป่าเพียง 4,892,272.80 ไร่ โดยจากการสำรวจตัวเลขสถิติพื้นที่ป่า พบว่า ลดลงเฉลี่ยปีละ 70,000-100,000 ไร่ ฉะนั้น ถือเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญว่าทำไมจึงต้องรักษาป่าต้นน้ำน่านอย่างจริงจัง!!! (อ้างอิงตัวเลข โดยธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ สกว. / มูลนิธิฮักเมืองน่าน / มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ที่ผ่านมา ความพยายามของทุกภาคส่วน ในการที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าในเมืองน่านดำเนินการมาเนิ่นนาน แต่ปีแล้วปีเล่าตัวเลขการบุกรุกกลับเพิ่มอย่างไม่หยุดหย่อน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงเดินหน้าสืบเสาะหาต้นตอการทำลายล้างผืนป่ามหาศาลที่แท้จริง โดยพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กูรูในพื้นที่ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า...

เจาะเบื้องหลังต้นตอ การทำลายล้างมหาศาล ผืนป่าต้นน้ำน่าน

ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามถึงเบื้องหลังต้นตอการทำลายล้างผืนป่าอันเขียวขจีที่เคยเป็นที่เลื่องลือของจังหวัดน่าน กับ นายสำรวย ผัดผล ปราชญ์ชาวบ้าน และประธานมูลนิธิฮัก เมืองน่าน เผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน สภาพป่าต้นน้ำน่าน เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากในบรรดาแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น พบว่า ปริมาณน้ำดิบร้อยละ 40 เป็นน้ำที่มาจากลำน้ำน่านทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยผืนป่ากว้างในการเป็นตัวซับน้ำและปล่อยน้ำ แต่ในภายหลังเกือบ 40 ปีถัดมานี้ พืชเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จนกลายสภาพมาเป็นพื้นที่โล่งโล้นอย่างที่ถูกพูดถึงกันมากในปัจจุบัน

ซึ่ง ณ วันนี้ เมื่อสภาพพื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ได้ถูกเปลี่ยนการใช้จากแต่เดิมเป็นเพียงสภาพป่าทั้งหมด กลับกลายมาเป็นไร่ข้าวโพด โดยชาวบ้านกลุ่มดั้งเดิม พวกเขาใช้วิธีกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะใช้สารฆ่าหญ้า เพื่อฆ่าทำลายพืชต่างๆ รวมถึงการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่เข้าไปไถ ซึ่งเป็นมูลเหตุใหญ่ที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวนี้ ถูกทำลายจนกลายสภาพมาเป็นพื้นที่โล่งเตียน จนไม่เหลือแม้แต่ต้นไม้ ป่าไม้ก็ถูกทำลายหายหมด อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“มาถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ผมไม่อยากให้มากล่าวหา หรือนั่งหาแพะว่าใครเป็นผู้ร้าย แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการทำมาหากิน ในเมื่อที่ดินไม่พอทำกิน เขาก็เขยิบไปทีละนิดๆ เพราะอย่างไรเสียก็ผิดกันหมดทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภาครัฐ ผู้บริโภค บริษัทนายทุนที่รับซื้อพืชไร่ พวกสัมปทานป่า นักค้าไม้ รวมไปถึงชาวบ้านทุกชนเผ่า หรือแม้แต่คนที่ไม่ทำอะไรเลยก็ถือว่ามีส่วนผิด ที่ปล่อยปละละเลยกันมาจนทุกวันนี้ ดังนั้น ผมกำลังวิเคราะห์ให้เห็นว่า พลังของการทำลายล้าง เป็นพลังร่วมของคนทุกฝ่ายเท่าที่ผ่านมา จะโดยอ้อมหรือโดยตรงก็แล้วแต่” ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าว.

...

ชาวบ้านกินป่าเป็นอาหาร ยอมทำลายป่าไม้ เพื่อสร้างถิ่นทำมาหากิน

อย่างไรก็ตาม สภาพพื้นที่ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำลายล้างที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ชาวบ้านอยู่กันได้อย่างไร อะไรคือเหตุผลที่ยอมทำลายผืนป่ามหาศาล แลกกับการทำกิน? ในส่วนนี้ ปราชญ์ชาวบ้าน ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า เนื่องจากแต่เดิมลักษณะพื้นที่เป็นเพียงป่าอย่างเดียว ทำให้ชาวบ้านมีการถือครองครัวเรือนในลักษณะพืชหมุนเวียนทุกปี แต่ปัจจุบันเป็นช่วงของพืชเศรษฐกิจเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวโพด ถือเป็นพืชที่ตอบโจทย์กับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไปยังโรงงานปศุสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ พูดง่ายๆ ก็คือ มีกลุ่มนายทุนและวงจรการซื้อข้าวโพดที่ชัดเจนและแน่นอน 

แต่ถามว่า คุ้มกันหรือ? กับการแลกป่าต้นน้ำที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นที่ทำมาหากิน นายสำรวย แสดงทรรศนะว่า “อย่างไรก็ได้ไม่คุ้มเสียอยู่แล้ว ชาวบ้านเองก็รู้กันดีว่า การทำลายผืนป่านั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะยาวก็คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง และดินถล่ม แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการที่สุดก็คือ ความจำเป็นในการแสวงหารายได้ เพื่อมีเงินหมุนเวียนในครัวเรือน”

...

ทำลายล้างป่าต้นน้ำ เพื่อแลกมาด้วยการทำไร่ข้าวโพด ให้มีกินไปวันๆ คุ้มหรือ?

ขณะที่ นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน สะท้อนให้ฟังว่า “ถ้าเลิกทำไร่ข้าวโพดได้ก็อยากเลิก เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสียนัก และก็คงไม่มีใครอยากทำงานอยู่บนยอดเขา เพราะฉะนั้นหากมีทางเลือกอื่น หรือค่าตอบแทนที่ดีกว่านี้ก็คงยอมเลิกทำไร่ข้าวโพด” ซึ่งแม้ว่าการทำไร่ข้าวโพดจะได้ค่าตอบแทนหรือได้ผลผลิตไม่มาก แต่เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้ ไม่ได้มีต้นทุนสูงนัก ฉะนั้น การเลือกทำไร่ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่สามารถทนแล้งได้และไม่ตาย ทั้งยังมีตลาดรองรับซื้อข้าวโพดอยู่แล้ว ทำให้พวกเขาสามารถนำเงินส่วนนั้นมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครัวเรือนได้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาถึงเลือกแลกผืนป่าไว้เป็นที่ทำกิน

ถามว่า พืชชนิดอื่นได้ไหม ทำไมต้องไร่ข้าวโพด? คำตอบคือ ต่อให้เปลี่ยนเป็นปลูกพืชอื่น ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำ มันสำปะหลัง หรือขิง ก็ตาม ส่งผลต่อสภาพหน้าดินในลักษณะที่รุนแรงมากกว่าการทำไร่ข้าวโพดด้วยซ้ำไป เนื่องจากต้องใช้หน้าดินที่ลึกลงไปกว่าเดิม 

...

แลกป่าทำมาหากิน กระทบวิถีชีวิตและภัยธรรมชาติในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบถึงต้นตอของการตัดไม้ทำลายป่า จนเหลือเพียงสภาพพื้นที่โล้นๆ เตียนๆ จนแทบไม่เหลือพื้นที่สีเขียวไว้ให้เชยชมแล้วนั้น ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตอยู่กันได้อย่างไร ได้รับผลกระทบจากป่าที่สูญสิ้นบ้างหรือไม่? ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ให้ความเห็นว่า ป่าต้นน้ำมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นต้นน้ำหลักให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผืนป่าน่าน เมื่อถูกทำลายล้างจนแทบไม่เหลือซากแล้ว แน่นอนว่า ไม่มีผืนป่าคอยซับน้ำ ผลกระทบที่ตามมากับภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ย่อมรุนแรงมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิกฤติน้ำแล้งรุนแรง หรือในภาวะน้ำไหลหลากก็จะค่อนข้างรุนแรง 

ส่วนผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ก็เช่น สภาพหน้าดินเสื่อมพัง ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ส่งผลต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำจนไม่สามารถอยู่ได้ และที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ ความเสื่อมโทรมของสภาพน้ำเป็นอย่างไร ก็ล้วนส่งผลต่อแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นกัน เนื่องจาก 40% ของปริมาณน้ำที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มาจากต้นน้ำน่าน

ประธานมูลนิธิฮัก เมืองน่าน ก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมา แม้ชาวบ้านจะยอมแลกป่าเพื่อทำกิน แต่แน่นอนว่าพวกเขาเองก็ต้องทนอยู่กับสภาพความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น 1. เรื่องความมั่นคงทางทรัพยากรอาหาร เนื่องจากในสมัยก่อน ป่าก็เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน ที่จะต้องอาศัยพรานป่าในการออกล่าเหยื่อ แต่ปัจจุบันไม่มีสัตว์หลงเหลือให้ล่าแล้ว 2. ไม่มีพืชผักให้กลุ่มแม่บ้านเข้าไปเก็บใช้ในครัวเรือน 3. จากวิถีชีวิตที่เคยมีแม่น้ำลำธารไว้ดื่มใช้อย่างไม่ขาดแคลน แต่สภาพน้ำในปัจจุบันไม่สามารถดื่มกิน หรือนำไปใช้ได้ เนื่องจากสารพิษเจือปนจากสารฆ่าหญ้า 4. ด้วยสภาพภูเขาที่มีลักษณะสูงลาดชัน ฉะนั้น เมื่อมีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไป ตะกอนจากหน้าดินก็จะทับถมลงสู่แม่น้ำ ส่งผลต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำ ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และ 5. ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วมฉับพลัน วิกฤติน้ำแล้ง และดินถล่ม  

“ป่าฟื้นได้ ไม่ใช่เรื่องยาก” ปราชญ์ชาวบ้าน แนะ 2 วิธีฟื้นฟูป่า...?

“ป่าฟื้นได้ ไม่ใช่เรื่องยาก... หากฟื้นมันด้วยใจ” ปราชญ์ชาวบ้าน เสนอแนวทางการฟื้นป่าอย่างเป็นรูปธรรมว่า จากการวิเคราะห์ลักษณะกายภาพป่าแล้ว วิธีที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูป่าได้ กรณีที่ 1 สำหรับบางพื้นที่ที่มีเมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และไม้เดิมหลงเหลืออยู่ ก็อาจไม่ต้องมีการปลูกใหม่ เพียงแค่ทำแนวกันไฟ และไม่เข้าไปยุ่งในพื้นที่อีก ป่าก็สามารถฟื้นและแพร่พันธุ์ต่อไปได้ ส่วนกรณีที่ 2 เมื่อลงพื้นที่สำรวจกายภาพของป่าแล้วพบว่า ไม้ใหญ่ ไม้ดั้งเดิม หรือไม้หลัก ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากถูกทำลายด้วยยาพ่น สารเคมี และรถแทรกเตอร์ไถ กรณีนี้จำเป็นต้องปลูกใหม่ ไม่ว่าจะโดยวิธีการข้ามถิ่น ข้ามดอย หรือข้ามจังหวัดไปหาไม้ดั้งเดิมมาเพาะก็ต้องทำ

นอกจากนี้ นายสำรวย กล่าวด้วยว่า เมื่อได้ป่าคืนมาแล้ว ก็จะต้องประคับประคองให้ป่าฟื้น โดยสิ่งสำคัญคือ ตัวองค์กรชุมชนที่ต้องเข้มแข็งเพื่อคุ้มครองดูแลป่า และเห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ และปลูกฝังให้ชาวบ้านรู้ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของป่าที่จะต้องทำหน้าที่เฝ้าดูแลและอนุรักษ์ไว้ให้ดีที่สุด

แนวทางแก้ ปัญหาตัวการบุกรุก ทำลายป่า และคืนผืนป่าสู่ธรรมชาติ

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมของเรื่องนี้ อันดับแรก? ปราชญ์ชาวบ้าน เผยว่า หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว มองว่าควรแก้ทั้งระบบเศรษฐกิจและสภาพจิตใจชาวบ้านไปพร้อมกัน ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องช่วยกันหาทางออก ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีอาชีพทางเลือกอื่นๆ รวมถึงช่วยกันประคับประคองและปรับตัวเชิงอาชีพให้พวกเขา ขณะเดียวกันก็ต้องชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและผลักดันเศรษฐกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องบุกรุกและใช้พื้นที่ที่กว้างมาก 

“สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ป่าคืนสู่ธรรมชาติได้ ต้องให้เกษตรกรคืนพื้นที่บุกรุกไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีทางยอม หากมีที่ดินทำกินน้อยลง เพราะที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีทำมาหากินให้สามารถให้ประโยชน์แก่ชีวิตเท่าเดิมหรือมากขึ้น”

ขณะที่ ผอ.สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ต่อให้มีกฎหมายกี่ฉบับมาบังคับใช้ แต่ถ้าคนไทยไม่ร่วมใจและปลูกจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และรักษาป่า การแก้ปัญหาก็คงไม่ได้ผล เพราะแม้จะมีการรณรงค์ให้ร่วมกันปลูกป่า แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมคนได้ ก็สูญเปล่าอยู่ดี เช่น ต่อให้เราทำแนวกันไฟแล้ว แต่ก็ยังมีคนบุกรุกเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าอีก ก็ไม่ได้ช่วยแก้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ชาวบ้าน ให้ช่วยกันอนุรักษ์และไม่ตัดไม้ทำลายป่า"

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวฯ ได้พยายามติดต่อไปยัง นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด...

“ป่าไม้หายไปปีละแสนไร่ ใครรับผิดชอบ…? มาถึงวันนี้ ห้วงเวลาของโลกทุนนิยมเข้าครอบงำสังคมทุกหย่อมหญ้า ฉะนั้น หากว่า ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่ได้แรงสนับสนุน ทั้งเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ และทรัพยากร แน่นอนว่า คงไม่มีทางสกัดการทำลายป่าได้...

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
    
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ